วิธีเตรียมดินแบบธรรมชาติ สูงสุดคืนสู่สามัญ

ผมรู้จัก ปริ๊นซ์ – คุณนคร ลิมปคุปตถาวร มานานพอสมควร แวดวงคนรักสุขภาพคงรู้จักเขาในนาม “เจ้าชายผัก” แห่งโครงการสวนผักคนเมือง ผู้ริเริ่มชักชวนผู้คนปลูกผักกินเองอย่างง่ายๆ ทั้งพยายามแผ่ขยายเครือข่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบอินทรีย์อย่างเป็นระบบในวงกว้าง แถมปริ๊นซ์ยังมีพื้นที่ทำนาปลูกพืชสวนอยู่ที่เพชรบูรณ์ ที่ซึ่งเขาได้ทดลองวิธีการปลูกพืชล้ำๆ หลายวิธี ทั้งเกษตรอินทรีย์ และไบโอไดนามิคส์

ล่าสุด วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ตำบลไทรม้า เมืองนนทบุรี เขามาสาธิตอบรมวิธีการเตรียมดินแบบใหม่ ที่เขาเพิ่งค้นพบโดยได้รับคำชี้แนะจากกูรูด้านการเกษตรชาวต่างประเทศ การเตรียมดินที่เรียกได้ว่าดูสุดแสนจะสามัญธรรมดา แต่ทั้งข้าวและพืชผักที่เขาลงแรงปลูก ตลอดจนเคยแบ่งปันให้ผมได้ลองชิมหลายครั้ง ทำให้ผมแทบไม่สงสัยถึงประสิทธิผลของวิธีที่เขาเล่าให้ผู้เข้าร่วมอบรมฟังในวันนั้นแม้แต่น้อย

เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะมันเป็นวิธีที่ง่ายเหลือเชื่อจริงๆ แถมแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยอีกด้วย เรียกว่านึกจะทำก็แทบจะทำได้ทันทีเลยทีเดียว

ปริ๊นซ์ “เจ้าชายผัก” แห่งโครงการสวนผักคนเมือง

คำถามเกริ่นเข้าสู่ประเด็นในวันนั้นก็คือ เป้าหมายของการทำเกษตรคืออะไร ตอบง่ายๆ ก็คือเพื่อกินเอง และจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงชีพ ปริ๊นซ์ เล่าเปรียบเทียบให้ฟังว่า เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนามักตั้งเป้าว่า ที่นา 1 ไร่ ต้องได้ผลผลิตข้าว 1 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่แม้ทำได้จริง แต่กลับไม่มีเงินเก็บเลย ต่างจากพวกที่ลองหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ลดค่าใช้จ่ายการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และจำกัดเวลาทำนาปีละ 2 ครั้ง แม้ผลผลิตน้อยลง แต่กลับมีเงินเหลือ ไม่มีหนี้สิน ดังนั้น มันคงจะมีเงื่อนงำบางอย่างที่บีบบังคับให้เกษตรกรต้องปฏิบัติซ้ำๆ กันเรื่อยมา โดยที่จริงๆ แล้วอาจมีวิธีอื่นที่ได้ผลกว่า

ปริ๊นซ์ บอกว่า ตัวเขาเอง เมื่อก่อนเวลาปลูกผัก ก็คิดถึงเรื่องขนาด ความใหญ่โต โดยเฉพาะผักคะน้า กวางตุ้ง แต่พวกหนอนก็ลงง่ายมากๆ และเมื่อคิดถึงการใช้ฟางคลุมดิน ปัญหาหอยทากก็ตามมา แถมการคลุมฟางนั้น เมื่อจะทำแปลงใหม่ก็ต้องรื้อฟาง รอดินแห้ง มีหลายขั้นตอนซับซ้อนยุ่งยาก

“ทีนี้มีคนมาทัก บอกว่า ไม่ต้องคลุมฟางก็ได้นะ ลองดูสิ เราตอนแรกก็ไม่เชื่อนะ แต่พอทดลองดู ปรากฏว่าผักของเรากลับแข็งแรง ก้านใบตั้ง ดินก็ระบายน้ำดีขึ้น ทีนี้พอเขามาเห็นเราทำปุ๋ยใช้เอง เขาทักอีก ว่าไม่ต้องทำหรอกปุ๋ยหมักน่ะ เสียเวลา” ปริ๊นซ์ เล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนพฤติกรรมแบบถอนรากถอนโคน จากคำของ “ซือแป๋” ท่านนั้น

