คืนชีวิตผืนดินกันดาร ปลูกอินทผลัม ไม้ผลมูลค่าสูง ที่ลพบุรี

ดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี การปลูกพืชอะไร? พืชใด? ก็ได้รับผลผลิตคุณภาพ แต่! ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชใด? ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ได้ผลผลิต คุณภาพ ปัญหาดินมีทางออกเมื่อเกษตรกรก้าวหน้าได้ “คืนชีวิตผืนดินกันดาร ปลูกอินทผลัม ไม้ผลมูลค่าสูง” ประสบผลสำเร็จ มีรายได้เงินแสนเงินล้าน ให้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีการยังชีพที่มั่นคงยั่งยืน

คุณทวี มาสขาว อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ปัจจุบัน เป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ตำบลชอนสารเดช อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ดินมีลักษณะเป็นดินดาน ดินกรวด รากพืชไม่สามารถชอนไชเพื่อหาอาหารได้ หากต้องการปลูกพืชในดินแบบนี้ ต้องมีการเจาะระเบิดดินดาน หรือปรับปรุงดินขึ้นมาใหม่ ส่วนพืชที่ปลูกจะต้องเลือกเป็นชนิดที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งได้ดี หรือเหมาะกับสภาพดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

คุณทวี มาสขาว ผอ.สสก. 1 ชัยนาท ผู้ส่งเสริมการปรับปรุงดินเพื่อปลูกพืชมูลค่าสูง

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท และสำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน สนับสนุนสารชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ป้องกันโรคพืช อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรยกมาตรฐานการผลิต เป็นแบบเกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร

อินทผลัม เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แม้จะเป็นพืชที่ใช้เวลานาน ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จึงให้ผลผลิต แต่ก็คุ้มค่า เพราะราคาผลสด กิโลกรัมละ 400-800 บาท ให้ผลผลิต 150-300 กิโลกรัม ต่อต้น จึงเป็นพืชที่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามงานปลูกอินทผลัม

“อินทผลัม” (Date Palm) เป็นไม้ผลต่างแดน ลักษณะต้นคล้ายปาล์ม ผลสดรับประทานได้ ผลแห้งมีรสหวาน มากด้วยคุณค่าทางอาหาร ทนสภาพอากาศร้อน อินทผลัมเป็นไม้ผลนำเข้ามาจากประเทศทางแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย แอลจีเรีย หรือประเทศทางแถบอาหรับ

ปัจจุบัน มีปลูกในประเทศไทยหลายแห่ง และให้ผลผลิตดี ซึ่งส่วนใหญ่จะขายกันในลักษณะผลสด เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะอากาศร้อนชื้น ต่างจากแถบตะวันออกกลางที่มีอากาศร้อนแห้งแบบทะเลทราย เมื่อผลอินทผลัมสุกจะเป็นเชื้อราและเน่าเสีย ไม่แห้งเหมือนของต่างประเทศ สายพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศมักเป็นพันธุ์ที่รับประทานสดแล้วรสชาติดี

อาจารย์ครองจักร งามมีศรี เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม

อาจารย์ครองจักร งามมีศรี เจ้าของสวนอินทผลัมชอนสารเดช อดีตข้าราชการครู เล่าให้ฟังว่า หลังจากเกษียณได้ผันชีวิตมาเป็นชาวสวน โดยได้พลิกฟื้นผืนดินของพี่ชาย ที่ปลูกมะขามหวานและมะนาว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกไผ่กิมซุง ไม้เนื้อแข็ง เช่น พะยูง และปลูกไม้ผล อย่าง ขนุน มะยงชิด มะม่วง ในพื้นที่ 5 ไร่ แต่ต้องประสบปัญหาคือต้นไม้ไม่เจริญเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น บ้างก็ยืนต้นตาย จากปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงได้ค้นหาสาเหตุและได้พบว่า รากของต้นไม้ไม่สามารถชอนไชผ่านชั้นดินที่เป็นดินกรวด หรือดินดานเพื่อหาน้ำอาหารได้ จึงยืนต้นตายในที่สุด

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาสนใจการปลูกอินทผลัม คือ การมีโอกาสได้ชิมรสชาติอินทผลัมสด ที่ลูกชายซื้อมาฝากเมื่อครั้งไปบาห์เรน ปรากฏว่าอร่อยดี จึงนำเมล็ดไปฝังไว้ในดิน ปรากฏว่าขึ้นง่าย จึงขุดมาปลูกไว้คู่กับต้นพะยูง ผ่านไป 1 ปี อินทผลัมสูงเลยศีรษะ แต่พะยูงสูงแค่เข่า แสดงว่าอินทผลัมสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์

สภาพดินเดิมที่สวนอินทผลัมชอนสารเดช
ต้นอินทผลัมโตเต็มวัยพร้อมออกผลผลิต

จากนั้นจึงศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกอินทผลัม พบว่ามีการปลูกอินทผลัมในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว มีเกษตรกรหลายรายปลูกไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกเกิดจากการเพาะเมล็ด ไม่ทราบว่าเป็นต้นตัวผู้ หรือตัวเมีย และปัญหาของการกลายพันธุ์ ส่วนผลผลิตที่ได้จะผิดเพี้ยนไปจากต้นพันธุ์เดิม สำหรับที่สวนปลูกด้วยต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ และการตอนกิ่ง ซึ่งอาจมีราคาแพงแต่รับรองในเรื่องของรสชาติที่เหมือนกับต้นแม่ และเป็นต้นตัวเมียร้อยเปอร์เซ็นต์

