สาวสุพรรณ สู้ภัยแล้ง เลี้ยงกบในกระชังบก ใช้น้ำน้อย สร้างผลกำไรงาม

คุณจุฑามาศ เบญจวรรณ อยู่บ้านเลขที่ 1/2 หมู่ที่ 3 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เธอมีอาชีพทำนาทำสวน ในแต่ละปีเธอเริ่มมองเห็นปัญหาของเรื่องน้ำ ที่มีปริมาณน้อยลง บวกกับราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ที่มีราคาขึ้นลงไม่แน่นอน ทำให้เธอมองหาอาชีพเสริมที่สามารถหาเงินได้เร็วขึ้น เธอจึงมองเรื่องการเลี้ยงกบ จากการทดลองในครั้งนั้น ทำให้เธอประสบผลสำเร็จ จนสามารถสร้างรายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน

คุณจุฑามาศ เล่าว่า ที่บ้านของเธอประกอบอาชีพทำนาทำสวน จากการจำหน่ายผลผลิตบางครั้งไม่เพียงพอ

คุณจุฑามาศ เบญจวรรณ

“อาชีพหลักๆ ที่บ้าน ก็ทำนาทำสวน บางครั้งมีขายของทั่วไปด้วย แต่ทำนาทำสวนบางทีราคาผลผลิตมันก็ได้ไม่ค่อยเต็มที่เท่าที่ควร ก็เลยคิดที่จะหาอย่างอื่นมาทำเป็นอาชีพเสริม ก็เลยได้ลองเลี้ยงกบแทน เพราะคิดว่าอย่างน้อย เราไม่ได้ดีตรงนั้น ก็อยากได้ตรงนี้แทน ลองดูเพื่อจะได้ดีอีกด้านหนึ่ง พอปี 2554 ก็เลยเอามาทดลองเลี้ยง” คุณจุฑามาศ เล่าถึงความเป็นมาของการเลี้ยงกบ

ในตอนแรกที่ทดลองเลี้ยง เธอบอกว่า ซื้อลูกกบตัวเล็ก มาทดลองเลี้ยงที่บ้าน เพื่อลองผิดลองถูก

กระชังบก

“ตอนแรกก็หาซื้อมาเลย เอามาเลี้ยง 5,000 ตัว แบ่งกับแม่คนละครึ่ง ตอนนั้นเลี้ยงในบ่อที่เป็นร่องสวนมะม่วงที่บ้าน แต่ปัญหาที่เจอ มันก็จะมีตัวเงินตัวทองกวน และก็สัตว์อื่นด้วย ส่วนกระชังที่แขวนเลี้ยงในร่องสวน ก็ใช้น้ำเยอะ ต้องให้น้ำเต็มร่องตลอด ทำให้เวลาที่เราต้องถ่ายน้ำ ก็เปลืองหลายอย่างทั้งน้ำและเวลา ก็เลยคิดวิธีเลี้ยงใหม่ เอาขึ้นมาเลี้ยงบนบก โดยดัดแปลงทำกระชังบกเอง เพื่อให้การจัดการเราง่ายขึ้น และเราก็จะไม่ต้องมากังวลเรื่องน้ำ เพราะช่วงเดือนมีนาคม เมษายน เรามีปัญหาเรื่องน้ำ น้ำมันไม่ค่อยมี ก็เลยต้องคิดต้องปรับแนวทาง” คุณจุฑามาศ อธิบาย

ลูกกบอายุประมาณ 1 เดือน

เมื่อเลี้ยงกบในร่องสวนมะม่วงแรกๆ ในปี 2554 มีปัญหาเรื่องการจัดการหลายๆ ด้าน ต่อมาประมาณปี 2556 คุณจุฑามาศ ทำการดัดแปลงเย็บกระชังบกให้มีมุม 4 มุม ให้คล้ายกับกระชังเลี้ยงปลา โดยที่พื้นของกระชังเป็นพลาสติกดำพีอี (PE) เย็บติดกับมุ้งเขียว

