วิกฤติแล้ง 2563 งานท้าทายชลประทานในรอบ 40 ปี

ฤดูแล้งปี 2563 ติดลำดับ 2 รองจากปี 2522 แซงปี 2558 ไปแล้ว ภาระและความคาดหวังที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจึงเป็นสิ่งที่กรมชลประทานในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องฝ่าฟันบริหารไปด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปี 2563 เป็นปีที่แล้งรองจากปี 2522 ในรอบ 40 ปี อีกทั้งคาดว่าปี 2563 ปริมาณฝนในฤดูจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-10% ส่งผลต่อปริมาณน้ำสะสมในอ่าง ทำให้กรมต้องวางแผนบริหารน้ำอย่างเข้มงวดเพื่อให้พ้นจากวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของข้าราชการกรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ

โดยกรมได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้งปี 2562/2563 ที่กรมชลประทานเพื่อเป็นหน่วยกลางประสานการช่วยเหลือทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังได้มีศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจสำนักชลประทานที่ 1-17 และสำนักเครื่องจักรกล เพื่อเป็นศูนย์กลางบูรณาการกระจายการช่วยเหลือด้านเครื่องมือ เครื่องจักร ตลอดจนสร้างความเข้าใจกับประชาชน ตามที่ศูนย์อำนวยการฯ ได้สั่งการ และให้ทุกฝ่ายรายงานผลการดำเนินการมาที่กรมทุกวัน

สำหรับปริมาณน้ำที่กรมวางแผนฤดูแล้งปี 2562/2563 (1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 30 เมษายน 2563) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีน้ำต้นทุนรวม 29,039 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้จัดสรรน้ำออกเป็น 2 ก้อน คือ 1. ปริมาณที่จะจัดสรรในฤดูแล้งปี 2562/2563 (1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 30 เมษายน 2563) และ 2. สำรองสำหรับฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563

ในการบริหารได้ให้ลำดับความสำคัญคือ 1. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2. เพื่อการรักษานิเวศและอื่นๆ 3. สำรองเพื่อต้นฤดูฝนและสำรองฝนทิ้งช่วง 4. น้ำเพื่อการเกษตรเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง และ 5. อุตสาหกรรม

น้ำที่จัดสรรสำหรับฤดูแล้งปี 2562/2563 รวม 17,699 ล้านลูกบาศก์เมตร (61%) ของปริมาณน้ำต้นทุน และสำรองไว้ต้นฤดูฝนปี 2563 และเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วง (เดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563) รวม 11,340 ล้านลูกบาศก์เมตร (39%) ของน้ำต้นทุน

ซึ่งปริมาณน้ำฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 30 เมษายน 2563) จำนวน 17,699 ล้านลูกบาศก์เมตร (61%) ของน้ำต้นทุนจะใช้เพื่อ 1. อุปโภค-บริโภค จำนวน 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตร (13%) 2. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้านลูกบาศก์เมตร (40%) 3. เพื่ออุตสาหกรรม 519 ล้านลูกบาศก์เมตร (3%) 4. เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 7,874 ล้านลูกบาศก์เมตร (44%) ส่วนปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝนและช่วงฝนทิ้งช่วงจำนวน 11,340 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39% ของปริมาณน้ำต้นทุน (พฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563) จะจัดสรรเพื่อ 1. การอุปโภค-บริโภค 4,909 ล้านลูกบาศก์เมตร (43%) และ 2. สำรองฝนทิ้งช่วง 6,431 ล้านลูกบาศก์เมตร (57%)

ในขณะที่แผนการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 2562/2563 ณ 1 พฤศจิกายน 2563 มีน้ำต้นทุน 5,377 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรสำหรับช่วง 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 30 เมษายน 2563 จำนวน 4 ,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65% ของน้ำต้นทุน และสำรองไว้ต้นฤดูฝนและเพื่อฝนทิ้งช่วง 2,227 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำจากลุ่มแม่กลองมาเติมน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 500-850 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้ง พฤศจิกายน 2562 ถึงเมษายน 2563 จะจัดสรรน้ำต้นทุน 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อ 1. การอุปโภค-บริโภค 1,150 ล้านลูกบาศก์เมตร (29%) 2. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร 3. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้านลูกบาศก์เมตร (3%) 4. พืชต่อเนื่องและอื่นๆ 515 ล้านลูกบาศก์เมตร (13%) ส่วนน้ำที่สำรองต้นฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง พฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2563 จำนวน 2,227 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,841 ล้านลูกบาศก์เมตร (83%) และเพื่อฝนทิ้งช่วง 386 ล้านลูกบาศก์เมตร (17%)

“ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ขั้นต่ำสุดที่กรมเคยบริหาร อยู่ที่ประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวันในปี 2558 ซึ่งปีนั้นวิกฤติมาก และในกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูงจะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันเป็นครั้งคราวตามแผนการใช้น้ำของฝั่งตะวันตก โดยปีนี้วางแผนจะใช้น้ำลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุนเพื่อช่วยดันน้ำเค็ม ร่วมกับน้ำเหนือและการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เพื่อรักษาระบบประปาของการประปานครหลวง ซึ่งในเดือนมกราคม 2563 ได้ใช้แผนนี้และประสบความสำเร็จ จากการบริหารอย่างเข้มข้นทำให้การใช้น้ำยังเป็นไปตามแผน รวมถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ทำงานทุ่มเทกันต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยดี”

ในขณะที่ 7 จังหวัดลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำใช้การรวม 5,700 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับอุปโภค-บริโภค 460 ล้านลูกบาศก์เมตร (8%) เพื่อรักษาระบบนิเวศ 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร (27%) เพื่อการเกษตร 3,180 ล้านลูกบาศก์เมตร (56%) และเพื่อช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (9%)

ในท่ามกลางวิกฤติและปัญหา การบริหารทรัพยากรน้ำที่มีจำกัดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมกับการติดตามอย่างใกล้ชิดของทุกฝ่าย ก็เชื่อว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เห็นว่าความผสานความร่วมมือใดๆ จะสำเร็จได้ต้องมีประชาชนเป็นส่วนร่วมที่สำคัญ