ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปี 2563 ประเทศไทย ต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ ปี 2522 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชากรทุกคนต้องตระหนักถึง โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งน้ำเป็นสำคัญ จำเป็นต้องวางแผนเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้
คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง) อธิบายถึงสถานการณ์ภัยแล้งและวิธีแก้ปัญหาว่า หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปี 2559 ประเทศไทยเคยเจอวิกฤตภัยแล้งเหมือนอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นใน ปี 2563 โดยเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นทุก 5 ปี เรียกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ใน ปี 2563 ค่อนข้างรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะ
- เกิดฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน
- น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 14 เขื่อน จะเหลือน้ำใช้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งถ้าเทียบกับ ปี 2559 บางเขื่อนยังพอมีน้ำประทังได้จนหมดภัยแล้ง ซึ่งทาง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ และมีความเป็นห่วงเกษตรกรทุกท่าน โดยเฉพาะชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเยอะกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชผักก็เริ่มเกิดความกังวลแล้วว่า ผักที่ตัวเองปลูกจะรอดไหม เพราะฉะนั้นในทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัวและช่วยเหลือกันให้ได้มากที่สุด
ทาง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด เริ่มมีความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง และมีการเตรียมความพร้อมไว้ระยะหนึ่ง ในการที่จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มเกษตรกร และที่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรเป็นพิเศษ เพราะกลุ่มเกษตรกรหลักๆ ในประเทศไทย เป็นกลุ่มชาวนา รองลงมาคือ ชาวไร่ ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย แต่เพียงแค่ว่าชาวนาจะได้รับผลกระทบเยอะที่สุด เพราะว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุด ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในรอบการปลูก 100-120 วัน ดังนั้น เมื่อข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำในการปลูกมากที่สุดและเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดภัยแล้งขึ้น ชาวนาจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
จึงได้เริ่มทำโครงการศรแดงพืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้งขึ้นมา เพื่อช่วยแนะเกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ให้หันมาปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย และอายุสั้นแทน โดยทางบริษัทมีงานวิจัยทดลองทำในฟาร์ม และจะยกตัวอย่างให้เกษตรกรได้เห็นว่า ในการปลูกข้าว 1 ไร่ ต้องใช้น้ำมากถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าปลูกผัก ข้าวโพด แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักใบ จะใช้น้ำแค่ประมาณ 300-600 ลูกบาศก์เมตร ต่อการปลูก 1 ครอป นั้นหมายความว่าในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ก็จะมีทางออก เป็นการปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย ระยะการปลูกสั้น และสร้างรายได้มากกว่า
ต่อยอด โครงการศรแดงพืชน้ำน้อย
เริ่มต้น ปีที่ 2 กุมภาพันธ์นี้
คุณอิสระ กล่าวถึงที่มาและจุดประสงค์ของโครงการศรแดงพืชน้ำน้อยว่า สืบเนื่องจากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทาง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด ได้ตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งมาตลอด ประกอบกับมีความเชี่ยวชาญเรื่องเมล็ดพันธุ์อยู่แล้ว จึงได้จัดทำโครงการศรแดงพืชน้ำน้อย ขึ้นมาเพื่อช่วยเกษตรกร โดยโครงการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2561/2562 มีการทำกิจกรรมร่วมกับทางภาครัฐ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรและทุกภาคส่วนดีมาก
เริ่มต้นที่กลุ่มเกษตรกรลุ่มน้ำภาคกลาง ที่จังหวัดอ่างทอง มีจำนวนสมาชิกกลุ่ม ประมาณ 300-400 คน ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรชอบ เพราะเดิมทีเกษตรกรไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผัก เพราะตลอดชีวิตอยู่กับการทำนา เขาจึงไม่รู้ว่าเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา เขาจะสามารถเอาตัวรอด เปลี่ยนนาข้าวเป็นแปลงผักได้อย่างไร ทางบริษัทจึงจัดทำโครงการศรแดงพืชน้ำน้อยขึ้นมาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมองเห็นทางรอด เขาสามารถใช้พื้นที่บางส่วนที่ไม่สามารถทำนาได้มาปลูกผักเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อสร้างรายได้ตอนที่ยังไม่สามารถทำนาได้
