เผยแพร่ |
---|
นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “มะเดื่อ” (Fig Fruit) หรือ “มะเดื่อฝรั่ง” ได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคสินค้าปลอดสารเคมี (Organic Food) และกลุ่มผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลมะเดื่อมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งทางการแพทย์มีการรับรองว่าผลมะเดื่อ มีส่วนช่วยป้องกันโรคนิ่วในไต ช่วยฟอกตับและม้าม และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เกษตรกรจึงนิยมปลูกในหลายพื้นที่นับว่าเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
จากการลงพื้นที่ของ สศท.5 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต และการตลาดมะเดื่อในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 50 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูก จำนวน 10-15 ราย โดยเกษตรกรมีการปลูกมะเดื่อในลักษณะต่างคนต่างปลูก กระจายอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน และ ปักธงชัย เป็นต้น เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโต ซึ่งการปลูกมะเดื่อในปัจจุบันเกษตรกร จะนิยมใช้กิ่งพันธุ์ตอนหรือกิ่งปักชำที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์ เจแปนบีทีเอ็ม6 หรือ พันธุ์เหวยไห่ ราคาจะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/กิ่ง หากพิจารณาถึงการผลิต พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 40,120 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 1 จนครบ 50 ปี ถึงจะสิ้นอายุขัย) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 8-12 เดือน ผลผลิตเฉลี่ย 80-120 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,080 บาท/ไร่/ปี ราคาขายผลสุกอยู่ที่ 300 บาท/กก. ส่วนผลแห้งอยู่ที่ 1,000 บาท/กิโลกรัม
ด้านการตลาด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65 กลุ่มเกษตรกรจะจำหน่ายผลมะเดื่อ (ผลแห้งและผลสุก) และกิ่งพันธุ์ทางออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค เช่น ฟาร์มหอมกลิ่นดิน และ Sixty six figs farm เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 25 แปรรูปเป็นชามะเดื่อ และไวน์มะเดื่อ โดยลูกค้านิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เช่นเดียวกัน ที่เหลือร้อยละ 10 เกษตรกรจะจำหน่ายผลมะเดื่อทั้งผลสุกและผลแห้ง ตามงานอีเว้นท์ที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น อาทิ งานตลาดนัดเกษตรกร รวมทั้งกิ่งพันธุ์บางส่วนยังมีการจำหน่ายปลีกทางหน้าร้านของตนเองอีกด้วย
สำหรับจุดเด่นของผลผลิตนั้น เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในการบริโภคสินค้าปลอดสารเคมี (Organic Food) และผู้รักสุขภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำผลมะเดื่อมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น ไวน์มะเดื่อ ชามะเดื่อ คุกกี้มะเดื่อ และมะเดื่ออบแห้ง เป็นต้น เกษตรกรสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดผู้บริโภคเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะเดื่อในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการขายและขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมะเดื่อในจังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. (044) 465-120 หรือ อี-เมล zone5@oae.go.th