ต้นแบบคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านป่าคา กำแพงเพชร

เมื่อเร็ว ๆนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ จำนวน 300 ชุด และโอกาสนี้ได้พบปะเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขา บ้านป่าคา บ้านโละโคะ และบ้านป่าหมาก เพื่อรับทราบชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ โดยมุ่งส่งเสริมอาชีพด้านการทำเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ให้กับราษฎร ชาวไทยภูเขาบ้านป่าคาและหมู่บ้านบริวาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการมีการดำเนินงานแบบบูรณา โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบหลัก
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา ถือเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯแห่งสุดท้าย หลังจากนั้นไม่มีพื้นที่ใดที่ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น

จากการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นโครงการที่มีความสำเร็จจากการพัฒนาที่บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยคุณภาพชีวิตของราษฎรมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น พร้อมการฟื้นฟูทรัพยากรป่าประสบความสำเร็จสามารถกลับมาสมบูรณ์ได้อย่างเห็นได้ชัดเจน
สำหรับการเยี่ยมชมภายในพื้นที่โครงการฯ ขององคมนตรีและคณะฯ ในครั้งนี้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทนพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ผักกาดขาวใหญ่ คะน้าฮ่องเต้ ซาโยเต้ สตอเบอรี่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค โดยซาโยเต้ให้ผลผลิตเฉลี่ย 96 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้ชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านป่าคา มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ได้ส่งผลทำให้ปัญหายาเสพติด และการบุกรุกพื้นที่ป่าลดน้อยลง โดยในช่วงปี 2559-2562 พบว่า ไม่มีการบุกรุกพื้นป่าในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเพิ่มเติม ส่วนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและที่ราษฎรเคยใช้ทำไร่เลื่อนลอยจะมีการฟื้นผืนป่ากลับคืนมาต่อไป

ในโอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ พร้อมทั้งการเตรียมการและแนวทางเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการฯ ได้สนองพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการฯ อีกทั้งเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ นายสุนทร จันทร์คีรีรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า ก่อนที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น ประชาชนในพื้นที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว และเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทุกปี โดยถางป่าแล้วเผา เพราะข้าวโพดไม่สามารถปลูกในพื้นที่เดิมได้เพราะมีปัญหากับวัชพืช
แต่เมื่อมีโครงการฯ และรับประชาชนในพื้นที่เข้าทำงาน พร้อมสอนให้ปลูกพืชหลายชนิด ชาวบ้านมีเงินเดือน และมีความรู้เรื่องปลูกพืชโดยไม่ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ ผลผลิตออกมาดี สมบูรณ์ และขายได้ต่อเนื่องทั้งปี

“ในตอนนี้ไม่มีใครออกไปทำไร่ไกลๆ หรือถางป่าใหม่แล้ว เพราะสามารถใช้พื้นที่เดิมปลูกพืชได้ ทุกคนชอบที่ได้ทำงานใกล้บ้านแถมรายได้ยังดีกว่าอีก พื้นที่ทำไร่เมื่อก่อนจึงมอบให้กับทางการเข้าไปปลูกป่าให้สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน หลายปีมานี้น้ำในลำห้วยไม่แห้ง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ก็เอาน้ำมารดต้นพืชที่ปลูกจึงไม่เดือดร้อน ต้องกราบขอบพระคุณ พระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่งที่พระราชทานโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ราษฎรสามารถทำมาหากินได้อย่างมั่นคง มีรายได้ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในเมือง ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บทุกคน” นายสุนทร กล่าว

ด้าน นายจักรพงษ์ ม้าเจริญตระกูล เกษตรกรบ้านป่าคา เป็นผู้หนึ่งที่ได้นำความรู้ ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแบบไม่ทำลายป่ามาปฏิบัติใช้ ด้วยการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ใหญ่ กล่าวเสริมว่า ได้เข้ามาทำงานในโครงการฯ ประมาณ 6 ปี และใช้พื้นที่ของตนเองประมาณ 6 ไร่ เพาะปลูกพืชโดยนำความรู้จากโครงการไปทำด้วยการปลูกอะโวกาโด แมคคาเดเมีย กาแฟ มะข้ามป้อม แซมด้วยสตอเบอร์รี่ พริก มะเขือ มันม่วง มันเหลือง มันไข่ เป็นมันพันธุ์ญี่ปุ่น ปลูกประมาณ 90 วัน เก็บผลผลิตขายได้

นายจักรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในรายได้นั้น ไม้ที่ให้ผลจะเก็บขาย เป็นรายได้หลัก ส่วนกาแฟจะผลิตเป็นกาแฟกะลา ส่วนเปลือกกาแฟจะตากแล้วนำมาคั่ว โดยใช้อุณหภูมิ 90-100 องศา 40 นาที แล้วเอาไปบรรจุถุงจำหน่ายในรูปแบบชาเพื่อชงดื่ม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบัน เพราะดีต่อสุขภาพและมีกลิ่นหอมกลมกล่อม ซึ่งที่ผ่านมาเปลือกกาแฟมักจะทิ้งหลังจากขั้นตอนการการทำสีเป็นกะลาแล้ว เป็นการนำผลผลิตจากกาแฟมาเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้อีกทาง”

“ผมได้ใช้พื้นที่ ทั้ง 6 ไร่อย่างคุ้มค่า ปลูกพืชยืนต้น ปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ให้ผล ปลูกผักแซมระหว่างไม้ใหญ่ และปลูกข้าวไว้กิน ชีวิตตอนนี้ไม่ลำบากมีเงินเก็บหักรายจ่ายแล้วมากกว่า 1 แสนบาท มีลูก 7 คน จะให้ลูกมาทำอาชีพเกษตรกรต่อ เพราะรายได้ดีกว่าไปทำงานรับจ้าง และได้อยู่กับบ้านกับพ่อแม่ ก็ต้องขอบคุณพระองค์ท่านที่ให้มีสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านป่าคาแห่งนี้ นับเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีค่าอันประเสริฐ ทุกคนถ้าสามารถเข้ามาเรียนรู้แล้วนำเอาไปทำที่บ้านของตนเองได้ เมื่อก่อนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกว่า เราสามารถใช้พื้นที่ที่ไม่มากนักไม่ต้องไปถางป่าเพิ่มก็สามารถทำการเกษตรให้ได้รับผลผลิตที่ดีและมากพอเอาไปขายสร้างรายได้ได้ ตอนนี้เห็นแล้วว่าทำได้ตามที่พระองค์บอก” นายจักรพงษ์ กล่าวในที่สุด