ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | พัฒนา นรมาศ |
เผยแพร่ |
เห็ด เป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น แกง ลาบ ยำ หรือน้ำพริก ในด้านเศรษฐกิจการเพาะเห็ดมีการแข่งขันกันสูง เกษตรกรผู้เพาะเห็ดจึงต้องมีการจัดการที่ดี โรงเรือนเพาะเห็ดต้องสร้างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการให้ความชื้นภายในและภายนอกโรงเรือนเหมาะสม มีแหล่งน้ำใช้ จัดหาและใช้วัสดุเพาะคุณภาพเพื่อต้นทุนผลิต จุดสำคัญคือ ต้องใส่ใจปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่ดีเพื่อให้ได้เห็ดคุณภาพที่ตลาดต้องการซื้อ เป็นเส้นทางที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้นำไปปลดหนี้และก้าวสู่วิถีการยังชีพที่มั่นคงยั่งยืน
คุณสุทธิพงษ์ ดีอยู่ เกษตรกรบ้านเห็ดภูผา เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็น “บ้านเห็ดภูผา” นั้น แต่ดั้งแต่เดิมได้เลี้ยงหมูมาหลายปี ขณะที่กิจการกำลังก้าวไปได้ด้วยดี ก็ต้องประสบกับปัญหาให้ต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ตลาดซื้อขายหมูราคาแปรปรวนผันผวน ทำให้มีรายได้ไม่คุ้มทุน แล้วส่งผลให้การยังชีพไม่มีความมั่นคง จึงทำให้ต้องค้นหากิจกรรมอื่นที่ดีกว่ามาทดแทน แล้วก็ได้ตัดสินใจเลือกการเพาะเห็ดเป็นอาชีพใหม่
ก่อนตัดสินใจเพาะเห็ด ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องราวเห็ดจากแหล่งสื่อต่างๆ และพบว่า จำนวนผู้เพาะเห็ดและผลผลิตเห็ดออกมาสู่ตลาดปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วการเพาะเห็ดเหมาะที่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จึงได้ทดลองเพาะเห็ดในปริมาณน้อยก่อนเพื่อให้มีผลผลิตกินในครัวเรือน พร้อมกับนำผลผลิตเห็ดส่วนหนึ่งไปขายในตลาดชุมชน ปรากฏว่าผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันก็ได้ตรวจสอบตลาดด้วยการสุ่มสอบถามว่า ผู้บริโภคต้องการบริโภคเห็ดชนิดใดบ้าง? เมื่อได้ข้อมูลรอบด้าน จึงนำกลับมาพิจารณาข้อดี ข้อด้อย แล้วจัดการเพาะเห็ดให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ลงทุนเพาะเห็ด ในราวปี 2555 ได้กู้เงิน 20 ล้านบาท มาลงทุนเพาะเห็ด ปัจจุบัน ยังเป็นหนี้กว่า 8 ล้านบาท ชนิดเห็ดที่เพาะมี 3 ชนิด คือ เห็ดภูฏาน ฮังการี และเห็ดหูหนู ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค
สร้างโรงเรือน รวม 16 โรงเรือน ได้เลือกสถานที่ที่การคมนาคมสะดวก อากาศดี น้ำไม่ท่วมขัง ใกล้แหล่งน้ำ สร้างโรงเรือนให้ขนานกับทิศทางลม เพื่อลดการสูญเสียความชื้นภายในโรงเรือน เก็บรักษาความชื้นได้ดี ให้มีการระบายอากาศทางด้านข้างจะช่วยรักษาระดับความชื้นที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน
โรงเรือนจะสร้างขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมีขนาดกว้างยาวและสูงที่เหมาะสมกับเนื้องานที่ทำ วัสดุที่ใช้สร้างโรงเรือนหาได้ง่ายในท้องถิ่นและลงทุนน้อย มีชั้นวางก้อนเชื้อเห็ด ชั้นล่างสุดสูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ละชั้นมีความสูงพอเหมาะที่จะใช้มือเก็บดอกเห็ดได้ หรือมีช่องทางเข้าทำงานได้สะดวก
วัสดุทำก้อนเชื้อเห็ด ที่นี่เลือกใช้ขี้เลื่อยยางพาราเป็นวัสดุเพาะ เพราะทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพ อัตราส่วนผสมโดยประมาณ มีขี้เลื่อยยางพาราแห้งสนิท 100 กิโลกรัม รำละเอียด 6-8 กิโลกรัม ข้าวโพดป่น 3-5 กิโลกรัม ปูนยิปซัม 1 กิโลกรัม หินปูนหรือผงชอล์ก 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม น้ำ 80 กิโลกรัม และ EM 1 ลิตร แล้วผสมให้เข้าเนื้อกัน จากนั้นให้ทดสอบด้วยการกำส่วนผสม เมื่อบีบวัสดุแตกเป็น 3 ก้อน แสดงว่า อัตราส่วนผสมพอดี จากนั้นจัดการกรอกใส่ถุงพลาสติก ให้ได้น้ำหนัก 800-900 กรัม จับรวบปากถุงแล้วกระทุ้งกับพื้นให้แน่นพอประมาณ แล้วใส่คอขวด
