“ดับไฟในใจคน” กุญแจสู่ความสำเร็จในการรักษาป่าของชุมชนบ้านแม่ขมิง

สถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวขวัญในระดับประเทศและระดับนานาชาติ แม้ว่าการเกิดปรากฏการณ์ไฟป่าเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ แต่ยังสามารถควบคุมจากการคาดเดาจุดเกิดเหตุและช่วงเวลาที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ ทว่า ไฟป่า ที่เกิดจากมนุษย์นั้นยากต่อการควบคุม และไม่อาจคาดการณ์สถานที่หรือช่วงเวลาได้ แต่การให้ชุมชนป้องกันป่า สามารถตอบโจทย์และลดทอนปัญหาข้างต้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ชุมชนร่วมมือกันอย่างแข็งขันปกป้องและดูแลผืนป่าชุมชน การสร้างพลังชุมชนของบ้านแม่ขมิงเริ่มจากการน้อมนำศาสตร์พระราชา “ปลูกป่าในใจคน” หล่อหลอมคนในชุมชนมองเห็นคุณค่าของป่า ส่งผลให้การบุกรุกแผ้วถางป่าค่อยๆ ลดลงจนหมดไปจากพื้นที่ ขณะที่การดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าของชุมชนเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นๆ จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และเป็นแกนนำที่ร่วมกับภาครัฐในการปลูกป่าในใจคนด้วย 

นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่บริษัทฯ ริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ได้ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป้าหมาย 15 ข้อ 15.2 ในการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการนี้

บริษัท เชื่อว่า ป่าชุมชนเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าจนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศได้ สำหรับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นด้านสืบสาน รักษา และต่อยอด สร้างสุขปวงประชา จากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ป่าแห่งนี้ได้น้อมนำและสืบสานศาสตร์พระราชาในการพัฒนา รักษา และฟื้นฟูป่าบ้านแม่ขมิงจนอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนและทั้งจังหวัดแพร่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของคนและไฟป่าได้อย่างยอดเยี่ยม บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า ตลอดจนระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความยั่งยืน โครงการนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อส่งเสริมชุมชนและขยายผลให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน และภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ความสำเร็จในการบริหารจัดการป่าของป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง นายอัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ประธานป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง เล่าให้ฟังว่า ความสามัคคีและทีมงานที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ที่นี่แม้แต่เยาวชนก็มีส่วนร่วมในการดูแลป่าชุมชน เรามีการสร้างแนวกันไฟ, สร้างฝาย, ปลูกป่าเสริมเป็นประจำ โดยชุมชนตกลงร่วมกันว่าทุกครัวเรือนต้องส่งตัวแทนมาร่วมกิจกรรมของชุมชนทุกครั้ง ชาวบ้านแม่ขมิง รวมทั้งเยาวชนจึงถูกปลูกฝังและเกิดการตระหนักรู้ว่าการดูแลป่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

Advertisement
สวนเกษตรผสมผสาน ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ป่าชุมชน

“เรามีคณะกรรมการป่าชุมชน และจัดทำแผนการฟื้นฟูป่าประจำปี เราพยามยามดึงคนทุกกลุ่ม ทุกวัยเข้ามาร่วมในทุกกิจกรรม เพื่อดับไฟในใจคนไม่ให้แผดเผาป่าจากความโลภหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งในช่วงอากาศแห้งเช่นนี้ ชุมชนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการดึงคนในชุมชนร่วมกันทำแนวกันไฟ ความกว้างประมาณ 1-2 เมตร ตามแนวสันเขาครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร อีกทั้งยังจัดทำธนาคารใบไม้ เพื่อลดการเผาในชุมชนและลดจำนวนเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น ใบไม้, กิ่งไม้ และนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการหมักกับมูลวัวที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่นผสมกับเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในการเกษตรของคนในชุมชน โดยกระจายกันทำในพื้นที่รวม 6 จุด ได้แก่ วัดแม่ขมิง, ป่าช้า, บริเวณในหมู่บ้าน 3 จุด และในป่าชุมชน เราหวังที่จะเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรในอนาคต ทั้งเรื่องการจัดการป่า ปศุสัตว์ พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำ และการเกษตร” นายอัจฉริยะพงษ์ กล่าว

กิจกรรมธนาคารใบไม้

นอกจากนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนมีกุศโลบายในการสร้างป่า ด้วยการสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมในชุมชนใกล้เคียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนที่เห็นผลเชิงประจักษ์ คือ การปลูกกาแฟ จนเกิดการก่อตั้ง เดอะ ปางงุ้น วัลเล่ย์ เป็นวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียงที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ที่ทั้งปลูกกาแฟ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจังหวัดแพร่ และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกกาแฟด้วย ในที่สุดไร่เลื่อนลอยได้พลิกฟื้นมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นและให้ร่มเงาฟูมฟักต้นกาแฟ

Advertisement

“เรามีหัวใจเดียวกัน เพราะเรามีผืนป่าเดียวกัน ไม่มีป่าเราก็อยู่ไม่ได้” นั่นหมายถึง ไฟในใจของคนบ้านแม่ขมิงได้มอดสนิทแล้ว แต่ไฟและใจในการปกป้องรักษายังคงมีอย่างเต็มเปี่ยม