“ทีนี้ผมก็เลยลองเปลี่ยนวิธี คือปล่อยให้หญ้าขึ้นเต็มพื้นที่ไปเลยครับ พอจะทำดิน เราก็ตัดหญ้า ถอนวัชพืชมาแยะๆ สับๆ หั่นๆ วางโปะลงไปบนผิวดินนั้นแหละ ถ้ามีขี้วัวสดด้วยยิ่งดีเลย ขี้ของสัตว์กินพืชใช้ได้หมด ก็ผสมลงไปด้วย แล้วเอาคราดมาซุยๆ ดิน แทงดินให้พรุน เป็นการเพิ่มช่องว่างให้อากาศลงไปในดินได้ดีขึ้น แค่ซุยนะครับ ไม่ต้องไปพลิกดินข้างล่างขึ้นมา ดินพวกนั้นน่ะทั้งแข็งทั้งแน่น ยิ่งเปียกจะยิ่งแน่นมาก เราทำแค่นี้แหละ แล้วรดน้ำให้ชุ่มทั่วถึง รดทุกวันทั้งเช้าเย็น ถ้าวันไหนอากาศชื้น เราอาจรดแต่ช่วงเย็นก็พอ ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มกับดินตรงนี้อีกเลยนะครับ รดน้ำอย่างเดียวพอ”

ด้วยวิธีที่ธรรมดาสามัญจนถึงขั้นแปลกประหลาดนี้ ปริ๊นซ์ บอกว่า ภายใน 1 เดือน ดินจะเข้าสู่กระบวนการ “บ่ม” จุลินทรีย์ในดินจะกิน ถ่าย ย่อยสลายเศษวัชพืชให้กลายเป็นฮิวมัสที่มีลักษณะเหมือนเจลสีดำ มันจะเคลือบดินให้มีความชื้น เย็น แต่ไม่เหนียวติดมือ และมีลักษณะโปร่ง แม้ในช่วงฤดูฝน

มีผู้ถามว่า ไม่ต้องทำอะไรเลยจริงๆ หรือ แม้แต่พรวนดินก็ไม่ต้องเลยหรือ คำตอบก็คือไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ในระหว่าง 1 เดือน ที่จุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายอยู่นั้น มันจะมีทั้งความร้อนและปฏิกิริยาอื่นๆ ในดิน ที่ทำให้ทั้งหญ้าและวัชพืชไม่สามารถงอกได้อยู่แล้ว

“เราต้องรอให้ปฏิกิริยาการหมักดินดำเนินไปจนจบสิ้นกระบวนการ ถึงจะใช้ปลูกพืชได้ คือใช้มือเปล่าจับสัมผัสดูครับ ถ้ามีลักษณะร่วน ชื้น เย็น ไม่ติดมืออย่างที่ว่า ก็เรียกว่าเป็นดินที่สมบูรณ์ ใช้ได้แล้ว”

คำแนะนำของปริ๊นซ์ต่อเกษตรกรที่เปิดพื้นที่กว้าง คือปลูกปอเทือง และปล่อยให้มีวัชพืชอื่นในพื้นที่มากๆ ทางที่ดีควรมีมากกว่า 30 ชนิดขึ้นไป จากนั้นไถกลบ ลงผาลตื้นๆ คือเพียงกรีดดินและลากผ่านเท่านั้น

…..

ข้อดีของการเตรียมดินแบบนี้ก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกสามารถจัดการเวลา วางแผนงานอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการเพาะกล้าไม้ ปริ๊นซ์ บอกว่า วิธีปลูกพืชให้มีความแข็งแรง ก็คือให้พืชต้องใช้ความพยายามเองในการอยู่รอดตั้งแต่ยังเล็กๆ

“เพาะกล้าไม้ทำแบบง่ายๆ โดยทำกระบะไม้หรือโลหะ ผสมวัสดุที่มีดินก้ามปู มูลไส้เดือน ปุ๋ยหมัก ขุยมะพร้าว ทั้งหมดนี้เอามาร่อนตะแกรง เติมน้ำ แล้วคนจนกระทั่งเนียนดี แซะแบ่งเป็นก้อนๆ สี่เหลี่ยมหนาแบบขนม เวลาปลูกก็กดหลุม หยอดเมล็ด กลบปิด จากที่เคยทำมา แค่ 2 สัปดาห์ รากพืชจะแข็งแรงดี มีรากขนอ่อนฝอยจำนวนมาก ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซึมกรดอะมิโนหลายชนิดในดินไปใช้ได้มากกว่า ถ้าหากพืชได้ใช้พลังในการต่อสู้เพื่อเติบโตในช่วงแรกๆ มันจะแข็งแรง เมื่อโตขึ้นมา แล้วเอาลงปลูกในดินที่เราเตรียมไว้อย่างดีแล้ว ต่อไปก็แค่รดน้ำ พรวนดินเท่านั้น”

ปริ๊นซ์ บอกว่า ความแตกต่างจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชที่ปลูกแบบปกติ เช่น ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักดูแลสภาพ เมื่ออากาศเปลี่ยน มันจะเกิดโรคและโทรมทันที เนื่องจากไม่แข็งแรง ถ้าหากปลูกในดินที่เตรียมมาดี ต้นแข็งแรง ก็เพียงให้น้ำอย่างเหมาะสม พรวนดินเพียงแต่ซุยตื้นๆ พอให้มีช่องว่างเท่านั้น

“เงื่อนไขอื่นๆ ที่จะทำให้ดินของเราอุดมสมบูรณ์ตลอดไป นอกจากที่เราจะไถกลบ รดน้ำ บ่มดินแบบนี้เมื่อพบว่ามันเริ่มไม่ร่วนซุยเท่าช่วงแรกๆ ก็คือเราควรปลูกพืชไม่ให้ซ้ำชนิดกันเกินไป หมุนเวียนปลูกพืชลงหัวบ้าง พืชใบ พืชดอกบ้าง โดยเฉพาะพวกถั่ว ที่จะมีธาตุอาหารในอากาศสะสมอยู่ที่ปมปลายราก ดินที่ดีคือมีอากาศหมุนเวียนจากการซุยพรวน มีรากพืช และไส้เดือนอยู่ได้”

“พืชมันไม่ได้กินแร่ธาตุละลายน้ำนะครับ ดังนั้นก็ไม่ต้องสงสัยว่า ผักไฮโดรโปนิกส์จะเป็นผักที่อ่อนแอที่สุด การที่ต้องกินแต่น้ำมากๆ นอกจากทำให้ผักอ่อนแอแล้ว มันยังไม่มีรสชาติเลยด้วย ผมคิดว่าบางทีเราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องอาหารของพืช รวมทั้งการดูแลในขั้นตอนต่างๆ ระหว่างที่มันเติบโตขึ้นกันใหม่ทั้งหมด”

…..

ผมฟังแล้วก็ชักอยากไปทำบ้าง เพราะมันดูง่ายดีจริงๆ ทำใส่กระบะไม้ หรือกระถางใหญ่ๆ สักใบก็คงเข้าที แต่แล้วผมเกิดสงสัยขึ้นมา เลยถามปริ๊นซ์ ว่า นอกจากวิธีปลูกพืช – เตรียมดินอันแสนธรรมดาสามัญแบบนี้ ยังมีแบบอื่นที่ “ล้ำๆ” ทำนองเดียวกันนี้ไหม

“มีครับ อีกแบบหนึ่งนี่ยิ่งแล้วเลย คือเขาใช้วิธีตัดต้นไม้ ถางวัชพืชจนเตียนโล่ง แล้วขุดหลุมหรือหว่านปลูกลงไปดื้อๆ ทีเดียว ปล่อยให้พืชเติบโตแข่งกับหญ้าและวัชพืชเอาเอง อาศัยหลักการคล้ายๆ กัน คือสมมุติปลูกข้าว ถ้าข้าวของเราโตชนะหญ้าได้ มันจะแข็งแรงมาก เคยมีการทดลองปลูก 3 แปลง คือแบบที่ว่านี้แปลงหนึ่ง ส่วนอีก 2 แปลงก็มีการคลุมดิน ถอนวัชพืช ฯลฯ คล้ายๆ กัน ปรากฏว่า 2 แปลงที่ว่านั้นได้ผลผลิตพอๆ กัน แต่แปลงที่ปล่อยให้ข้าวสู้กับหญ้า จะได้เมล็ดข้าวเต็มสมบูรณ์ดีทุกเมล็ดจริงๆ ซึ่งมันก็แปลกดี”

ในโลกของการทดลองใหม่ๆ เกษตรกรที่ไม่หยุดนิ่งคงค้นพบวิถี แนวทางที่จะบรรลุสัมฤทธิ์ผลของการปลูกพืชที่สอดคล้องกับสภาวะปัญหาทางสังคมของพื้นที่ วัฒนธรรม ตลอดจนระบบนิเวศ แบบที่เบียดเบียนสภาพแวดล้อมในปัจจุบันน้อยที่สุด เนื่องจากเราต่างก็คงตระหนักถึงปัญหาที่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่สัมพันธ์กับมลภาวะด้านสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้ อย่างเรื่องการแบนสารพิษเคมีเกษตร ที่ยังคงมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างระบบ และมาตรการที่ควรจะเป็นในอนาคตข้างหน้า

ทางเลือกในวันนี้ คงมีมากที่สุดกว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ อยู่ที่ว่าใครจะเลือกอะไร แบบไหน เพื่ออะไร เท่านั้นเองล่ะครับ