หยอดเชื้อเห็ดและบ่ม นำก้อนเชื้อไปหยอดเชื้อและบ่ม ให้นึ่งก้อนเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อในหม้อนึ่ง ที่ความดัน 25 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว 1-2 ชั่วโมง มีบางแห่งใช้หม้อนึ่งทำจากถังน้ำมัน 200 ลิตร นึ่ง 3 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เมื่อนึ่งฆ่าเชื้อแล้วได้หยอดเชื้อเห็ด เสร็จแล้วปิดปากถุงก้อนเชื้อให้เรียบร้อย จากนั้นบ่มก้อนเชื้อไว้ 20-25 วัน โดยไม่ให้ถูกแดด ฝน ลมโกรก ไม่มีแมลงหรือหนูรบกวน และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
คุณสุทธิพงษ์ เกษตรกรบ้านเห็ดภูผา เล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อบ่มก้อนเชื้อเห็ดได้ระยะเวลาเหมาะสม ก็ถึงช่วงการเปิดดอกเห็ดและเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อสภาพแวดล้อมมีความชื้นสูงพอ อากาศไม่ร้อนมาก ถูกเหนี่ยวนำด้วยอากาศเย็นตอนกลางคืน ก็จะทำให้ก้อนเชื้อเห็ดออกดอกได้ดี
เห็ดฮังการี เมื่อวางก้อนเชื้อเห็ด 12,000 ก้อน จะเก็บเห็ดได้ 2.50-3 ขีด ต่อก้อน มีก้อนเสียหายไม่เกิน 5% หรือวางก้อนเชื้อเห็ดฮังการี 12,000 ก้อน จะได้ผลผลิตเห็ด 30,000-36,000 ขีด หรือได้เห็ด 3,000-3,600 กิโลกรัม ถ้าขาย 30-50 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 90,000-108,000 บาท หรือได้ 150,000-180,000 บาท
เห็ดหูหนู เมื่อวางก้อนเชื้อเห็ด 30,000-40,000 ก้อน จะเก็บเห็ดได้ 5 ขีด ต่อก้อน มีก้อนเสียหายไม่เกิน 20% หรือวางก้อนเชื้อเห็ดหูหนู 30,000-40,000 ก้อน จะได้ผลผลิตเห็ด 150,000-200,000 ขีด หรือได้เห็ด 15,000-20,000 กิโลกรัม ถ้าขาย 20-50 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 300,000-400,000 บาท หรือมีรายได้ 750,000-1,000,000 บาท
เห็ดภูฏาน เมื่อวางก้อนเชื้อเห็ด 10,000-12,000 ก้อน จะเก็บเห็ดได้ 2 ขีด ต่อก้อน มีก้อนเสียไม่เกิน 10% หรือวางก้อนเชื้อเห็ดภูฏาน 10,000-12,000 ก้อน จะได้ผลผลิตเห็ด 20,000-24,000 ขีด ต่อก้อน หรือได้เห็ด 2,000-2,400 กิโลกรัม ถ้าขาย 30-80 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 60,000-72,000 บาท หรือมีรายได้ 160,000 -192,000 บาท
ต้นทุนการเพาะเห็ด ที่ต้องใช้ ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานทั้งหญิงและชาย 40 คน ที่ทำหน้าที่หลายด้าน เช่น การทำก้อนเชื้อเห็ด การควบคุมระบบการผลิตภายในและนอกโรงเรือน หรือการเก็บเห็ด ต้นทุนการเผลิตที่ใช้เป็นค่าไฟฟ้า ค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าการตลาด ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรืออื่นๆ เฉลี่ยไม่น้อย 150,000 บาท ต่อเดือน
ตลาด ผลผลิตเห็ดที่เก็บเกี่ยวได้ต้องขายให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าขายไม่หมด ดอกเห็ดจะเน่าเสียง่าย จึงต้องเก็บรักษาให้ดี ผลผลิตส่วนหนึ่งนำไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง เช่น เห็ดฮังการี วิธีการขาย ได้เช่าใช้พื้นที่จอดรถยนต์ที่ตลาดเป็นผู้จัดไว้ให้ ราคา 400 บาท ต่อรอบ นาน 3 ชั่วโมง อีกส่วนหนึ่ง เช่น เห็ดหูหนู เห็ดภูฏาน มีตลาดขายอยู่ที่วังน้ำเขียว หรือ Macro หรือร้านทำขนม หรือตลาดในท้องถิ่น รายจ่ายที่เป็นต้นทุนและรายได้จากการขายที่ได้กำไรหรือขาดทุนจะบันทึกไว้แบบบัญชีฟาร์มอย่างง่าย เพื่อนำมาปรับแก้ไขพัฒนาการเพาะเห็ดต่อไป
จากเรื่อง บ้านเห็ดภูผา เพาะเห็ดรายได้เงินล้านบาท ก้าวที่ช่วยปลดหนี้ เป็นก้าวเปลี่ยนความล้มเหลวจากการเลี้ยงหมูมาสู่การเพาะเห็ด ได้เรียนรู้และพัฒนาการเพาะเห็ดคุณภาพ มีตลาดรองรับการขาย ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอ ด้วยความไม่ท้อไม่ยอมแพ้ มั่นใจว่าในอีกไม่นานนักก็จะปลดหนี้อีกราว 8 ล้านบาทได้ นั่นคือ การเพาะเห็ดก้าวที่เปลี่ยนเข้าสู่วิถีการยังชีพที่มั่นคงยั่งยืน
ขอบคุณ คุณจุฑามาศ จงศิริ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท พร้อมคณะที่นำเยี่ยมชมการเพาะเห็ดครั้งนี้ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณสุทธิพงษ์ ดีอยู่ 105/55 หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองม่วง โทร. 089-608-8887 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี โทร. 036-432-088 ก็ได้ครับ
—————————————————————————————————————-
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่