ธนาคารต้นไม้ และเกษตรผสมผสาน ทำได้ไม่จน ที่บ้านหนองหอย สกลนคร

เพื่อนชวนไปชมสวนไม้ประดับ ที่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร (มก. ฉกส.) บริเวณบ้านเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร โดยออกจากตัวเมืองสกลนคร ผ่านสี่แยกบ้านธาตุนาเวง หรือที่เรียกกันว่า “สี่แยกบ้านธาตุ” หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากตัวเมืองสกลนคร เพียง 6 กิโลเมตร ก็ถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวขวา มุ่งหน้าตามถนนสกลนคร-นครพนม ผ่านหน้าสถานีวิทยุกระจายเสียง 909 กองบัญชาการทหารสูงสุด ที่เป็นกระบอกเสียงในการปฏิบัติภารกิจในด้านจิตวิทยา สร้างมวลชนต่อสู้กับภัยคุกคาม ความคิดหรืออุดมการณ์ที่เห็นต่าง ไม่ตรงกัน “คอมมิวนิสต์” ในสมัยนั้น แต่ปัจจุบัน ไม่มีให้เห็น คงเหลือแต่ร่องรอยของอดีต และเลยผ่านทางเข้าสนามบินสกลนคร

นั่งรถผ่านมามองฝั่งซ้ายของถนน มีคลองจากชลประทาน เขื่อนน้ำอูน ทอดยาวตรง บางแห่งคดเคี้ยวไปตามพื้นที่ในไร่นา ไหลผ่าน ลอดสะพานข้ามถนนไปสู่ฟากโพ้น ก่อนลงสู่แหล่งน้ำหนองหาร ทะเลสาบน้ำจืดแห่งอีสาน ปกติทุกปีในพื้นที่ยามนี้จะมองเห็นความเขียวขจีของข้าวกล้า นาปรัง มีหมู่นกปากห่างและนกนา เดินย่องหาอาหาร ขาวไปเต็มทุ่ง

แต่ปีนี้ชาวนาหลายคนไม่ได้ทำนาปรัง เพราะรัฐบาลประกาศว่าน้ำในเขื่อนมีน้อย คนทำนาปรัง ต้องลดการทำนาลง หรือลดพื้นที่ เพราะน้ำอาจไม่พอ จึงส่งผลให้เกษตรกรที่ทำนา ทำไร่ ในช่วงของพืชฤดูแล้งต้องเลิก หันไปทำอย่างอื่นแทน

ขับรถมาได้ประมาณ 15 นาที ก่อนถึงทางแยกเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ก็เลี้ยวซ้าย ที่ที่ป้ายบอก บ้านหนองหอย 7 กิโลเมตร

หลังจากที่รับประทานอาหารเที่ยง อาหารป่าประเภท แกงหน่อไม้ ใส่ผักหวานป่าและเห็ด พร้อม แกงหวาย เพื่อนก็ชวนไปดู “ธนาคารต้นไม้” ที่บ้านหนองหอย ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร โดยเพื่อนนัดไว้กับ คุณสมใจ ครุธตำคำ เจ้าของ “ธนาคารต้นไม้” ไว้ หลังโทรศัพท์นัดแล้วจึงเดินทางเข้าไป ใช้เวลาขับรถเพียง 10 นาที ก็ถึงที่หมาย

พบกับ คุณสมใจ ครุธตำคำ อายุ 52 ปี เจ้าของธนาคารต้นไม้ ทักทายแนะนำตัวทำความรู้จัก

เจ้าของธนาคารต้นไม้ เล่าความเป็นมาว่า มีญาติพี่น้องรวมกัน 4 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน และคุณพ่อเสียตั้งแต่อายุยังน้อย จึงต้องร่วมต่อสู้ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ดูแลน้องๆ ส่งเรียนหนังสือ

หลังแต่งงาน ก็ยึดอาชีพเกษตรกรรม สืบสานมรดกที่พ่อทิ้งไว้ให้ ร่วมกับ คุณแม่ “เทือง ครุธตำคำ” หลังจากทำนาทำไร่มาก็พบว่า การทำเกษตร หากเราปลูกแบบเชิงเดี่ยว จะทำให้เกิดความเสี่ยง จึงได้ศึกษาจากตำราและจำจากสื่อ ทีวี อ่านจากหนังสือ จึงได้หันมาทำเศรษฐกิจแบบผสมผสาน เมื่อมีเวลาและโอกาสก็ไปดูงานในแถบใกล้เคียงนำมาปรับปรุงทำในที่ดินของตนเอง ดังนั้น จึงมีของกิน ทุกอย่างในพื้นที่ ยึดหลัก กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินและจำหน่ายได้ โดยเริ่มทำจริงจัง เมื่อ ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

คุณสมใจ เล่าว่า จากที่เป็นคนชอบการเกษตรและรักชอบต้นไม้ จึงได้พลิกผัน จัดแปลงที่ดินร่วมกับคุณแม่ และต่อมาได้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ ของสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ในปี 2562

ในการจัดพื้นที่ที่ดินของตนเอง

เป็นพื้นที่ทำนา จำนวน 13 ไร่

บ่อน้ำ                           1  ไร่

ป่าเบญจพรรณ 15 ไร่ และทำเป็นธนาคารต้นไม้ พร้อมปลูกป่าไม้ให้ ป่าไม้ นครพนม จำนวน 6 ไร่

ปลูกพืชสมุนไพร จำพวก ตะไคร้หอม  2 งาน

ปลูกกล้วยน้ำหว้ามะลิอ่อง   1 ไร่

เสาวรส                        1  งาน

สมุนไพรพรมมิ              1  งาน

ผักหวานป่า             200   ต้น

และพืชผักผสมผสาน เช่น มะม่วง มะละกอ และพืชยืนต้นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

คุณสมใจ บอกว่า ต้นไม้ที่เป็น “ธนาคารต้นไม้” ได้รับการสนับสนุนจากทาง ธ.ก.ส. และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อ 27 กันยายน 2562 โดยมีสมาชิก 33 ราย แนวทางในการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ป่าอยู่กับคน หรือคนอยู่กับป่า มีสำนึกรักป่า มองเห็นคุณค่าและประโยชน์จากป่า การดูแลป่าที่มีอยู่ และปลูกป่าซ่อมแซมเพิ่ม ในกรณีที่ตัดเพื่อไปทำประโยชน์ เช่น ทำบ้าน ก็ต้องปลูกซ่อมแซมไว้

ประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากสภาพแวดล้อมและป่าเป็นแหล่งที่มีประโยชน์อนันต์มีคุณมหันต์ ทำความชุ่มชื้นแล้ว เจ้าของป่ายังได้ประโยชน์ คือ กรณีต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ธ.ก.ส. ให้ค่าดูแล ต้นละ 3 บาท ต่อปี ในการปลูกเพิ่ม โดยจะแบ่งให้เจ้าของป่า (ต้นไม้) 1 บาท ต่อต้น

ให้เป็นค่าจัดการในกลุ่ม  1 บาท

ค่าวัดต้นไม้  1 บาท

นอกจากนี้ สมาชิกที่ขึ้นทะเบียนกับกลุ่ม สามารถนำมาเป็นหลักประกันกู้เงินได้กับทาง ธ.ก.ส. และในอนาคต ทางกองทุนหมู่บ้านก็จะใช้หลักทรัพย์ต้นไม้กู้ยืมเงินได้เช่นกัน

คุณสมใจ บอกอีกว่า ในฐานะที่ได้รับเกียรติ ให้เป็นกรรมการตรวจแปลงธนาคารต้นไม้ เมื่อหากสมาชิกหรือบุคคลจะเข้ามาเป็นสมาชิกของธนาคารต้นไม้ จะมีคณะกรรมการตรวจแปลง รูปที่ 10 การตรวจวัดระดับน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงสัมพันกับปริมาณฝนตกในพื้นที่ ทำการวัดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปี บริเวณพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าถึงเป็นช่วงหน้าแล้งก็ยังพอมีน้ำใช้สำหรับการเกษตร

ออกไปตรวจ และรับเป็นสมาชิก และตรวจนับต้นไม้ ทำเป็นคิวอาร์โค้ด ติดขึ้นทะเบียน และมีการตรวจแปลงตลอดเวลา ป้องการตัดไม้และป่าด้วย

ในส่วนที่ปลูกป่า รักษาป่าให้กับ ป่าไม้จังหวัดนครพนม จำนวน 6 ไร่ นั้น จะได้ค่าปลูกเพิ่มและรักษาป่า ปีละ 5,000 บาท

ปัญหาและอุปสรรคของที่นี่คือ ที่ดิน เป็นดินลูกรัง มีธาตุอาหารในดินต่ำ แหล่งน้ำ ไม่เพียงพอ หน้าแล้งมีปัญหาขาดแคลนน้ำ จะสังเกตจาก มะละกอ และพืชอื่นๆ ที่ให้ผลไม่เต็มที่ ปัจจุบัน แม้จะใช้น้ำบาดาลก็ไม่เพียงพอ แต่หากทำเป็นหรือได้บ่อบาดาลขนาดใหญ่ก็จะทำให้เพียงพอ และต้นไม้ก็ชุ่มชื้นไปด้วย เป็นสิ่งที่ต้องการเร่งด่วนขณะนี้

ป่าที่รักษาไว้

นอกจากนี้ หากรัฐอยากช่วยเกษตรกรจริง ให้มาส่งเสริมเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เช่น การทำปุ๋ยใช้เอง น้ำหมักใช้เอง ตลอดจนตลาดพืชบางชนิดรองรับด้วย เช่น จัดหาและส่งเสริมการกินพืชผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

สำหรับรายได้ ปัจจุบันมาจากการเก็บพืชผักที่ปลูกแบบผสมผสานนำไปขายในตลาด มีรายได้ทุกวัน พอมีพอกิน ไม่ขัดสน ชีวิตอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า อากาศบริสุทธิ์

สิ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีความสำนึกรักป่า มองอย่างมีคุณค่า เพราะป่าไม้มีคุณค่ามหาศาล วันนี้หากไม่มาช่วยกันแล้ว ในอนาคตป่าคงหายากยิ่งขึ้น หากไม่ช่วยกันรักษาป่า ก็คงเป็นตำนานเล่าขานมาถึงแต่รุ่นเราเท่านั้น

สำหรับท่านที่สนใจ หรืออยากศึกษา ธนาคารต้นไม้ของกลุ่ม ติดต่อได้ที่ คุณสมใจ ครุธตำคำ โทร. 088-456-0992

กินได้ ขายได้
น้ำหมักชีวภาพ

………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354