เมื่อได้พื้นที่พร้อมสำหรับวางกระชังบก จึงนำลูกกบมาใส่เลี้ยงภายในกระชังบกขนาด 2×2 เมตร สูง 1.30 เมตร ใส่น้ำลงไปประมาณ 15 เซนติเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพลาสติกดำ พร้อมทั้งมีแผ่นลอยน้ำไว้ให้กบขึ้นมาพักด้านบน ปล่อยลูกกบลงเลี้ยงประมาณ 500 ตัว ซึ่งถ้ากระชังบกมีขนาดที่ใหญ่ ก็จะเพิ่มจำนวนของลูกกบที่เลี้ยงให้จำนวนมากตามขนาดของกระชังบก

กบที่เลี้ยงภายในกระชังบก

การให้อาหาร เป็นอาหารเม็ดทั่วไปที่ใช้เลี้ยงกบ หว่านลงไปในกระชัง 2 เวลา คือ เช้าและเย็น

“อาหารนี่คือหว่านได้เลยค่ะ มันจะได้กระจายได้ถึงตัว บางคนเขาก็วางไว้ให้กบมากินเอง แบบนั้นบางทีเขาไม่มากินหรอกค่ะ หว่านไปให้ทั่วๆ จะดีกว่า ส่วนอาหารก็อาหารกบทั่วไป ขอให้มีโปรตีนประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ เขาก็จะโตดี” คุณจุฑามาศ อธิบายวิธีการให้อาหาร

การดูแล การเลี้ยงกบในกระชังบก คุณจุฑามาศ บอกว่า ข้อดีของการเลี้ยงด้วยวิธีนี้จะดีกว่าการเลี้ยงรวมกันในร่องสวน ถ้ากบในกระชังไหนเกิดโรคระบาด โรคที่เกิดจะเป็นเพียงกระชังต่อกระชัง ไม่ระบาดเหมือนเลี้ยงภายในร่องสวนมะม่วง และที่สำคัญง่ายต่อการถ่ายน้ำ โดยถ่ายน้ำวันเว้นวัน

กบขนาดพร้อมจำหน่าย

“โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดของกบ ก็จะพวกปากขาว ตัวบวม ซึ่งถ้าเป็นแล้ว ส่วนมากจะไม่หาย ถึงจะใช้ยาปฏิชีวนะ มันก็แค่ทุเลาเฉยๆ ให้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารไปเลย ให้กบได้กิน การให้ก็ดูตามอาการของโรคค่ะ” คุณจุฑามาศ กล่าว

“พอกบเลี้ยงได้ประมาณ 3-4 เดือน จับขายได้เลย ส่วนตัวไหนที่มีทรงสวยๆ ก็จะเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งตลาดนี่ก็ไม่ได้หาที่ไหน ส่งขายให้กับคนที่เราซื้อกบเขามาเลี้ยง เขามารับซื้อเราถึงที่บ้านเลย ทำให้เราหมดกังวลเรื่องนี้ไปเลย ตอนนี้ก็มีทั้งคนมาซื้อเองด้วย สนใจกระชังบกด้วย ก็ต่อยอดรายได้อย่างดี” คุณจุฑามาศ กล่าว

กบที่ได้ขนาดพร้อมจำหน่าย คุณจุฑามาศ บอกว่า จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งไซซ์ที่จำหน่ายนั้นเธอบอกว่า ผู้รับซื้อรับหมด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ระยะการเลี้ยงต้องประมาณ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนไซซ์ที่ใหญ่ที่สุดของฟาร์มเธอ ประมาณ 3 ตัว ต่อกิโลกรัม

เมื่อคัดแยกพ่อแม่พันธุ์ที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์แล้ว คุณจุฑามาศ จะนำมาเลี้ยงต่ออีกประมาณ 1 ปี เพื่อให้กบพ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์ โดยขังแยกเพศผู้เพศเมีย

