ใช้พื้นที่บริเวณบ้านทำเกษตรครัวเรือน มีเงินใช้ไม่ยาก ตัวอย่างที่สงขลา

อาชีพทำเกษตรอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่มากๆ เหมือนเช่นแต่ก่อน มีชาวบ้านหันมาทำเกษตรกรรมแบบครัวเรือนด้วยการปรับพื้นที่บริเวณบ้านสำหรับปลูกพืชผัก ไม้ดอกที่ดูแลง่าย เลือกให้เหมาะและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนดินฟ้าอากาศเพื่อสร้างรายได้เสริม

อย่างราย คุณวรรณี บุญศิริ บ้านเลขที่ 11/2 หมู่ที่ 4 ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 90140 โทรศัพท์ (086) 104-3126 ใช้พื้นที่บริเวณบ้านสร้างรายได้ด้วยการปลูกดาวเรืองกับพืชผักสวนครัว อย่างมะเขือเทศ พริก มะเขือ และอื่นๆ สลับหมุนเวียนส่งขายตลาดในชุมชน รวมถึงยังปลูกแคนตาลูปอีกด้วย

คุณวรรณี บุญศิริ ปลูกดาวเรืองไว้บริเวณข้างบ้าน

คุณวรรณีปลูกดาวเรืองขายดอกเป็นหลัก ปลูกครั้งละ 300 ต้น เมล็ดพันธุ์ซื้อมาจากร้านเกษตรในตลาดใกล้บ้าน ลักษณะการปลูกดาวเรืองของคุณวรรณีต่างจากชาวบ้านรายอื่นที่มักปลูกเต็มพื้นที่แบบแปลง แต่เธอปลูกในพื้นที่รอบบ้านที่ว่างซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน หรือปลูกใส่กระถาง หรือในภาชนะต่างๆ

พื้นที่ปลูกดาวเรืองบริเวณบ้านมีขนาดไม่เท่ากัน

โดยต้องเพาะต้นพันธุ์ในถาดหลุมก่อน ให้หยอดเมล็ดลงในหลุมถาดเพาะ พรมน้ำเล็กน้อยทุกวัน ประมาณ 3 วันต้นอ่อนจะโผล่ แล้วให้รดน้ำต่อไปประมาณ 18-20 วันจึงย้ายลงปลูกในแปลงหรือกระถาง หรือภาชนะที่หาได้สะดวก ทั้งนี้ จะปรุงดินด้วยปุ๋ยมูลวัวก่อน หากปลูกบนพื้นราบไม่ต้องยกร่อง ถ้าใช้กระถางหรือภาชนะอื่นสามารถย้ายลงปลูกได้เลยหลังจากนั้นรดน้ำต่อทุกเช้า/เย็นพอให้ดินชุ่มด้วยฝักบัว แล้วเด็ดยอดอ่อนออกเมื่อมีใบจริงแตก หลังจากนั้น ประมาณ 15 วันจึงเริ่มใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 2-3 เม็ดรอบต้น แล้วใส่อีกครั้งด้วยสูตรเดิมเมื่อถึงช่วงเริ่มมีตุ่มดอกออก

เพาะต้นกล้าในถาดหลุม

ทั้งนี้ พอถึงเวลาประมาณ 2 เดือนกว่าจึงเริ่มตัดดอก เก็บเฉลี่ยประมาณพันกว่าดอก โดยมีดแรกได้ดอกใหญ่ที่เรียกว่าขนาดจัมโบ้จำนวน 700-800 ดอก ราคาขายดอกละ 1 บาท ส่วนรุ่นต่อมาเป็นดอกขนาดกลาง ราคาดอกละ 75 สตางค์ พอถึงดอกรุ่นสามและสี่ดอก มีขนาดเล็กตามคุณภาพ ราคาขายเหลือแค่ดอกละ 50 สตางค์ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเพื่อตัดเก็บดอกดาวเรืองเสร็จสิ้น โดยขายดอกและกำเป็นมัดขายส่งขายให้แม่ค้าในละแวกชุมชน

