“ตะบันน้ำ” ตัวช่วยการทำเกษตรบนที่สูง ลดค่าใช้จ่าย ติดตั้งง่าย ต้นทุนต่ำ

เกษตรกรบนที่สูงในหลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำไม่พอใช้ มีข้อจำกัดของเงินทุน ทำให้ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ การทำเกษตรกรรมบนที่สูง จำเป็นต้องมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นต้นทุนก็มีมากขึ้นกว่าการทำเกษตรบนที่ราบ เครื่องสูบ 1 เครื่อง ต้องใช้น้ำมัน ใช้ไฟฟ้า ต้นทุนเหล่านี้จึงกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เกษตรกรผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ไม่เท่าที่ควร จึงมีเกษตรกรหัวคิดก้าวไกล คิดค้นเครื่องตะบันน้ำ ต้นทุนต่ำ ไว้ใช้ทำเกษตรบนที่สูง

คุณวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกพืชไร่ อยู่บ้านเลขที่ 87 หมูที่ 2 ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า ชาวบ้านในตำบลวังกวาง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชไร่ เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญคือ พื้นที่อยู่สูง ปลูกพืชที่ใช้น้ำมากไม่ได้ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ จึงต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมาใช้เครื่องปั๊มน้ำ น้ำมันดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายพืชก็ไม่สูงมาก จึงไม่คุ้มทุน

“ผมเป็นเกษตรกรมานานกว่า 20 ปี ต้องประสบปัญหาต้นทุนการทำเกษตรที่สูง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เมื่อก่อนจะปลูกได้แต่เฉพาะพืชไร่ คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด อาศัยแต่น้ำฝนเป็นหลัก เพราะไม่มีทุนที่จะนำน้ำขึ้นมาใช้ ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลัง หากปลูกซ้ำพื้นที่เดิมมากๆ ผลผลิตก็จะไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ผลผลิตลดน้อยลง เพราะดินเสื่อมคุณภาพ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ค่อนข้างมาก ผมจึงเริ่มหันมาหาวิธีที่จะปลูกพืชอย่างอื่นเสริม โดยพืชที่เลือกปลูกเป็นมะขาม และพืชผักสวนครัว แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเพิ่มก็ต้องยอม เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แรกๆ ใช้เครื่องปั๊มน้ำน้ำมันดีเซลต้นทุนค่อนข้างสูง เสียค่าน้ำมันอาทิตย์ละ 1,000-2,000 บาท คิดเป็นเดือน เฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท รายได้ก็ยังไม่คุ้มกับรายจ่าย”

เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ จึงหันมาหาเพื่อนที่พอจะมีความรู้ เพื่อนจึงแนะนำให้รู้จักกับสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ เมื่อเข้าไปผมได้เล่าถึงปัญหาที่เจอมา ทางสมาคมจึงได้เข้ามาสนับสนุน เครื่องตะบันน้ำ ของโครงการพลิกไทยให้มาทดลองใช้

เมื่อเริ่มนำเครื่องตะบันน้ำมาทดลองใช้ ปรากฏว่าใช้ได้ผลดี ประหยัด ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้น้ำมัน หากนับตั้งแต่เริ่มการใช้งานเครื่องตะบันน้ำจนถึงปัจจุบันนี้ ทดลองใช้มาเป็นระยะเวลาปีกว่า ในช่วงที่ใช้ผมได้จดบันทึกรายรับ รายจ่าย ไว้ ดังนี้

พื้นที่ทำการเกษตรของผม มีทั้งหมด 17 ไร่ แบ่งปลูกข้าวโพด 7 ไร่ มันสำปะหลัง 3 ไร่ มะขามหวาน 5 ไร่ และพืชผักสวนครัว 2 ไร่ ใช้เครื่องตะบันน้ำเพียงเครื่องเดียว สามารถลดค่าน้ำมันได้ทั้งหมด ในกรณีที่มีใบไม้ไปอุดตันที่เครื่อง หรือแหล่งน้ำมีน้ำน้อย อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากเดือนไหนไม่มีปัญหา ก็จะมีเงินเหลือเก็บเต็มๆ

โดยเครื่องตะบันน้ำ 1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร แต่ต้องขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่ด้วย อย่างที่สวนผมใช้น้ำวันละ 2,000 ลิตร เทียบต้นทุนคิดต่อรอบ ประหยัดค่าน้ำมัน รอบละ 3,000-4,000 บาท 2 อาทิตย์นับเป็น 1 รอบ เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8,000 บาท ต่อเดือน แต่เมื่อมีเครื่องตะบันน้ำ สามารถประหยัดค่าน้ำมันได้เกือบทั้งหมด

พูดได้ว่า เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผมและชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินเหลือเก็บ และสามารถทำสวนปลูกพืชผักสวนครัวได้เพิ่ม จากเคยทำไร่อย่างเดียว ตอนนี้มีรายได้ทุกวันจากการขายผักสวนครัว พี่วิไชกล่าว

การติดตั้ง และระบบการทำงานไม่ยาก ต้นทุนต่ำ

คุณอุดม อุทะเสน หนึ่งในทีมช่างเครื่องตะบันน้ำ ให้ข้อมูลว่า เครื่องตะบันน้ำที่ติดตั้ง ใช้กลไกแบบง่ายๆ คือการวางท่อเอาน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง การติดตั้งมี ท่อพีวีซี ต่อสูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร วางท่อลงจากจุดน้ำเข้า ประมาณ 10 เมตร เข้าตัวเครื่อง

ระบบเครื่องทำงานโดยอาศัยแรงน้ำจากข้างบน ไหลเข้าในตัวเครื่องตะบันน้ำข้างล่าง

เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนประกอบคือ เช็ควาล์ว 2 ตัว ถังรับส่งน้ำ 2 ใบ

โดยเช็ควาล์วตัวแรกที่คอยรับน้ำจากข้างบนไหลลงข้างล่าง เกิดแรงที่หนักขึ้น จะดันลิ้นวาล์วตัวแรกให้ปิด

เมื่อวาล์วตัวแรกปิดจะเกิดแรงดันน้ำในถังตัวแรก พอเกิดแรงดัน เช็ควาล์วตัวที่สอง จะเปิดให้น้ำไหลผ่านเข้าไปถังที่สอง ถังที่สองจะเป็นถังที่มีอากาศอยู่ครึ่งหนึ่ง อากาศที่เข้าไปทำให้อากาศยุบตัว น้ำไหลผ่านเข้าไปจึงเกิดแรงดันน้ำสู่ที่สูง โดยจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

พื้นที่ติดตั้งที่เหมาะสม

การจะติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ อย่างแรกต้องดูพื้นที่ ว่าเหมาะสมหรือไม่ พื้นที่เหมาะสมต้องเป็นแนวลาดชันตามลำน้ำ ท่อรับน้ำด้านบนต้องอยู่สูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เพื่อให้น้ำไหลไป ทำให้กลไกของตะบันน้ำทำงาน เกิดการปิด-เปิด ทำให้เกิดแรงกลขึ้นมา ได้แรงน้ำไปสู่ที่สูง

ปริมาณการสูบน้ำ โดยเฉลี่ยจากการทดสอบ 1 นาที สูบน้ำได้ ประมาณ 1.50 ลิตร ความต่างที่ 1 เมตร แล้วส่งขึ้นพื้นที่ลาดชัน ประมาณ 200 เมตร ถ้าเฉลี่ยเป็นวัน เครื่องตะบันน้ำตัวนี้สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร โดยมีต้นทุนการผลิตเพียงเครื่องละ 5,000 บาท