ธ.ก.ส. คลอดมาตรการช่วยภัยแล้ง ยืดเวลาชำระหนี้ 2 ปี จัดเงินสินเชื่อ 5,000 ล. ดอกเบี้ย 0% ใน 2 ปีแรก

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของเกษตรกร ซึ่งเบื้องต้นมีประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย สุพรรณบุรี พะเยา และสกลนคร

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลในเรื่องภาระหนี้สินของเกษตรกร คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ในการประชุม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิม โดย ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนในการจัดหา สร้าง/พัฒนา และปรับปรุงแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤต และลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งสามารถกู้เพื่อนำไปลงทุนได้ รายละไม่เกิน  200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ย ในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR= 6.875) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาสนับสนุนสินเชื่อ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563

นายอภิรมย์ กล่าวว่า  ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกรลูกค้า และสำรวจความเสียหาย พร้อมจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค จัดหาถุงยังชีพในรายที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และในกรณีที่เกษตรกรทำประกันภัยพืชผล จะได้รับชดเชย ข้าวนาปี 1,260 บาท ต่อไร่ ข้าวโพด 1,500 บาท ต่อไร่ นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ 27 มกราคม 2563 จ่ายสินเชื่อไปแล้ว เป็นเงิน 3,890 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 79,676 ราย สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัย จ่ายสินเชื่อไปแล้ว เป็นเงิน 2,060 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 10,831 ราย หากเกษตรกรท่านใดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและมีความประสงค์ต้องการใช้สินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหรือเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท  อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ใน 6 เดือนแรก ส่วนเดือนที่ 7 คิดดอกเบี้ย ในอัตรา MRR (ปัจจุบัน MRR= 6.875%) และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัย วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในอัตรา  MRR-2 (ปัจจุบัน MRR= 6.875%) กำหนดชำระไม่เกิน 15 ปี สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ในพื้นที่ประสบภัย

ที่มา : มติชนออนไลน์