วิสาหกิจชุมชนฯ บ้านเหม้า ร้อยเอ็ด แปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่า ทำ “ชา” ชงดื่ม

คุณกอบแก้ว ระวิเรือง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นำใบข้าว-ข้าวหอมมะลิ มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้ชื่อแบรนด์ “ไทยสุวรรณ” ปัจจุบัน มีสมาชิก 83 ราย มีพื้นที่เพาะปลูก 1,200 ไร่ ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ในการประกวดผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากข้าวด้วยนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและกระทรวงเกษตรฯ ในงานวันเกษตรภาคอีสาน ปี 2562 ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2559 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิ (นวัตกรรมใหม่) ในงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 17 ที่ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีหลากหลาย อาทิ

  1. เครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105
  2. เครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105 ผสมสมุนไพร แบ่งเป็นเครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105 และดอกพะยอมอบแห้ง, เครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105 และดอกดาวเรืองอบแห้ง รวมทั้งเครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105 และมะนาวอบแห้ง
  3. ครีมผงข้าวหอมมะลิธรรมชาติ ใช้เป็นครีมชงกับเครื่องดื่มแทนครีมเทียมที่คนรักสุขภาพต้องการหลีกเลี่ยง
  4. เครื่องดื่มจมูกข้าวข้าวหอมมะลิ

คุณกอบแก้ว เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อ ปี 2555 แรงบันดาลใจที่นำใบข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกแบบอินทรีย์มาผลิตเป็นเครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ 105 มาจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มักต้มใบข้าวดื่มในตอนเช้า ข้าวนี้ได้รับเครื่องหมาย GI เพราะปลูกอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จึงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบวกกับงานวิจัย โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาแปรรูปนี้เป็นการเพาะพิเศษในแปลงควบคุม และใช้ระบบดูแลแบบวิถีอินทรีย์ทั้งหมด ได้รับเครื่องหมาย GAP

ทั้งนี้ จะเก็บใบข้าวหอมมะลิตั้งแต่เช้า ประมาณตี 4 ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น เพื่อไม่ให้ใบข้าวหอมมะลิโดนแสงแดด และเป็นช่วงที่ใบข้าวยังไม่ได้คายน้ำ จะทำให้ใบข้าวคงคุณค่าของสารอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อรักษาระบบคลอโรฟิลล์ พร้อมทั้งช่วยรักษาสีและกลิ่นของชาใบข้าวหอมมะลิได้ดีที่สุด จากนั้นนำมาคั่วให้หอมก่อนบรรจุ ใบข้าวหอมมะลิมีประโยชน์มากต่อร่างกาย เช่น แก้การอ่อนเพลีย และช่วยระบบภูมิต้านทานต่างๆ

การเลือกใบข้าวมาทำเป็นชา คุณกอบแก้ว อธิบายว่า ใช้ใบข้าวอายุ 10-15 วัน โดยในการเพาะปลูกครั้งหนึ่ง จะเก็บได้ 3 ครั้ง จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการกรรมวิธีตามวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการผลิต พอเสร็จจะรีบบรรจุภายใน 1 วัน เพื่อให้ได้สีและกลิ่นเป็นธรรมชาติ สินค้าของกลุ่มนั้นทาง บริษัท กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ขายดี คือ ชาใบข้าวหอมมะลิบรรจุซอง โดยจำหน่าย กล่องละ 450 บาท มีทั้งหมด 30 ซอง ซึ่งมีวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง

สำหรับกำลังการผลิต ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า บอกว่า ต่อเดือนได้เป็นแสนกล่อง โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นใบข้าว วันละ 100 กิโลกรัม เพราะกลุ่มมีเครือข่ายการเพาะปลูก คือ จะทำแปลงมาเฉพาะ และมีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองจาก อย.

ซึ่งนอกจากจะมีชาใบข้าวหอมมะลิแบบเป็นชาชงร้อน และเป็นเครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ UHT แล้ว ทางกลุ่มก็ยังนำใบข้าวมาแปรรูปเพื่อใช้ผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เหมือนชาเขียว โดยทำรูปแบบของสารสกัด พอละลายน้ำแล้วสามารถดื่มได้เลย หรือนำไปผสมกับขนมหรือเครื่องดื่มประเภทต่างๆ นับเป็นวิสาหกิจชุมชนอีกแห่งที่นำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาบวกกับงานวิจัย ทำให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าเพิ่ม