หนุ่มราชบุรี ปลูก “กุยช่าย” แบบแจ๊คพ็อต สร้างรายได้ดีคูณสาม

กุยช่าย พืชมากประโยชน์ ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้สามเด้ง ด้วยเหตุผลที่ลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียว เก็บเกี่ยวได้นานกว่าผักใบชนิดอื่นๆ และยังสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน เก็บขายได้ทั้งดอก ใบ หรือแม้กระทั่งเมื่อต้นโทรมยังสามารถนำมาทำกุยช่ายขาว เก็บขายแบบสร้างรายได้ไม่รู้จบอีกด้วย

คุณบัญชา หนูเล็ก เกษตรกรผู้ปลูกกุยช่ายจังหวัดราชบุรี อยู่บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ที่ 7 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ตนเองประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมานานกว่า 20 ปี มีการปลูกพืชล้มลุก ผักกินใบ คะน้า ต้นหอม กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย มาก่อน แต่เมื่อปี 2542 มีการปรับเปลี่ยนชนิดผักที่ปลูก จากคะน้า กวางตุ้ง มาปลูกกุยช่ายเป็นพืชหลัก สร้างรายได้แทน ด้วยเหตุผลที่ว่า กุยช่าย เป็นพืชที่คุ้มค่าแก่การลงทุน ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้นาน ถ้าดูแลบริหารจัดการแปลงปลูกดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้อีกนาน ไม่ต้องเสียเวลาไถดินเตรียมหยอดเมล็ดใหม่บ่อยๆ เหมือนผักใบอีกหลายชนิด

คุณบัญชา หนูเล็ก เกษตรกรผู้ปลูกกุยช่ายเป็นรายแรกของจังหวัดราชบุรี

กุยช่าย พืชราคาดี ปลูกไม่ยาก
เก็บขายได้ทั้งดอก ใบ และทำกุยช่ายขาวขายได้อีก

คุณบัญชา เริ่มปลูกกุยช่ายเป็นอาชีพสร้างรายได้มาตั้งแต่ ปี 2542 นับเวลามาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณบัญชาได้สะสมประสบการณ์มาครบทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตดีเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย รวมถึงเทคนิคการปลูกและการขายก็มีการวางแผนจัดการได้ไม่แพ้ใคร

คุณบัญชา บอกว่า กุยช่าย ที่นิยมปลูกมีอยู่ 2 พันธุ์ คือพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ไต้หวัน แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมือง เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย

“พันธุ์ไต้หวัน ถ้านำมาปลูกในเมืองไทยจะไม่ค่อยทนแดด เพราะแดดเมืองไทยร้อนจัด และไม่ทนต่อการขนส่ง ซึ่งจุดเด่นของทั้ง 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกัน พันธุ์ไต้หวันจะมีกลิ่นไม่ฉุน ใบจะบาง สีจะไม่เข้ม แต่ถ้าเป็นพันธุ์พื้นเมืองดอกจะดกและมีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ และทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและทนต่อการขนส่ง” คุณบัญชา บอก

คุณบัญชา บอกต่อว่า ตอนนี้ตนมีพื้นที่การทำเกษตรทั้งหมด 60 ไร่ แบ่งปลูกกุยช่าย 40 ไร่ พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่เหลือแบ่งปลูกพืชอย่างอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงบ้าง เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรไม่มีอะไรแน่นอน

ปลูกพืชร่วมอาศัยที่เกื้อกูลกัน ระหว่างกุยช่ายยังโตไม่เต็มที่

การทำการเกษตรความยากง่ายของแต่ละคนต่างกัน พืชแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน สำหรับตนเองการที่จะทำอะไรสักอย่าง ต้องมีการศึกษาวิธีการอย่างถ่องแท้ก่อนลงมือทำ ก่อนที่จะมาปลูกกุยช่ายได้ ต้องมีการเดินทางไปดูสถานที่ปลูกจริงมาหลายๆ ที่ เพราะแต่ละที่จะมีเทคนิคการปลูกที่แตกต่างกันไป ผู้ปลูกจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสวนตัวเองมากที่สุด ดังคำที่ว่า “ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำพูดเสมอ” เพราะฉะนั้นเกษตรกรมือใหม่จำเป็นมากๆ ที่จะต้องตั้งคำถามกับตัวเองหลายๆ ข้อ ว่าปลูกอย่างไร ทำแบบไหน เพราะอะไรถึงทำ ผลผลิตออกช่วงไหน ผลผลิตทำได้กี่กิโลกรัมต่อไร่ ตลาดอยู่ที่ไหน ราคาขายเท่าไร ช่วงไหนคนต้องการมาก ถ้ามีคำตอบให้ตัวเองหมดทุกข้อแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ

เมื่อตอบคำถามตัวเองได้หมดทุกข้อ ก็มาลงมือปลูก การจัดการปลูกเน้นปลูกเฉพาะฤดู เรียกว่าการทำเกษตรแบบแจ๊คพ็อต เพราะถ้าทำให้ผลผลิตออกตลอดทั้งปี ราคาจะตก เพราะต้องไปเจอกับผักที่ออกตามฤดูกาล ปริมาณจะล้น ทำให้ราคาตก

“ตัวอย่าง การวางแผนปลูก ของที่สวนจะวางแผนปลูกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม และนับไปอีก 4 เดือนผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือ ปลูกเดือนมีนาคม ผลผลิตจะเริ่มออกให้เก็บช่วงเดือนกรกฎาคม จะตรงกับช่วงก่อนสารทจีนพอดี ตลาดจะต้องการกุยช่ายเป็นพิเศษ แต่ถ้าปลูกหลังจากนั้น เช่น ปลูกเดือนมิถุนายนเข้าฤดูฝน ของใครๆ ก็ออกต้นสมบูรณ์แข็งแรงกันหมด เมื่อถึงเวลาตัดได้เข้าฤดูหนาวพอดี ซึ่งโดยธรรมชาติของผักก็ออกช่วงนี้อยู่แล้ว ใครก็ทำได้ ราคาจะถูก แต่ถ้าปลูกเดือนกุมภาพันธ์จะผ่านช่วงหน้าร้อนมา ถ้าดูแลบริหารจัดการให้ผ่านหน้าร้อนมาได้ ช่วงนี้ของจะขาด แล้วผักจะราคาดี” คุณบัญชา บอกถึงเคล็ดลับวางแผนการปลูก

 

วิธีการปลูกกุยช่าย

กุยช่าย สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ในประเทศไทย เป็นพืชที่ชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ

การเตรียมดิน… ไถตากดินทิ้งไว้ 10-15 วัน แล้วปรับปรุงคุณภาพดิน เติมอินทรียวัตถุ และปรับค่า pH ของดินให้อยู่ประมาณ 7.1-7.2

ยกร่องเตรียมแปลงปลูก มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

เมื่อเตรียมดินเสร็จ ให้นำต้นกล้ามาปักดำ ซึ่งต้นกล้าที่นำมาปักดำ ต้องเพาะให้มีอายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ถึงจะย้ายมาลงแปลงปลูกได้ หากปลูกแบบยกร่อง ใช้ระยะห่าง 25×25 เซนติเมตร จำนวนต้น ต่อหลุม ประมาณ 6-8 ต้น หรือจะปลูก 4,6,8 ต้น ต่อหลุมก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ความสะดวกของแต่ละพื้นที่ ระยะห่างต่อหลุมขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย หากดินดีก็ปลูกให้ระยะห่างหน่อย เพราะถ้าดินดีพืชจะแข่งกันโต เบียดหาแสง จะทำให้โครงสร้างใบบาง

หลังจากปักดำเสร็จแล้ว คอยดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช

วิธีการปักดำกล้า…เมื่อนำต้นกล้าที่มีอายุ 4 เดือน มาเตรียมปักดำ ให้ตัดใบ ตัดรากออก ให้สั้นเหมือนที่ใช้เสิร์ฟคู่กับผัดไทย

ปลูกพืชร่วมอาศัยที่เกื้อกูลกัน ระหว่างกุยช่ายยังโตไม่เต็มที่

“กุยช่าย ปลูกนานหลังจากปักดำกล้านับอีก 4 เดือน เริ่มตัดขายได้ หลังจากตัดขายมีดแรกจะต้องคลุมฟาง กำจัดวัชพืช หลังจากตัด 15 วัน ดอกจะเริ่มออกให้เก็บ เก็บดอกไปอีก 45 วัน รวมเป็น 60 วัน เมื่อครบ 60 วัน เริ่มตัดมีดสองได้ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตัดใบทุก 2 เดือน ก็จะมีรายได้ทั้งเป็นรายวันและเป็นรายเดือน ผมชอบตรงนี้แหละ”

ปักดำด้วยใจ ใช้เชือกขึงทำแนว เพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม

น้ำ… การให้น้ำตอบไม่ได้ว่า 1 วัน จะให้กี่ครั้ง แต่ให้สังเกตดินต้องมีความชุ่มชื้นเสมอ จะให้วันละ 3-5 ครั้ง ก็สามารถเป็นไปได้ ให้ดูอากาศและสภาพดินประกอบกันไป ถ้าดินที่ปลูกเป็นดินทรายแล้วให้น้ำเท่ากับดินเหนียวก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นดินเหนียวแต่ให้น้ำเยอะเหมือนดินทรายพืชก็แฉะตาย เพราะฉะนั้นต้องดูตามความเหมาะสมควบคู่กันไป ของที่สวนเป็นดินร่วนปนเหนียวออกไปทางเหนียวเยอะ จะรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง

ใช้เรือรากรดน้ำ

ปุ๋ย… ใส่อินทรีย์กับเคมีสลับกัน ดูตามความเหมาะสม  ระยะการใส่หลังจากปักดำประมาณ 7 วัน เพราะพืชเริ่มแตกรากใหม่ก็ใส่ปุ๋ยได้เลย ช่วงแรกพืชกำลังตั้งตัวต้องเน้นสูตรเร่งต้น ปุ๋ยที่ใส่เป็นปุ๋ยยูเรีย สูตร 25-7-7 สลับกับ สูตร 21-7-14 ปริมาณ 4-6 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าใส่เยอะกว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ อีกทั้งทำให้ต้นทุนสูงและผลลัพธ์ที่ได้ก็สูญเปล่า

โรคแมลง…ใช้สารเคมีและสารชีวภัณฑ์สลับกันตามความรุนแรง ช่วงที่แมลงเยอะจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดู เช่น ฝนต่อหนาวแมลงจะเยอะที่สุด รองลงมาเป็นช่วงร้อนต่อฝน แต่ถ้าหนาวต่อร้อนจะไม่เท่าไร จะหนักไปทางเชื้อรามากกว่า ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ เพียงแค่ป้องกันไว้ก่อนก็จะช่วยบรรเทาการระบาดได้ การทำเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สภาพอากาศเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ แค่ต้องมีสติรับมือให้ได้

คลุมฟาง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้หน้าดิน ลดความร้อน ลดการชะล้างบนผิวดิน

“กุยช่าย” ปลูกมานานกว่า 20 ปี
ราคาดี ไม่มีตก

เจ้าของบอกว่า ตั้งแต่ปลูกกุยช่ายมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ราคาถือว่าดีมาตลอด เพราะคนนิยมบริโภคกันมากขึ้น แต่คนทำน้อยลง ถือว่าไม่ผิดหวังที่เปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดนี้

ลักษณะการขาย ขายได้ทั้งดอก ใบ และทำเป็นกุยช่ายขาวได้ ราคาดอกจะดีกว่าใบเขียว ดอกราคาต่ำสุด กิโลกรัมละ 20 บาท สูงสุด กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดอกด้วย ถ้าตัดมีด 2 มีด 3 ดอกจะใหญ่ ยาว แต่หากบำรุงรักษาต้นดี บางครั้งตัด มีด 3 ดอกก็ยังใหญ่ได้อีก

ราคาใบเขียว กิโลกรัมละ 30-40 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและขนาด ถ้าตัดมีดแรกราคาจะสูง แต่ถ้ามีดแรกเป็นช่วงหน้าหนาว ราคาจะถูก

แพ็กใส่ถุงขายเพิ่มมูลค่า

ผลผลิตที่ได้ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากเป็นฤดูหนาวดอกจะมีน้อย ราคาจะสูง แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนดอกจะมีมาก ราคาจะถูก ผลผลิตของที่สวนถือว่าอยู่ในระดับที่พึงพอใจ ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวล่วงหน้า

“การเตรียมต้นล่วงหน้ามีผลต่อความสมบูรณ์ของดอก พยายามให้พืชสะสมอาหารก่อนฤดูหนาว เพราะฤดูหนาว พืชจะออกดอกน้อย ก็ต้องมีการเตรียมต้นให้พืชสะสมอาหารก่อน แล้วค่อยกระตุ้นการเปิดตาดอก”

ตลาด…ส่งขายที่ตลาดศรีเมือง สี่มุมเมือง และปากคลองตลาด เก็บส่งตามความต้องการของแม่ค้า ครั้งละ 300-500 กิโลกรัม หรือสองตันก็แล้วแต่ คุณบัญชา กล่าวถึงการตลาดทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดวิธีการปลูกกุยช่ายสร้างรายได้ ติดต่อ คุณบัญชา หนูเล็ก ได้ที่เบอร์โทร. 089-220-8438

ทำกุยช่ายขาวก็ได้ราคาดี
ทำกุยช่ายขาวก็ได้ราคาดี

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันวันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2563