ป้าคล้าย จงกล เกษตรกรเมืองปาน ทำเกษตรผสมผสาน ผลผลิตที่ได้ไม่ธรรมดา

โดยพื้นฐานของประเทศไทยแล้ว เป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ควรจะมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนทั้งประเทศ แม้จะมีเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ยังพบกับความยากจน พึ่งพาตนเองได้ไม่มากนัก ทั้งในด้าน ที่ดิน เงินทุน วิชาการ การผลิต การจัดการ และการตลาด

ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการประพฤติ ปฏิบัติ ของเกษตรกรคนหนึ่ง ในการทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่บุคคลและครอบครัว เป็นภาพตัวอย่างเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ การผลิตที่เป็นเศรษฐกิจทางการเกษตรของครัวเรือน และด้านจิตใจ ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน ในเรื่อง 1… 2… 3…ได้อย่างแข็งแกร่ง

คุณป้าคล้าย จงกล อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โทรศัพท์ 098-826- 8905

ป้าคล้าย จงกล

ด้านเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราใส่ปัจจัย เงิน ที่ดิน คน ด้วยกระบวนการผลิต รูปแบบต่างๆ ผลลัพธ์ก็เพื่อหวังผลกำไรสูงสุด…แต่ป้าคล้ายมุ่งมั่นในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างพอดี เช่น ที่ดินประมาณ 20 ไร่ ใช้เงินทุนไม่มาก แต่สร้างผลผลิตกลับมาเป็นตัวเงินในด้านรายได้ที่เพียงพอ ใช้แรงงานของตนเองเพียงคนเดียวมาเป็นปัจจัยให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตร ทั้งปลูกข้าว ไม้ผล พืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ สร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครอบครัว

ป้าคล้าย บอกว่า ป้าพึ่งพาตนเองได้ โดยการผลิตพืชผลให้เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เหลือจึงแบ่งปัน และขายเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อหาสิ่งที่ป้าผลิตไม่ได้ด้วยลำพังตนเอง ยึดหลักพออยู่ พอกิน พอมี พอใช้

ด้านจิตใจ ป้าคล้าย บอกว่า ตนเองเป็นคนรู้จักประมาณตน รู้จักเหตุ รู้จักผล พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ใครชวนไปอบรม ดูงานที่ไหน ป้าไปหมด ป้าช่วยตนเองได้ ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ป้าบอกมีความมุ่งมั่น ตั้งใจแม้จะเจอะเจออุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ แม้จะลงทำงานในแปลงก็รู้จักผ่อนหนัก-เบา ทำบ้าง พักบ้าง เพราะป้าก็อายุมากแล้ว ทำตามกำลังความสามารถ

มาเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานของป้าคล้าย ว่ามีการวางแผนจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร กันเลยครับ

เกษตรผสมผสาน ต้องอาศัย ปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ เงินทุน การจัดการภายในสวนของป้าคล้าย

ดิน ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่หรือแปลงปลูกพืชผสมผสานของสวนป้าคล้ายเป็นเนินเขา แม้จะไม่สูงชันมากนัก แต่มองไปบริเวณไหนทั่วทั้งแปลง มันเต็มไปด้วยหินเป็นก้อนๆ กรวด ทราย ป้าคล้าย บอกว่า ก็เป็นลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อจะลงมือปลูกพืชผัก ป้าก็ใช้อุปกรณ์ แหวกหิน แหวกทราย ออกก่อน ก็จะเห็นหน้าดินแล้วจึงขุดหลุมปลูกพืชได้ “ป้าก็ไม่ได้ทำเป็นแอ่งนะ ปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได ป้าก็ไม่ได้ทำ แม้เมื่อฝนตกลงมาก็ปะทะกับหิน กรวด ทราย ไม่ได้เกิดการพังทลายของพื้นที่ ป้าก็ปลูกหญ้าแฝกกันไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อรักษาสภาพพื้นที่” ป้าคล้าย อธิบาย พร้อมกับรอยยิ้ม และก้มลงแหวกบริเวณโคนต้นผักหวานให้ดูว่าเป็นดินอยู่โดยรอบ