เนื่องจากปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต ใน ปี 2562/2563 ทางศรแดง จึงได้ดำเนินงานต่อ สามารถดูรายละเอียดการเข้าร่วมได้ในตอนท้ายๆ
ปลูกพืชน้ำน้อยกับศรแดง ทั้ง 7 ชนิด
ช่วยผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง
จากที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด ได้ทำการวิเคราะห์ทดลองปลูกและได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า พืชใช้น้ำน้อยของศรแดงทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่
- ข้าวโพดข้าวเหนียว สวีทไวโอเล็ท และข้าวโพดหวาน จัมโบ้สวีท
- ฟักทอง ข้าวตอก และประกายเพชร
- ถั่วฟักยาว ลำน้ำชี และลำน้ำพอง
- แฟง สะพายเพชร
- แตงกวา ธันเดอร์กรีน และบิ๊กกรีน
- ผักใบ คะน้าพันธุ์บางบัวทอง 35 ผักบุ้งยอดไผ่ 9 และกวางตุ้งทศกัณฑ์
- พริก เพชรมงกุฎ
ใช้น้ำประมาณ 300-600 ลูกบาศก์เมตร ต่อการปลูก 1 ฤดู และพืชทั้ง 7 สายพันธุ์ ที่แนะนำได้รับการทดสอบจากแปลงทดลองในฟาร์มแล้ว ซึ่งมีตารางเปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำของแต่ละพืชไว้อย่างชัดเจน
- ข้าว อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 100 วัน
- อ้อย อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 300 วัน
- มันสำปะหลัง อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 365 วัน
จะเห็นได้ว่า พืชหลักของคนไทย ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ใช้น้ำมากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนั้นเลย แต่ถ้ากลับมาดูในส่วนของพืชผักที่ศรแดงแนะนำทั้ง 7 ชนิด เริ่มต้นด้วย
- ข้าวโพด อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 438 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 75 วัน
- ฟักทอง อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 616 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 90 วัน
- ถั่วฝักยาว อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 458 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 80 วัน
- แฟง อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 551 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 65 วัน
- แตงโม อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 668 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 85 วัน
- แตงกวา อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 660 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 50 วัน
- ผักใบ คะน้า กวางตุ้ง อัตราการใช้น้ำ ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ ในระยะเวลา 40-60 วัน
และในปีนี้ทางบริษัทเพิ่ม พริกขี้หนู เข้ามาอีก 1 ชนิด ในการปลูกพริก 1 ไร่ จะใช้น้ำใกล้เคียงกับการปลูกฟักทองประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ และพริกเป็นพืชที่ปลูกง่าย ตลาดกว้าง และที่สำคัญพันธุ์พริกที่เพิ่มเข้ามา เป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อทนแล้งโดยเฉพาะ สามารถปลูกในพื้นที่อาศัยน้ำฝนหรือไม่มีระบบน้ำชลประทาน
แนะนำเทคโนโลยีระบบน้ำ
ใช้ให้ตรงกับพืช คุ้มค่าเกินเงินลงทุน
คุณอิสระ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบน้ำที่เหมาะสมในฤดูแล้งว่า ทางบริษัทได้ศึกษาระบบการให้น้ำที่คุ้มค่า และประหยัดที่สุดคือ ระบบเทปน้ำหยด และการทำระบบน้ำเยอะถือว่าเหมาะกับทุกพื้นที่ ถ้าจะให้ดีต้องมีอุปกรณ์เสริม คือพลาสติกคลุมดิน ซึ่งทั้งสองอุปกรณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกันคือ การคลุมพลาสติกก็เพื่อต้องการเก็บความชื้นในดินไม่ให้ระเหยออกไป หากปล่อยให้หน้าแปลงโดนแสงแดดเต็มๆ ทุกวัน น้ำจะระเหยหมด ซึ่งก็หมายความว่าน้ำที่ระเหยไปจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้านำพลาสติกมาคลุมไว้ก็จะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน ช่วยประหยัดในเรื่องของการกำจัดวัชพืชเมื่อพืชไม่โดนแสงแดดจะไม่งอกออกมา แต่ถ้าเกษตรกรไม่สะดวกใช้พลาสติก เพราะไม่มีเงินลงทุน เกษตรกรสามารถใช้วัสดุที่มีอยู่ เช่น ฟางข้าว หรือใบไม้ที่มีในท้องถิ่นมาใช้แทนกันได้ ส่วนระบบน้ำหยด ซื้อครั้งเดียวสามารถเก็บไว้ใช้ได้อีก 2-3 ครั้ง และปัจจุบันเกษตรกรจะสะดวกยิ่งขึ้น เพราะท่านสามารถไปซื้อที่ร้านขายอุปกรณ์การเกษตรแล้วบอกทางร้านได้เลยว่า ขนาดแปลงความกว้างความยาวเท่าไร ทางร้านจะสามารถแนะนำได้ทันทีว่า จะต้องใช้เทปน้ำหยดกี่เมตร ระบบเทปน้ำหยดถือว่าเหมาะกับเกษตรกรในช่วงหน้าแล้งมากที่สุด เหมาะทั้งเรื่องต้นทุน และช่วยประหยัดน้ำได้เยอะ
เกษตรกรมือใหม่ หมดกังวลการตลาด
ศรแดง ยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา
สำหรับเกษตรกรที่เป็นมือใหม่หัดปลูกพืชน้ำน้อย และมีความกังวลเรื่องการตลาด ปลูกแล้วขายที่ไหน คุณอิสระ บอกว่า นับเป็นความโชคดีของทางบริษัทที่
- ทางบริษัทมีเครือข่ายกับทางพ่อค้าแม่ค้า ปลูกเสร็จแล้วบริษัทมีตลาดรองรับ
- เกษตรกรที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการศรแดงพืชน้ำน้อย ท่านสามารถติดต่อมาสอบถามข้อมูลได้กับทางบริษัทได้โดยตรง
- ทางบริษัทจะมีพนักงานภาคสนามกระจายตัวอยู่ตามแต่ละจังหวัด ประมาณ 20 คน ที่พร้อมให้ความรู้ หรืออธิบายในเรื่องของการปลูกและการตลาด หรือถ้าเกษตรกรรวมกลุ่มกันได้ให้แจ้งมาทางบริษัท เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับไปเพื่อช่วยให้คำปรึกษา
- กลุ่มร้านค้าตัวแทนจำหน่าย สามารถแจ้งความจำนงได้ว่า อยากให้บริษัทไปจัดโครงการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
สามารถติดต่อ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้ 3 ช่องทาง เบอร์โทร. 02-831-7777 เฟซบุ๊ก : เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง เว็บไซต์ : www.eastwestseed.com
ประกวดใช้น้ำน้อย ปีที่ 2 อุทัยธานี
โครงการศรแดงพืชน้ำน้อย ปีที่ 2 เลือกทำโครงการนำร่องที่จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากอุทัยธานีเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งมากที่สุด และความแตกต่างของทั้ง 2 โครงการ คือ
ปีที่ 1 มีการเสนอสายพันธุ์พืชเปรียบเทียบให้เห็นว่า พืชที่ใช้น้ำน้อยของศรแดง ทั้งหมด 7 ชนิด มีอะไรบ้าง มีพืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ข้าวโพด ผักใบ คะน้า ผักบุ้ง แฟง ฟักทอง นำเกษตรกรเข้ามาอบรม และมีหน่วยส่งเสริมของบริษัทเข้าไปช่วยให้ความรู้ มีชุดกล่องเมล็ดพันธุ์และคำแนะนำต่างๆ ให้กับทางภาครัฐ เพื่อช่วยส่งเสริมเกษตรกร
แต่ใน ปีที่ 2 ทางบริษัทมองว่า การให้คำแนะนำเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวคงไม่พอ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ เรื่องของเทคโนโลยีการใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างไรให้เกิดคุณค่าสูงสุด ยกตัวอย่าง ระบบน้ำหยด สปริงเกลอร์ หรือระบบหัวฉีดต่างๆ ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะให้เกษตรกรเรียนรู้แล้วนำไปใช้ เพียงแต่เกษตรกรต้องลงทุนเพิ่มเติมในส่วนนี้ แต่ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เจอในปัจจุบัน
กติกาการเข้าร่วมโครงการ ปีที่ 2 …เริ่มแข่งขันเดือนกุมภาพันธ์ เสร็จสิ้นใช้เวลา 60-65 วัน รับสมัครตัวแทนของตำบล หรือหมู่บ้าน เกษตรกรที่เข้ามาสมัครจะต้องมีแปลงปลูกพืช 3 แปลง และต้องใช้ระบบน้ำกับเมล็ดพันธุ์ที่ทางโครงการจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งระบบน้ำ เมล็ดพันธุ์ และค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ทางโครงการจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เกษตรกรมีหน้าที่ทำตามกติกาที่ตั้งไว้ โดยจะมีทีมพี่เลี้ยงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แต่ละกลุ่ม ดูแลทุกขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยว และวันสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวจะมีการตัดสินว่า กลุ่มใดเป็นผู้ชนะ หลังจากนั้น จะมีการมอบรางวัลเป็นสินน้ำใจ ซึ่งโครงการไม่ได้มุ่งหวังแจกของรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้โครงการศรแดงพืชน้ำน้อยไปถึงเกษตรกร และอยากให้เกษตรกรมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมสามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้ไปต่อยอดถ่ายทอดให้กับเพื่อนบ้านได้
เกณฑ์พิจารณาการให้คะแนน…
- พิจารณาดูว่าเกษตรกรสามารถนำสิ่งที่ให้ไป นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่หรือไม่
- ผลผลิตที่ได้ น้ำหนัก ความสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่
ของรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ …
รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 18,500 บาท
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 12,000 บาท
รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 6,500 บาท
ทั้ง 3 รางวัลนี้ จะมีอุปกรณ์ทำการเกษตร ระบบน้ำ เมล็ดพันธุ์ผัก ให้ไปพร้อมเพื่อให้เกษตรกรได้มีทุนต่อยอด