เฝ้าระวังพื้นที่นาปรังลุ่มเจ้าพระยา หวั่นภัยแล้งกระทบ สศก. แนะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ถั่วเขียว-ถั่วลิสง พืชทดแทน ทนแล้ง ดูแลง่าย ตลาดต้องการสูง

ข้าวนาปรัง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) จํานวน 4.54 ล้านไร่

เนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ลขาธิการ สศก

โดยข้อมูลเบื้องต้นจากการรายงานผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ณ 8 มกราคม 2563 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้ว 3.12  ล้านไร่ หรือร้อยละ 68.72 ของแผน โดยในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.25 ล้านไร่  (แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.59 ล้านไร่ ซึ่งไม่อยู่ในแผนการเพาะปลูก และนอกเขตชลประทาน 0.66 ล้านไร่) คิดเป็น 2.14 เท่าของแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ดังนั้น หากเกิดภัยแล้ง อาจจะเกิดปัญหาการพิพาทกันในเรื่องการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกร และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่เกษตรกรบางส่วนต้องซื้อน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วเสียหาย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้น

จากข้อมูล สศก. ปี 2562 พบว่า ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 7.89 ล้านไร่ ซึ่งในปี 2563 เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.25 ล้านไร่  ดังนั้น จะเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ปลูกข้าวนาปรัง ประมาณ 5.64 ล้านไร่ โดย สศก. ได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชตระกูลถั่ว (ถั่วลิสง ถั่วเขียว) เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง และดูแลรักษาง่าย โดย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตได้ปีละประมาณ 4.73 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 8.44 ล้านตัน ผลผลิตจึงขาดอีกประมาณ 3.71 ล้านตัน (คิดเป็นพื้นที่ปลูก 4.74 ล้านไร่) อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) มีเพียง 3.41 ล้านไร่ เท่านั้น ดังนั้น ควรส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (22 จังหวัด) ในพื้นที่ที่เหมาะสม 3.41 ล้านไร่ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีต้นทุนการผลิต 4,370.18 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 7,810 บาท/ตัน เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการส่งเสริมปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม 1,737.24 บาท/ไร่ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 2.67 ล้านตัน (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 782 กิโลกรัม) ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาแน่นอน เนื่องจากยังไม่เกินความต้องการใช้

ถั่วลิสง เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยปัจจุบันผลิตได้ปีละประมาณ 32,810 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 115,000 ตัน ส่งผลให้ผลผลิตถั่วลิสงยังไม่เพียงพอประมาณ 80,000 ตัน ดังนั้น หากจะส่งเสริมปลูกถั่วลิสงทดแทนการปลูกข้าวนาปรังและให้เพียงพอกับความต้องการอีก 80,000 ตัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 0.23 ล้านไร่ (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 352 กิโลกรัม) โดยถั่วลิสง มีต้นทุนการผลิต 5,943 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 56.09 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ถึง 13,800.68 บาท/ไร่ 

ถั่วเขียว นอกจากเป็นพืชช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้ว ยังใช้น้ำน้อยและดูแลรักษาง่าย ปัจจุบันผลิตได้ปีละประมาณ 112,485 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 134,000 ตัน ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเขียวยังไม่เพียงพอประมาณ 20,000 ตัน ดังนั้น หากจะส่งเสริมปลูกถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรังและให้เพียงพอกับความต้องการอีก 20,000 ตัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 0.14 ล้านไร่ (คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ 140 กิโลกรัม) โดยถั่วเขียว มีต้นทุนการผลิต 2,397 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 21.71 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 642.40 บาท/ไร่ 

ข้อมูลการปลูกพืชทางเลือก ทดแทนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563 (5.64 ล้านไร่) ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด

Advertisement
รายการ พืชทางเลือก รวม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ถั่วเขียว  
1. ผลผลิตส่วนขาด (ล้านตัน) 3.71 0.08 0.02
2. ผลผลิตต่อไร่ (กก.) 782 352 140
3. คิดเป็นพื้นที่ปลูก (ล้านไร่) 3.41 (พื้นที่เหมาะสม) 0.23 0.14 3.78
4. ต้นทุนการผลิตต่อไร่ (บาท/ไร่) 4,370.18 5,943 2,397
5. ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ (บาท) 1,737.24 13,800.68 642.40
6. ผลตอบแทนสุทธิในภาพรวม (ล้านบาท) 5,950.39 3,120.31 98.62