มจธ. ฝึกเกษตรไร้สาร ‘ชาวลัวะ’ สร้างรายได้-ส่งลูกเรียนตามฝัน

“ความรู้” ทั้งในและนอกตำราล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ขณะที่ช่องว่างทางการเรียนรู้ระหว่างเมืองกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีอยู่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงจัดโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชนและสังคม หรือ Social Lab มาเติมเต็มให้กับความต่างและระยะห่างทางการเรียนรู้ให้มากที่สุด เพื่อให้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

หมู่บ้านก่อก๋วงนอก หมู่ที่ 11 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านของโครงการที่ มจธ. เข้าไปถ่ายทอดความรู้และพัฒนา นายมนต์ชัย นีซัง นักวิจัยและผู้ประสานงาน ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. พื้นที่จังหวัดน่าน เล่าว่า หมู่บ้านก่อก๋วง เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าลัวะ ทำเกษตรเพื่อยังชีพ ไม่ค่อยมีรายได้ มจธ. จึงอยากส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่เหมาะกับการปลูกผักเมืองหนาวที่มีมูลค่าสูง และเป็นอาชีพที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ประกอบกับในจังหวัดน่านยังไม่มีคู่แข่ง จึงส่งเสริมการปลูกผักสลัดและสตรอเบอรี่เพื่อสร้างรายได้

“เกษตรกรจะเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกในแปลงรวมก่อน จนเกิดความรู้ความเข้าใจแล้วจึงนำไปทำในแปลงของตนเอง และจากการผลิตของเกษตรกรที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้รวมถึง 106-148 บาท ถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ แต่บางส่วนของการทำงานยังคงต้องปรับเปลี่ยน พัฒนา และช่วยเหลือแก้ไขกันไป ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็จะลงฝังตัวอยู่กับชาวบ้านจนเกิดความยั่งยืนแล้ว จึงจะถอนตัวออกมาซึ่งมักใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี” นายมนต์ชัย กล่าวในที่สุด

ส่วน นางอภิสรา จ๋มล้า อายุ 53 ปี หัวหน้ากลุ่มปลูกผักเมืองหนาว หมู่บ้านก่อก๋วงนอก เผยว่า เดิมตนอยู่หมู่บ้านก่อก๋วงใน ขณะที่ชาวบ้านทำไร่ปลูกผักตามฤดูกาล และขุดเผือก มัน ขาย กระทั่ง มจธ. เข้ามาให้ความรู้ สอนวิธีการปลูกผักสลัดและสตรอเบอรี่เพื่อให้มีรายได้ทั้งปี ตนจึงเข้าโครงการ จากตนรุ่นแรกและอีก 9 ครอบครัวที่ชวนต่อกันมา จนตอนเป็นหมู่บ้านก่อก๋วงนอกแล้ว

นางอภิสราเล่าถึงวิธีการทำงานว่า ทุกคนจะมีการวางแผนและจดบันทึกการเพาะปลูก โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสลับกันดูแลผลผลิต เน้นการเพาะผลผลิตหรือต้องมีผักไปขายให้ได้ทุกเดือน และอีกเรื่องที่ศึกษาคือ เรื่องยาฆ่าแมลง การปลูกพืชผัก ผลไม้ ของบ้านก่อก๋วงนอกจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง จึงเริ่มทดลองใช้เศษเกลือละลายน้ำและนำมาพ่นหญ้า ซึ่งได้ผลสำเร็จและนำมาใช้แทนยาฆ่าแมลง

“รู้สึกดีใจที่ มจธ. เข้ามาช่วยเหลือบ้านก่อก๋วง จากรายได้ปีละพันบาทก็เพิ่มเป็นเดือนละพันบาท เราก็มีความหวังที่จะได้ส่งลูกเรียนให้จบ เพราะลูกบางคนอยากรับราชการเป็นตำรวจและทหาร” นางอภิสรา กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

สิ่งสำคัญคือ ความรู้ได้ส่งต่อไปสู่เด็กและเยาวชนชาวลัวะในพื้นที่ ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาแทนที่กลุ่มคนรุ่นก่อนๆ

จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด