ภาคตะวันออกวิกฤตขาดน้ำ ผัน 10 ล้าน ลบ.ม. กู้ “ระยอง-ชลบุรี”

สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกในปัจจุบันดูจะ “วิกฤต” มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากตัวเลขสภาพน้ำในอ่างล่าสุดของกรมชลประทาน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า อ่างเก็บน้ำบางพระ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 29 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 28%, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 21 ล้าน ลบ.ม. หรือ 14%, อ่างเก็บน้ำประแสร์ 79 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29%, อ่างเก็บน้ำดอกกราย 25 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32% และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 12.7% ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ 4,167 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี หรือเฉพาะ 3 จังหวัด ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะอยู่ที่ 2,419 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

ภาคตะวันออกวิกฤตขาดน้ำ ผัน 10 ล้าน ลบ.ม.กู้ “ระยอง-ชลบุรี”

ในจำนวนความต้องการใช้น้ำ 4,167 ล้าน ลบ.ม. นั้น เป็นน้ำเพื่อการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนถึง 74% (3,097 ล้าน ลบ.ม.) รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 17% (713 ล้าน ลบ.ม.) และอุปโภค-บริโภค และการท่องเที่ยว 9% (356 ล้าน ลบ.ม.) ทว่าสถานการณ์ภัยแล้งเฉพาะภาคตะวันออกในปีนี้กลับรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกรมชลประทานได้รับข้อมูลสภาพอากาศล่าสุด คาดการณ์ปริมาณฝนระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน จะมีปริมาณน้อย และฝนปีนี้จะมา “ล่าช้า” กว่าปกติ นั่นหมายความว่า ฝนจะไม่ตกในเดือนพฤษภาคม แต่อาจจะล่าไปถึงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นเดือนกรกฎาคมทีเดียว

ต้นแบบ MOU ขอผันน้ำ

ทางเดียวที่จะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชลบุรี-ระยอง ซึ่งเป็น 2 จังหวัดสำคัญในพื้นที่ EEC ก็คือ จะต้องมีน้ำเข้ามา “เติม” ให้กับอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผันน้ำไปให้อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งปัจจุบันเหลือน้ำใช้การได้ไม่ถึง 20% จากการคำนวณปริมาตรน้ำใช้การได้เบื้องต้นของอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะถูกใช้เป็นอ่างเก็บน้ำหลักที่จะกระจายน้ำไปให้กับอ่างเก็บน้ำอื่นๆ พบว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้ประมาณ 79 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้ระบายอยู่ วันละ 0.59 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับมีน้ำใช้ไปได้จนถึงเดือนมิถุนายน แต่ไม่สามารถผันน้ำไปช่วย “เติม” อ่างเก็บน้ำอื่นๆ ได้อีก

วิธีการเดียวก็คือ จะต้องนำน้ำจากลุ่มน้ำใกล้เคียงมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล ช่วยกู้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำให้กับจังหวัดระยองและชลบุรี

ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดระยองในปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำหลักอยู่ 3 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำหนอง

ปลาไหล-อ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีการใช้น้ำ วันละ 1.12 ล้าน ลบ.ม. ไปกับการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และส่งน้ำไปให้การประปาจังหวัดชลบุรี ปัจจุบัน ทั้ง 3 อ่าง เหลือน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 65.5 ล้าน ลบ.ม. จึงมีความ “จำเป็น” ต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาช่วยเหลือ

“เราเรียกประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์จะเหลือต่ำกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุดในอ่าง (dead storage) ในเดือนเมษายน ดังนั้น จะต้องหาน้ำมาเติมให้กับอ่างประแสร์ เราจึงมองไปที่การนำน้ำจากลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดมาใช้ โดยปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ลงแม่น้ำวังโตนด วันละ 180,000 ลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้มีเพียงพอกับการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งปีนี้ (เดือนพฤษภาคม) รวมปริมาณน้ำทั้งหมด 23 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่อ่างเก็บน้ำคลองประแกดมีปริมาณน้ำในอ่างอยู่ 49.62 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับเหลือน้ำในอ่างอยู่อีก 26.62 ล้าน ลบ.ม.” ดร. สมเกียรติ กล่าว

จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) การดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จังหวัดจันทบุรี มาให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ปี 2563 ด้วยการสูบน้ำปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ผ่านระบบสูบน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป หากการสูบน้ำจำนวนนี้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด กรมชลประทานจะต้องหยุดสูบน้ำทันที

เกษตร-รง. แย่งน้ำ

อย่างไรก็ตาม บันทึกความเข้าใจ MOU เพื่อการแบ่งปันน้ำฉบับนี้ ได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้เช่นกัน เนื่องจากจังหวัดจันทบุรียังไม่มีความพร้อมเรื่องการกระจายน้ำในพื้นที่ ขณะนี้หากเกิดภาวะแห้งแล้ง จันทบุรียังไม่สามารถใช้น้ำอ่างประแกดได้ เพราะระบบฝายทดน้ำที่กระจายน้ำตามท่อปล่อยมาตามลุ่มแม่น้ำวังโตนดได้ยังไม่มี นอกจากใช้รถบรรทุกไปดูดน้ำ ซึ่งฤดูแล้งที่แล้วมีค่าใช้จ่าย ตกคันละ 2,000 กว่าบาท

เป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะทำ MOU แบ่งปันน้ำ แต่ก็ไม่อาจทัดทานความต้องการใช้น้ำเพื่อกู้สถานการณ์วิกฤตของจังหวัดชลบุรี กับจังหวัดระยองได้

ที่สำคัญก็คือ การผันน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และเกษตรกรรมจากลุ่มน้ำวังโตนด ผ่านอ่างเก็บน้ำคลองประแกด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อกระจายน้ำต่อให้กับอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล นั้น น้ำจำนวนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้เพียงอย่างเดียว แต่น้ำจำนวน 10 ล้าน ลบ.ม.นี้ ยังถูกส่งต่อไปให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยอง-ชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และผ่านระบบการจัดสรรน้ำของ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจขายน้ำในภาคตะวันออกด้วย

เฉพาะตัวเลขความต้องการใช้น้ำในปัจจุบัน จังหวัดระยอง มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมสูงสุดถึง 269 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพียง 53 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อเกษตรกรรม 137 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่จังหวัดชลบุรีต้องการน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 180 ล้าน ลบ.ม. อุปโภค-บริโภค 137 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตรกรรม 117 ล้าน ลบ.ม. โดยนับวันความต้องการน้ำเพื่ออุตสาหกรรมรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในช่วงฤดูแล้งของทุกปี

สุดท้าย ในอนาคต ปัญหาความขัดแย้ง “แย่งน้ำ” กัน ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการเกษตร คงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์