น้ำ ป้าคล้าย ขุดสระน้ำไว้ 1 บ่อ ขนาด 13 ตารางวา ความลึก 5 เมตร บรรจุน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับใช้ในแปลงเกษตรในหน้าแล้ง แต่ถ้าไม่เพียงพอ ป้าคล้ายใช้วิธีการตั้งถังกักเก็บน้ำ และถังซีเมนต์ไว้เป็นระยะๆ นำน้ำใส่ถังที่ตั้งไว้บนเนินเหนือสุดของแปลงปลูก เวลาจะใช้น้ำรดต้นไม้ ก็ใช้วิธีการปล่อยน้ำลงถังที่ต่ำกว่า และผ่านท่อน้ำ ใช้สายยางสวมเข้ากับก๊อกน้ำ ซึ่งมีไว้เป็นจุดๆ ก็เปิดน้ำรดต้นไม้ได้  สรุปก็คือ ป้าคล้ายสามารถบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตรให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ว่างั้น

นาข้าว

ปุ๋ย และอาหารพืช ทุกๆ ปี ป้าคล้าย บอกว่า จะทำปุ๋ยไว้ใช้ในสวน ป้าว่าทำได้ง่ายๆ ก็คือ ตัดหญ้า แล้วนำไปกลบโคนต้นไม้ให้มันสลายไปเองตามธรรมชาติ จะไม่ใช้วิธีการเผา เพราะจะทำให้หน้าดินเสีย ส่วนปุ๋ยบำรุงพืชผัก ต้นไม้  จะใช้ปุ๋ยหมักจากการหมักฟางข้าว ขี้หมู ขี้ไก่ ขี้นกกระทา นอกจากนี้ นำน้ำหมักชีวภาพหมักไว้ใช้เอง ใช้วัตถุดิบจากเศษพืชผัก ผลไม้ ฟางข้าว กับกากน้ำตาล อีกสูตรหนึ่งก็คือ ฮอร์โมนไข่ ใช้วัตถุดิบ 10 ชนิด คือ ไข่ไก่ ยาคูลท์ แป้งข้าวหมาก พด.2 น้ำผึ้ง กากน้ำตาล น้ำซาวข้าว นมสด น้ำส้มควันไม้ และน้ำมะพร้าวแก่

การใช้สารชีวภาพ ทดแทนสารเคมี เพื่อเป็นการสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศไม่มีสารตกค้าง ป้าคล้าย บอกว่า ได้ผลิตสารสกัดชีวภาพมาใช้ในแปลงเกษตรไม่ให้มีแมลงมารบกวนด้วยการใช้บอระเพ็ดสดหมักกับกากน้ำตาลและน้ำ เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งการใช้สารดังกล่าวจะไม่กลับย้อนมาสร้างปัญหาให้กับป้าคล้ายเอง

การจัดการสวน การป้องกันวัชพืชไม่ให้เติบโตหรือขึ้นเร็วไป ก็ใช้ฟางข้าว เศษหญ้ามาคลุมรอบๆ ทรงพุ่มต้นไม้ หรือใช้เศษต้นกล้วย ใบกล้วยก็ใช้ได้ ป้าบอกว่าผสมดินใช้เองสำหรับปลูกและเพาะชำกล้าไม้ โดยใช้ทรัพยากรในสวน ดิน  ฟางข้าวสับ ขี้ไก่ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วราดด้วยน้ำหมักจาวปลวก แล้วนำเอาผ้ามาคลุมไว้ ประมาณ 15-30 วัน นำไปใช้ได้ ป้าคล้ายยังบอกอีกว่า ทุกๆ ปี ป้าจะปลูกต้นไม้เพาะชำกิ่งจากการตอนไว้ลงปลูกในแปลงหรือแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน

การผลิตผลผลิตทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เหลือขาย มีรายได้และรายจ่ายที่เพียงพอ