เทคนิคการปลูกอินทผลัม
ในพื้นที่ดินดาน ดินกรวด
ให้ประสบความสำเร็จ

การเตรียมดินเริ่มโดยใช้รถแบ๊คโฮขุดหลุม ขนาด 2x2x2 เมตร โดยขุดเอาดินล่างขึ้นมาไว้ด้านบน แล้วใช้ดินนา ประมาณ 2 คันรถหกล้อ และมูลไก่จากฟาร์มไก่เนื้อ เพราะมีแกลบปนอยู่ค่อนข้างมาก ประมาณ 20 ถุงปุ๋ย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ในหลุม จากนั้นจึงนำต้นพันธุ์ลงปลูก
สายพันธุ์อินทผลัม ปลูกในพื้นที่ 20 ไร่ จำนวน 500 ต้น ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์บาร์ฮี (ผลสีเหลือง) รองลงมา คือ โคไนซี่ (ผลสีแดง), คาลาส (ผลสีเหลือง), นาวาเดอร์ (ผลสีเหลือง), อัมเอ็ดดาฮาน (ผลสีเหลือง) และ พันธุ์ G2 (ผลสีแดง)

สายพันธุ์ที่ปลูกในสวน เป็นชนิดรับประทานผลสด มีระยะที่เหมาะสมกับการรับประทาน 3 ระยะ คือ ระยะผลสด ผลสุก และผลแห้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

การตัดแต่งช่ออินทผลัม
การห่อช่ออินทผลัมป้องกันศัตรูพืช

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาอินทผลัมให้เจริญเติบโต หลังจากปลูกต้องมีเวลาดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 3 เดือน ต้องใส่ปุ๋ยคอก หรือมูลไก่แกลบ เป็นการเพิ่มปุ๋ยให้กับดิน มีความอุดมสมบูรณ์และพืชเจริญเติบโตดีขึ้น
การให้น้ำ อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับพืชตระกูลปาล์มทั่วไป ถ้าพื้นที่ใดไม่มีแหล่งน้ำ ไม่ควรปลูกเด็ดขาด ที่นี่ได้จัดการให้น้ำ จะให้วันเว้นวัน นานครั้งละชั่วโมงครึ่ง/ต้น แต่ถ้าเป็นระยะกำลังออกดอก ต้องให้น้ำทุกวัน

อินทผลัม เป็นไม้ผลตามฤดูกาล จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ซึ่งการปล่อยให้อินทผลัมติดผลเองโดยธรรมชาติ จะได้ผลผลิตน้อย จำเป็นต้องช่วยผสมเกสร โดยการฉีดพ่นเกสรตัวผู้ที่ผสมแป้ง (แป้งทัลคัม) ใส่ช่อเกสรตัวเมีย เพื่อช่วยในการผสมเกสร ซึ่ง 1 ต้น จะผสมเกสร 2 ครั้ง โดยสามารถผสมเกสรได้ทุกช่วงเวลา หลังผสมเกสร 40-45 วัน ต้องห่อช่อดอก ก่อนห่อต้องเด็ดผลที่ติดกันแน่นเกินไปออกบางส่วน ให้เหลือไว้เพียง 15-16 ผล เพื่อให้ผลผลิตสมบูรณ์ ขนาดมาตรฐาน

การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งอินทผลัม

อาจารย์ครองจักร เจ้าของสวนอินทผลัมชอนสารเดช เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ผลผลิตที่สวนจะออกดอกประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน หรือหลังจากผสมเกสรนับต่อไปอีก 150 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ในลักษณะผลสด ราคาขาย ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น พันธุ์บาร์ฮี จะขาย กิโลกรัมละ 600 บาท หรือพันธุ์โคไนซี่ ขายกิโลกรัมละ 850 บาท ราคาซื้อขายที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และกลไกตลาด นอกจากนี้ ที่สวนยังมีกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งจำหน่ายด้วย ซึ่งแต่ละปีทำให้มีรายได้มากกว่าแสนบาท และการยังชีพก็มีความมั่นคง ยั่งยืน

จากเรื่อง “คืนชีวิตผืนดินกันดาร ปลูกอินทผลัม ไม้ผลมูลค่าสูง” เป็นการต่อสู้กับการปรับปรุงดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เลือกปลูกอินทผลัมทดแทนพืชเดิม ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาดี ทำให้แต่ละปีมีรายได้เป็นเงินมากกว่าแสนบาท พร้อมกับส่งผลให้มีวิถีการยังชีพที่มั่นคงยั่งยืน

อินทผลัมสดๆ จากต้นพร้อมออกสู่ตลาด
อินทผลัมแช่แข็งและที่เก็บมาสดๆ จากต้นพร้อมรับประทาน

ท่านที่สนใจการปลูกอินทผลัม หรือต้องการมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สวนอินทผลัมชอนสารเดช สอบถามข้อมูลได้ที่ อาจารย์ครองจักร งามมีศรี สวนอินทผลัมชอนสารเดช 96/1 หมู่ที่ 4 ตำบลชอนสารเดช อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี 15170 โทร. 085-909-7445 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี โทร. 036-432-088