ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
“ละมุดท่าทอง” นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวบ้านตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย มาตั้งแต่สมัยอดีต ดั่งคำขวัญประจำตำบลท่าทอง ที่ว่า “ถิ่นละมุดสุดหวาน” ละมุดท่าทอง มีจุดเด่นในเรื่อง มีรสชาติหวานอร่อย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค หากใครต้องการชิมละมุดรสอร่อยที่สุด ต้องรอผลผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะละมุดพันธุ์มะกอกรุ่นนี้จะมีรสหวานจัด หอม ผลสีแดง เนื้อกรอบ ถูกใจผู้บริโภค
การปลูกดูแล
ในอดีต ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่าทองก็ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ต่อมามีเกษตรกรบางรายหันมาปลูกละมุดแล้วได้ผลผลิตที่ดี ต่อมา วัดหนองโว้ง ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก ได้จัดประกวดผลผลิตละมุดเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวหันมาปลูกละมุดกันมากขึ้น โดยเฉพาะละมุดพันธุ์มะกอก ที่มีลักษณะเด่นคือ ผลรูปร่างกลมใหญ่ ผลสุกมีสีน้ำตาลออกแดง รสหวาน เนื้อผลแข็งและกรอบ แต่ผลผลิตไม่ค่อยดกสักเท่าไร
ละมุดสามารถปลูกได้ทั่วไป การปลูกละมุดนั้นไม่ยุ่งยากเลย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เอากิ่งตอนปลูกในระยะห่างประมาณ 4 วา ปลูกได้เฉลี่ยไร่ละ 40 ต้น คอยดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ ต้นละมุดจะออกดอกครั้งแรกเมื่อต้นอายุ 3 ปี หลังจากนั้น ก็เก็บผลผลิตออกขายได้เฉลี่ยปีละ 6 เดือน
ละมุดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงจนถึง 20 เมตร เส้นรอบวงของลำต้น 105 เมตร กิ่งก้านเหนียว แข็งแรง ใบรูปหอก สีเขียว ขอบใบพลิ้ว หากดูแลตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ต้นละมุดติดดอกออกผลตลอดทั้งปี ราคาขายส่งหน้าสวน โดยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-12 บาท แต่บางปีช่วงที่มีต้นละมุดมีผลผลิตออกสู่ตลาดไปชนกับผลไม้ชนิดอื่น ก็ทำให้ขายละมุดไม่ค่อยได้ราคา ดังนั้น ทางออกของชาวสวนละมุดหลายรายในวันนี้คือ ปลูกกล้วยหอม ไม้ผลอื่นๆ และนำเศษไม้ในสวนมาเผาถ่านและน้ำส้มควันไม้ ขายเพื่อเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง
วิจัยปรับปรุงพันธุ์ละมุดสุโขทัย
ละมุดที่ปลูกจังหวัดสุโขทัยได้รับการยกย่องว่า มีรสชาติอร่อยเลิศ ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัยนั้น พบว่า อำเภอสวรคโลก เป็นแหล่งที่ปลูกละมุดมากที่สุด รองลงมาคือ อำเภอศรีสำโรง ละมุดที่ปลูกในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก มีคุณภาพดี ได้การันตี ให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอสวรรคโลกกันเลยทีเดียว เดิมทีทั้งจังหวัดสุโขทัยเคยมีพื้นที่ปลูกละมุดมากถึง 6,536 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 1,357 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตรวม 7,840 ตัน คิดเป็นมูลค่า 51.98 ล้านบาท แต่พื้นที่ปลูกละมุดของจังหวัดสุโขทัยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก
เกษตรกรจังหวัดสุโขทัยนิยมปลูกละมุดหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มะกอก พันธุ์ตาขวัญ และพันธุ์ไข่ห่าน เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายผลผลิตให้กับพ่อค้าท้องถิ่น โดยจะมีพ่อค้าไปรับซื้อที่สวนของเกษตรกร จากนั้นจะรวบรวมผลผลิตไปขายในตลาดต่างจังหวัด และมีเกษตรกรบางส่วนที่นำสินค้าไปจำหน่ายเองโดยตรง (อ้างอิง แนวทางการวิจัยและพัฒนาพืช จังหวัดสุโขทัย ปี 2556-2558 โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร)
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัยประเมินว่า ละมุดและกล้วยตานี เป็นพืชที่มีศักยภาพสำหรับปลูกในจังหวัดสุโขทัย เพราะทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลา 1-2 เดือนที่เกิดขึ้นทุกปีได้ จึงเหมาะที่จะพัฒนาเป็นสินค้าประจำถิ่น เพื่อยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็พัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ละมุดให้มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดและมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) โดยมุ่งพัฒนาให้ละมุดมีผลผลิตสูง ขนาดผลใหญ่และดก หวานกรอบเมื่อสุกไม่เละ ผิวเปลือกผลสีน้ำตาลแดงเข้มโดยไม่ต้องย้อมสี ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสวรรคโลก โทร. (055) 643-031