กยท. ย้ำ เดินหน้าโครงการตามนโยบายรัฐ มุ่งประโยชน์แก่ชาวสวนยางไทย

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยืนยัน มุ่งดำเนินงานโครงการตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวสวนยางเป็นสำคัญ

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง       ผู้ประกอบกิจการยางพารา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางให้สูงขึ้น สามารถดูดซับยางออกจากระบบได้ ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ได้ดำเนินการจ่ายเงินอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2562 – เดือนมกราคม 2563 โดย กยท.ได้ตรวจรับรองสิทธิ์ให้เจ้าของสวน และ   ผู้กรีดยาง ซึ่งประกอบด้วยบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เหลือเฉพาะเกษตรกรที่ยังมีที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น เลขบัญชีไม่ตรง บัญชีไม่มี บัญชีถูกปิดไปแล้ว หรือเกษตรกรบางคนไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด เช่น สวนยางยังไม่ได้กรีด สวนยางโค่นไปแล้ว สวนยางขายไปแล้ว เป็นต้น สำหรับการจ่ายเงินให้เกษตรกรเจ้าของสวน และคนกรีดในโครงการดังกล่าว จนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว กว่า 6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กยท. ยังดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 3 โครงการ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การผลิต ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ จากเดิมสนับสนุนดอกเบี้ยในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท รัฐบาลได้ขยายวงเงินสินเชื่อ (เพิ่มเติม) 10,000 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึง เดือนธันวาคม 2564 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการรวบรวมยางจากเกษตรกร ซึ่งขยายเวลาเพิ่มอีก 4 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567) แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2567

นายขจรจักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมสถานการณ์ราคายางตั้งแต่ต้นปีปรับสูงขึ้น เนื่องจาก ผู้ประกอบการกลับเข้ามารับซื้อหลังช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ความคืบหน้าในการทำข้อตกลงการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังปัจจัยกดดัน จากสัญญาณตลาดล่วงหน้า (โตเกียว สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้) ที่อยู่ในช่วงหดตัวลง อีกทั้งช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังมาถึงซึ่งเป็นวันหยุดยาวในประเทศจีน อาจส่งผลให้ราคายางปรับตัวลงเล็กน้อย