มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เผยผลวิจัยใช้ “หญ้าเนเปียร์” เลี้ยงปลาสลิดได้ดี ช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร

“ปลาสลิดบางบ่อ” นับเป็นสัตว์น้ำจืดที่สำคัญของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ปลาสลิดก็เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย รองจากปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียน (กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2558)

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้พัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับปลาสลิด เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาสลิด ให้มีความเข้มแข็ง สามารถเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่เศรษฐกิจปลาสลิดบางบ่อ ทั้งด้านต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาจารย์เกษม พลายแก้ว และคณะ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาสลิดจำนวน 618 ราย ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ อำเภอเมือง และอำเภอบางพลี คิดเป็นเนื้อที่เลี้ยงรวม 15,215.50 ไร่ มีกำลังการผลิตต่อปีทั้งหมด 3,451,677 กิโลกรัม

พื้นที่เลี้ยงปลาสลิดตามธรรมชาติ

โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลคลองด่าน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดจำนวน 190 ราย คิดเป็นเนื้อที่การเลี้ยงทั้งสิ้น 4,643 ไร่ มีกำลังการผลิตต่อปี 782,180 กิโลกรัม แต่ในปัจจุบันความเจริญทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร ส่งผลให้เกิดการใช้พื้นที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลดจำนวนลงของพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาสลิด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตำบลคลองด่าน ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลาสลิดที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดกำลังประสบปัญหาเรื่องพื้นที่การเลี้ยงปลาสลิดลดลง (อ้างอิงข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ)

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่ตำบลคลองด่านเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเลี้ยงปลาสลิด พบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดยังคงมีความต้องการเลี้ยงปลาสลิดแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยการฟันหญ้าในพื้นที่ตำบลคลองด่าน เพื่อให้ปลาสลิดอยู่คู่กับพื้นที่คลองด่านและได้ปลาสลิดที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

ปลาสลิด

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดต้องการเลี้ยงปลาสลิดแบบลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเลี้ยงปลาในช่วงระยะ 2 เดือนสุดท้ายของการเลี้ยง ที่ผ่านมามีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดจำนวนหนึ่งทดลองนำหญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง 1 ซึ่งเป็นหญ้าที่มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 15% มาใช้เลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากปลาสลิดเป็นปลากินพืช หากนำหญ้าเนเปียร์มาใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสลิดเพิ่มเติมน่าจะช่วยให้ปลาสลิดสามารถเติบโตได้ดีขึ้น

หญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง 1

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจึงได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การเปรียบเทียบผลผลิตปลาสลิดที่เลี้ยงด้วย 3 วิธี คือ 1. เลี้ยงแบบดั้งเดิม คือ โยนหญ้าแพรกประมาณ 100 กิโลกรัมเป็นกองๆ จำนวน 1 ครั้ง ในแต่ละเดือนตลอดการเลี้ยง 2. เลี้ยงแบบผสมผสาน โยนหญ้าแพรก 100 กิโลกรัม เป็นกองๆ จำนวน 1 ครั้งในแต่ละเดือนในบ่อตลอดการเลี้ยง เมื่อปลาสลิดอายุ 6 เดือนจะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปจำนวน 15 กิโลกรัม (3 วัน ต่อครั้ง) เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนที่ 7-8) 3. ใช้วิธีเลี้ยงปลาแบบดั้งเดิมเสริมด้วยหญ้าเนเปียร์ โดยโยนหญ้าแพรกประมาณ 40 กิโลกรัม เป็นกองๆ จำนวน 1 ครั้งในแต่ละเดือนลงในบ่อ และโยนหญ้าเนเปียร์จำนวน 60 กิโลกรัมเป็นกองๆ จำนวน 1 ครั้งในแต่ละเดือนตลอดการเลี้ยง

Advertisement

ผลการวิจัยพบว่า  วิธีเลี้ยงปลาสลิดแบบดั้งเดิมเสริมหญ้าเนเปียร์สามารถลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงได้เนื่องจากไม่ต้องซื้ออาหารเม็ด แถมปลาสลิดมีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกันกับปลาสลิดที่เลี้ยงด้วยวิธีการเลี้ยงแบบผสมผสาน (หญ้าแพรก+อาหารเม็ดสำเร็จรูป) จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดหันมาใช้วิธีการเลี้ยงปลาสลิดแบบดั้งเดิมเสริมด้วยหญ้าเนเปียร์เพื่อประหยัดต้นทุนค่าอาหาร และมีผลกำไรต่อรอบการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น

ปลาสลิดสดจากบ่อ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติยังได้วิจัยเรื่อง “การบำบัดตะกั่วและแคดเมียมในน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาสลิดบางบ่อโดยใช้บึงประดิษฐ์แบบน้ำไหลท่วมผิวชั้นกรองอย่างอิสระ” พบว่าระบบบึงประดิษฐ์ที่เหมาะสมคือ การปรับปรุงบ่อพักน้ำของเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นบ่อบึงประดิษฐ์แบบน้ำไหลท่วมผิวชั้นกรองอย่างอิสระ โดยทำการปลูกพืชผสมระหว่างธูปฤาษี บัว และหญ้าแห้ว ด้วยความหนาแน่น 16 ต้น ต่อตารางเมตร หรือปกคลุมผิวน้ำไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (เทอดพงศ์ ศรีสุขพันธุ์ และคณะ, 2561)

Advertisement

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคปลาสลิด อยากเชิญชวนให้หันมาบริโภคปลาสลิดแดดเดียว และปลาสลิดหอมของอำเภอบางบ่อ เพราะเป็นสินค้าที่มีรสชาติอร่อย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศแล้ว ปลาสลิดบางบ่อยังมีไขมันชนิดโอเมก้า 3 มากกว่าปลาจากแหล่งอื่น เรียกว่าเป็นอาหารดีมีประโยชน์สำหรับผู้รักสุขภาพทุกคน

ปลาสลิดแดดเดียว ของอำเภอบางบ่อ ถ้าแดดดีใช้เวลาเพียง 2 3 ชั่วโมงเท่านั้น

 

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ.2563