ตัดดอกดาวเรืองขนาดจัมโบ้เตรียมแพ็กใส่ถุงให้ลูกค้า

คุณวรรณี ชี้ว่า ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ทนต่อโรค/แมลง ใช้งบลงทุนน้อย มีเพียงค่าปุ๋ยซึ่งไม่ต้องใช้มาก ที่สำคัญควรหาตลาดรองรับไว้ก่อน โดยธรรมชาติแล้วไม่ควรปลูกดาวเรืองซ้ำที่เดิม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสะสมโรคต่างๆ หลังจากคุณวรรณีเก็บผลผลิตดาวเรืองแต่ละรอบปลูกเรียบร้อยแล้วจะเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่น อย่างมะเขือเทศ พริก มะเขือ ในพื้นที่เดิม ส่วนดาวเรืองต้องย้ายไปปลูกในพื้นที่อื่นภายในบริเวณบ้านที่มีขนาดตามความเหมาะสม หรืออาจปลูกในกระถาง หรือภาชนะชนิดอื่นที่หาได้

แคนตาลูปกับมะเขือเทศ

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา คุณวรรณีได้รับการแนะนำจากศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ตำบลพังยาง ที่เป็นสมาชิกอยู่ให้ปลูกแคนตาลูปเพราะเป็นไม้ผลอายุเก็บเกี่ยวสั้น มีราคาดี มีตลาดรับซื้อแน่นอน ทั้งนี้ สามารถยืมเมล็ดพันธุ์จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ แทนการซื้อเงินสดเพื่อนำไปปลูกได้ก่อน เมื่อเก็บผลผลิตแล้วจึงนำมาชำระคืน

Advertisement

คุณวรรณีใช้พื้นที่ของญาติปลูกแคนตาลูป เป็นพันธุ์นิวซันเลดี้ 999 จำนวนปลูกต่อครั้งประมาณ 3,500 ต้น ปลูกด้วยการหยอดเมล็ดลงในแปลงปลูก การปลูกแคนตาลูปจะเตรียมดินด้วยยกร่องเล็กน้อย ขุดหลุมห่างกันประมาณ 2 คืบ ใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวรองก้นหลุมประมาณ 20 เม็ด หลังจากนั้น 3 วันจะเริ่มเห็นต้นโผล่ขึ้น

แคนตาลูปปลูกยกร่องเล็กน้อย

พอมีใบจริงสัก 2 ใบ เริ่มใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ให้ใส่ทุก 15 วัน เมื่อต้นโตขึ้นให้เว้นช่วงใส่ปุ๋ยให้ห่าง คุณวรรณี บอกว่า ปลูกแคนตาลูปใช้ปุ๋ยสูตรเสมอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเพราะช่วยทำให้ต้นและผลมีความสมบูรณ์เพียงพอประมาณ 30 วันจะเห็นผลขนาดเล็กเท่าหัวแม่โป้ง ให้หมั่นดูแลกำจัดวัชพืชบริเวณที่ปลูกให้สะอาดตลอดเวลาจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันโรค/แมลง

Advertisement

แคนตาลูปใช้เวลา 60-65 วันจึงตัดเก็บผลผลิต มีขนาดน้ำหนักผลละ 1.5-2 กิโลกรัม ผิวสวย รสหวาน เนื้อสีส้ม ได้น้ำหนักผลผลิตรวมประมาณ 1 ตัน ขายกิโลกรัมละ 50 บาท ขายหน้าบ้าน กับส่งขายให้กับศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน เพื่อนำไปขายต่อหรือแปรรูป

ผลผลิตแคนตาลูปเตรียมส่งขาย

อย่างไรก็ตาม สภาพพื้นที่เอื้อต่อการปลูกแคนตาลูปได้เพียงปีละครั้ง โดยเริ่มปลูกเดือนมกราคม เก็บผลผลิตราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การทำเกษตรกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน จากเกษตรกรรมที่ต้องใช้พื้นที่มาก มาถึงตอนนี้ เพียงแค่มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยหรือบริเวณบ้านก็สามารถสร้างเป็นสวนเกษตรครัวเรือนได้ไม่ยาก เพียงคุณรู้จักวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเท่านั้นก็จะช่วยให้มีรายได้ตลอดเวลา

ปลูกวิธีนี้ผลผลิตก็ยังได้คุณภาพดี