ป้าคล้าย เพียงคนเดียวสามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ตนเองและครอบครัว ให้พอมี พออยู่ พอกิน พอใช้ ไม่ต้องแสวงหาเงินตราอะไรมาใช้จ่ายมากนัก เหลือก็แบ่งปัน และขายให้มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งของบริโภคที่ป้าคล้ายไม่สามารถผลิตขึ้นใช้ได้โดยลำพังตนเอง ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

ผลผลิตทางการเกษตรของป้าคล้าย มีทั้งพืชที่เป็นอาหาร พืชที่เป็นไม้ใช้สอย และสัตว์เลี้ยง

ข้าว เป็นอาหารหลักประจำวันของครอบครัว ป้าคล้าย มีที่นาเพียงพอที่จะผลิตข้าวเปลือกนำไปแปรรูป สีเป็นข้าวสารไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดปี จากเนื้อที่ปลูกข้าว 6 ไร่ ส่วนใหญ่เก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน และให้ลูกหลานนำไปกิน ได้ถึง 4 ครอบครัว เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี แบ่งขายเป็นบางส่วน ในปริมาณไม่มากนัก

พันธุ์ข้าวที่ปลูก ข้าวเจ้าหอมขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 ผลผลิตที่ได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่

ฟางข้าว ป้าคล้าย บอกว่า นำมาใช้ประโยชน์ในการคลุมโคนต้นไม้ และนำมาผสมดินทำเป็นปุ๋ยหมักหว่านรอบทรงพุ่มของไม้ผล

ไม้ผล

ไม้ผล ป้าคล้าย บอกว่า เน้นผลิตผลไม้ที่เป็นอาหาร 1 ใน 5 หมู่ อาหารหลัก บนเนื้อที่ 4 ไร่ ประกอบด้วย ขนุน มะม่วง กล้วย มะพร้าว ส้มโอ มะละกอ มะขามป้อม เงาะ ทุเรียน ตะขบยักษ์ มะไฟหวาน สะละอินโดฯ ผลผลิตไม้ผล ได้บริโภคในครัวเรือน ส่วนลำไย ขายได้ประมาณ 1,000-1,500 กิโลกรัม ต่อปี ได้เงิน 30,000 บาท ต่อปี ผลไม้ที่ขายได้  อีกหลายอย่าง เช่น มะพร้าว มะไฟหวาน กล้วย

พืชผักสวนครัว เป็นพืชประกอบอาหารประจำวันในครัวเรือนของป้าคล้าย โดยไม่ต้องซื้อจากภายนอกมากมายนัก มีปลูกอยู่ภายในบริเวณบ้าน และตามสุมทุมพุ่มไม้ ที่ปลูกแซมอยู่กับไม้ผลต้นใหญ่ๆ ก็มี ถ้าจะต้องนำเงินไปซื้อพืชผักตามร้านค้า อาจใช้เงินเรือนร้อยเรือนพันต่อปี แต่ป้าคล้าย บอกว่า นำมาประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือนได้ปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า 3,000 บาท ที่เหลือนำไปขายในตลาด และบางครั้งก็มีพ่อค้า แม่ค้า เข้ามาซื้อถึงบ้าน เช่น ผักหวานป่า ผักบุ้ง ผักกาด ถั่วฝักยาว ปีละ 5,000 บาท

ป้าคล้าย บอกว่า “ป้าทำเกษตรเพื่ออาหารที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ คือ ปลอดสารพิษ ปลอดจากสารเคมี  เมื่อนำไปประกอบเป็นอาหารทำให้สุขภาพดีอย่างเช่นแปรรูปหน่อไม้สดเป็นหน่อไม้ดองเกลือเก็บไว้ทำอาหารได้ตลอดปีโดยไม่ใส่สารปรุงแต่งใดๆ

พืชผัก

ไม้ใช้สอย เป็นไม้ที่ป้าคล้ายปลูกไว้ เมื่อต้นโตพอตัดได้ ก็นำไปใช้ในแปลงเกษตร เช่น ไม้ไผ่ (หน่อไม้ ใช้เป็นอาหารได้ ทั้งกินสด และนำไปทำเป็นหน่อไม้ดอง) ไม้กระถิน สะเดา ขี้เหล็ก เป็นต้น

มีไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไม้ยางพารา จำนวน 10 ไร่ กรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน (เว้นบางช่วง) ป้าคล้ายบอกว่า กรีดยางเอง และทำเป็นก้อนยางดิบหรือยางก้อนนำไปขาย เป็นรายได้ เฉลี่ยวันละ 500 บาท ถ้าต้นแก่ตัดมาทำไม้ปลูกบ้านได้

ไม้ใช้สอย ถือเป็นทรัพย์สินในอนาคต เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชีวิตในบั้นปลายได้ เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ป้าคล้าย มองด้วยแววตาอย่างมิตรและบอกว่า “แม้ชีวิตนี้ป้าจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากไม้พวกนี้ แต่มันก็ตกทอดเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานในอนาคต ไม่ต้องซื้อต้องหา”

สัตว์เลี้ยง ป้าคล้าย เลี้ยงไว้เฉพาะไก่บ้าน จำนวน 70 ตัว เลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ ภายในแปลงเกษตร ก็หากินหนอน กินปลวก กินพืชผัก ที่เสียๆ แล้วนำมาสับให้กิน หากจะจับขายก็มีรายได้เป็นเงิน 5,000 บาท ต่อปี นอกจากนี้ ขี้ไก่ ยังนำไปทำเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก มาใช้ในแปลงเกษตรได้อีกด้วย

สัตว์เลี้ยง

ป้าคล้าย บอกว่า สิ่งที่ยึดมั่นเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งรัก ทั้งผูกพัน ทางด้านการเกษตร คือ

  1. สวนยางพารา จำนวน 10 ไร่ เริ่มปลูก เมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นความภาคภูมิใจของป้าคล้าย และสามี (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) เป็นอย่างมาก โดยเริ่มไปนำกล้าพันธุ์มาจาก ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยาง จังหวัดลำปาง ที่ทำการส่งเสริมเกษตรในอำเภอ ให้ปลูกยางพารา ทดแทนพืชชนิดอื่น โดยป้าคล้ายมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมาก และเป็นเกษตรกรรายแรกๆ ของอำเภอ ที่หันมาปลูกยางพารา เพราะมุ่งหวังให้เป็นรายได้หลักของครอบครัว เนื่องจากเมื่อก่อนยางพารา มีราคาสูง โดยนำมาปลูกทดแทนไม้ผลเดิมขณะนั้นได้ปลูกมะม่วง กล้วย ซึ่งไม่มีราคาและมูลค่าทางเศรษฐกิจมากนัก

ทั้งนี้ ได้มีการเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย และในช่วงฤดูร้อนที่ฝนไม่ตก ก็นำน้ำใส่ถัง ขนาด 1,000 ลิตร บรรทุกใส่รถกระบะ เพื่อนำไปรดน้ำต้นยางพาราทุกวันตลอดหน้าแล้ง เพราะกลัวต้นยางขาดน้ำ หยุดการเจริญเติบโต

  1. การปลูกข้าว เพราะเป็นอาชีพหลัก ป้าคล้าย ปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน ให้ลูกหลานไว้กินตลอดทั้งปี เวลาลูกๆ กลับบ้าน ก็จะนำข้าวสารกลับไปด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อข้าว เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
  2. ปลูกไม้ผล และพืชผักสวนครัว จุดเริ่มต้นมาจาก ต้องการให้ลูกๆ มีผักและผลไม้ไว้กินภายในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อหาให้เสียเงิน ป้าคล้ายจะดีใจมากๆ เวลาลูกๆ กลับบ้าน ไปถ่ายรูป ไปเก็บผักในแปลงผักของแม่ นำมากิน และขนกลับไปกิน ซึ่งป้าคล้ายจะปลูกพืชผักหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาด (ถ้าเดือนไหนลูกๆ ไม่กลับบ้าน ก็จะนำผักไปขายที่ตลาดแทน) เป็นการปลูกผักและผลไม้ไว้ให้ลูกๆ กินตลอดทั้งปี ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กระเทียม แตงกวา ฟักทอง แตงไทย ฯลฯ