“กบนี่เราสามารผสมพันธุ์ได้ตลอด แต่ช่วงที่ไม่ค่อยดีคือหน้าหนาว เพราะว่าเขาก็จะจำศีล แต่เขาก็สามารถเพาะพันธุ์ได้แต่ไข่จะมีน้อยหน่อย ไม่ค่อยได้เยอะเท่าที่ควร จากนั้นเอาพ่อแม่พันธุ์ในอัตราส่วน 5 ต่อ 5 ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เสร็จแล้วเขาก็จะออกไข่ เราก็เอาพ่อแม่พันธุ์ออกมา ก็ดูแลลูกอ๊อดต่อไป”

ลูกกบ (ลูกอ๊อด) ที่ออกจากไข่ จะให้กินอาหารที่ปั้นเป็นก้อน ให้กินจนกว่าจะโต ส่วนการถ่ายน้ำต้องถ่ายวันเว้นวัน เพื่อให้น้ำที่ใช้เลี้ยงมีความสะอาด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ลูกกบที่ออกมาตายได้

ราคาลูกกบที่เป็นลูกอ๊อด อายุประมาณ 3-5 วัน จะขายอยู่ที่ตัวละ 10 สตางค์ ส่วนลูกกบที่เลี้ยงประมาณ 1 เดือน อยู่ที่ราคาตัวละ 1 บาท

คุณจุฑามาศ บอกว่า เคล็ดลับของการผสมพันธุ์ให้ได้คุณภาพนั้น เธอจะไปหาซื้อลูกกบจากฟาร์มอื่นมาเลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ด้วย โดยนำมาเลี้ยงเก็บไว้ เพราะหากนำกบที่อยู่ในฟาร์มเดียวกันมาผสมพันธุ์ ทำให้ลูกที่ออกมาพิการ ไม่สวย

เวลาจับกบ จับได้ง่าย และสะดวก

“สำหรับคนที่สนใจ ก็อยากจะบอกว่า ให้ลองทำดูก่อน ยังไม่ต้องลงทุนเยอะ อยากให้เริ่มจากน้อยไปหามาก ส่วนคนที่ทำอยู่ตอนนี้ แล้วเกิดความท้อ ว่าทำไมเลี้ยงแล้วไม่เห็นได้เหมือนอย่างที่คนอื่นทำ ก็อยากจะบอกว่าอย่าท้อ เพราะว่ากบมันก็จะดีเป็นช่วงๆ ไป เรื่องการเลี้ยงต่างๆ ก็ลองศึกษาให้ดี อย่างน้อยมันช่วยเราได้เยอะ ทุกอย่างต้องอาศัยประสบการณ์ การลองผิดลองถูกบ้าง จะให้มันดีเลยมันก็เป็นไปไม่ได้ พอเราทำไป เกิดความชำนาญทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง วันนั้นก็จะเป็นวันของเราเอง” คุณจุฑามาศ กล่าวแนะนำ

ณ เวลานี้ การหารายได้เสริมจึงนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนคำที่ว่า “ความไม่แน่นอน คือสิ่งที่แน่นอน” เหมือนเช่น คุณจุฑามาศ เมื่อช่วงหน้าแล้งที่น้ำขาดแคลน ต้องหยุดทำนาในบางช่วงบางเวลา ทำให้รายได้ของเธอที่ควรมีต้องหายไป เธอจึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการทดลองเลี้ยงกบ ทำให้เธอประสบความสำเร็จ และเลี้ยงกบจนเป็นอาชีพหลัก ทำเงินให้เธอได้เป็นอย่างดี

กระชังบกสามารถเลี้ยงปลาดุกได้อีกด้วย

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณจุฑามาศ เบญจวรรณ หมายเลขโทรศัพท์ (098) 450-5480