กล่าวถึง ความพอเพียง ในการดำเนินชีวิต ทำให้ป้าคล้ายสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีอิสระในการใช้ชีวิต ไม่ต้องหยิบยืมเงินทองจากใคร ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน มีการใช้จ่ายเงินด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ป้าคล้ายจะมีความสุข ในการทำกิจกรรมที่แปลงเกษตร ทั้งๆ ที่อายุของป้าก็มากแล้ว แต่ป้าก็ยังทะมัดทะแมง เดินขึ้น เดินลง แปลงเกษตรที่เป็นเนินเขาได้อย่างคล่องแคล่ว มีร่างกายที่แข็งแรง แม้แต่ผู้เขียนเองขณะเดินดู พูดคุย อยู่ในแปลงร่วมกันไปกับป้าคล้าย ก็ยังรู้สึกเจ็บหัวเข่า ป้าคล้าย บอกว่า “ป้ามีความสุขดี เมื่อมีผู้มาเยือน ได้บอกเล่า ได้คุย ได้อธิบาย เรื่องนั้น เรื่องนี้ ในเรื่องที่ป้าทำมากับมือให้เขาฟัง” ป้าคล้าย บอกด้วยความมั่นใจและมีรอยยิ้มตลอด ทีนี้ ลองมาอ่านข้อความเกี่ยวกับวิถีชีวิตของป้าคล้ายว่า แต่ละวัน/เดือน/ปี ป้าคล้ายทำงานอะไรในแปลงเกษตร เป็นการบริหารจัดการด้านเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ่งบอกถึงว่าป้าคนนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง

ไม้ใช้สอย

ช่วงเช้า ตั้งแต่ตี 4 ถึง 7 โมงเช้า ป้าคล้ายจะออกไปกรีดยาง กรีดยางเพียงคนเดียวนะครับ ป้าคล้ายบอกว่า กรีดยางตอนเช้ามืดน้ำยางมันออกดี ได้น้ำยางในปริมาณมาก ป้าคล้ายไม่ได้จ้างคนกรีดยาง เพราะเกรงว่าหากกรีดไม่เป็นหรือกรีดลงเนื้อไม้มาก ต้นยางพาราก็จะช้ำหรือโทรม ต้องทะนุถนอมต้นยางพารา เพราะต้นยางพาราทำเงินให้ป้า

หลังกลับจากกรีดยางก็เข้าสวน เข้าแปลงผัก รดน้ำ ให้อาหารไก่ สายๆ หน่อยก็ไปเก็บยางก้อน งานนี้ป้าคล้ายจ้างเพื่อนบ้านมาช่วยงาน เพราะต้องนำใส่รถบรรทุกไปไว้ที่บ้าน เพื่อรวบรวมไปขาย เดือนละ 2 ครั้ง

ช่วงบ่าย เข้าสวนอีกรอบ สำรวจแปลงผัก ปลูกต้นไม้ ตัดแต่งกิ่งต้นไม้ อยู่ในแปลงเกษตรจนถึงเย็น แต่ช่วงต้นฤดูฝนก็จะใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ด้วย

ยางพารา

ปฏิทินการเกษตร       

– ทำนาปีละ 2 ครั้ง ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม และครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน

– กรีดยาง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม (เว้นช่วงกรีดยางในหน้าแล้ง เดือนมีนาคม เมษายน และเดือนพฤษภาคม)  ซึ่งทำเป็นยางก้อนนำไปขายที่อำเภอวังเหนือ

– เก็บลำไย ในเดือนสิงหาคม ขายให้แก่โรงงานรับซื้อลำไยอบแห้ง

– เก็บผักหวานป่า ขายตลาดท้องถิ่น ในเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคมของทุกปี

และตลอดทั้งปี ก็จะปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ปลูกไม้ผลเพิ่มเติม และตัดแต่งกิ่งต้นไม้ ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น

ป้าคล้าย บอกว่า ป้าทำเกษตรผสมผสานมาตั้งแต่ต้น จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะป้ามีผลผลิตทดแทนได้ทั้งไม้ผล พืชผักสวนครัว และสัตว์เลี้ยง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563

Update 24/6/2021