เผยแพร่ |
---|
“ไผ่เป๊าะหวาน” ลำต้นไม่ตรง เป็นไผ่เปลือกบาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำ 6 นิ้ว สูง 8-10 เมตร ปล้องยาวโดยประมาณ 12 นิ้ว เนื้อไม้บาง ลักษณะใบมีสีเขียวเล็กคล้ายหอก ก้านมีสีเหลือง มักพบกระจายพันธุ์ตามชายแดนไทย-พม่า แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก มีบ้างเป็นบางพื้นที่ เป็นต้นกล้าที่มาจากเมล็ด จึงไม่ต้องห่วงเรื่องไผ่จะแก่และตายขุย อยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี หน่อมีขนาดใหญ่เต็มที่ 2.5-3 กิโลกรัม รสชาติหวาน กรอบ ไม่มีเสี้ยน เนื้อเยอะ นิยมนำมาต้มจืด ผัดหน่อไม้ใส่หมู และใส่ในกระเพาะปลา อร่อยอย่าบอกใคร
คุณเฉลิม ยานะวงษ์ เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ เจ้าของไร่ ยานะวงษ์ ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 336 หมู่ที่ 9 ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
คุณเฉลิม ได้เริ่มปลูกไผ่มาแล้วกว่า 7 ปี มีอาชีพเดิมคือ ทำไร่ข้าวโพด แต่เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น บวกกับราคาข้าวโพดไม่ดี คนปลูกเยอะ แรงงานหายาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน คุณเฉลิมจึงเริ่มหันมาปลูกไผ่เป๊าะ โดยให้เหตุผลที่เลือกปลูกไผ่เป๊าะว่า ไผ่เป๊าะมีราคาดี ราคาซื้อขายกันในสวนกิโลกรัมละ 40 บาท ถ้าขยันหน่อยก็นำไปวางขายตามริมถนนแม่สอด ก็จะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งปลูกไผ่เป๊าะมาได้ระยะหนึ่งก็รู้เลยว่า ไผ่เป๊าะไม่ทำให้ผิดหวัง ปลูกแล้วให้ผลผลิตดีเกินคาด แถมมีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย โดยเฉพาะปีนี้ผลผลิตออกมาไม่เยอะ เนื่องจากเจอพิษแล้ง อากาศร้อนจัด ซึ่งถือได้ว่าการปลูกไผ่เพื่อขายหน่อสด และแปรรูปเป็นแผ่น เป็นอาชีพช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับคุณเฉลิมได้เป็นอย่างดี จนในปัจจุบันนี้คุณเฉลิมได้หยุดทำไร่ข้าวโพด และหันมาปลูกไผ่เป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวนับแสนบาทต่อเดือน
ปัจจุบัน ที่สวนของคุณเฉลิม ปลูกไผ่เป๊าะ 300-400 ต้น หรือประมาณ 5 ไร่ และได้มีการขยายพื้นที่ปลูกจนในปัจจุบันมีไผ่เป๊าะทั้งสิ้น 10 ไร่ ให้ผลผลิตดีและราคาสูง โดยที่สวนคุณเฉลิมปลูกไผ่โดยใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะสามารถกำหนดระยะเวลาการปลูกได้ และการปลูกไผ่ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดจะดูแลง่าย ไม่ต้องกังวลว่ารากจะเน่า
ไผ่เป๊าะ นิยมนำมาทำต้มจืด เพราะไผ่เป๊าะมีรสชาติหวาน นอกจากทำแกงจืดอร่อยแล้ว ยังนิยมนำไผ่ เป๊าะไปใส่ในกระเพาะปลา นอกจากไผ่เป๊าะแล้ว ที่สวนของคุณเฉลิมยังปลูกไผ่รวกหวาน แต่ตอนนี้เริ่มจริงจังกับการปลูกไผ่หกยักษ์ โดยเริ่มทดลองปลูกไผ่หกยักษ์มาเป็นระยะเวลา 3 ปี ปลูกบนพื้นที่กว่า 60 ไร่
“ไผ่หกยักษ์ ก็เป็นไผ่อีกชนิดที่น่าปลูก ที่สำคัญไผ่หกยักษ์ดูแลง่ายกว่าไผ่เป๊าะ ให้น้ำเพียง 2 ปีแรก หลังจากนั้นก็ปล่อยได้ ให้ดูแลเรื่องวัชพืชอย่างเดียว แต่ต้องบอกก่อนว่า ไผ่หกยักษ์ จะมีราคาถูกกว่าไผ่เป๊าะ โดยราคาแต่งหัวสด กิโลกรัมละ 7 บาท ถ้าแปรรูปเป็นแผ่น ขายได้ 10 บาท ที่ไร่เราทำได้ตามความต้องการของลูกค้า ถ้าอยากได้หน่อสด เราก็ขาย ถ้าอยากได้แบบแปรรูปเป็นแผ่น เราก็ทำให้ได้” คุณเฉลิม กล่าว
วิธีการปลูกไผ่เป๊าะหวาน
ขุดหลุม กว้าง 50×50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 8×8 เมตร โดยก่อนปลูกให้ใส่ปุ๋ยหมักจากเศษไม้รองพื้น ประมาณ 6-7 กำมือ แล้วใส่ดินผสมไปเล็กน้อย และนำกิ่งตอนลงหลุม เอาดินกลบเป็นอันเสร็จขั้นตอน หลังจากนั้นให้ดูเรื่องปุ๋ย จะใส่ช่วงเดือนธันวาคม เพราะต้องการให้ใบไผ่ร่วงลงมาก่อน เรียกวิธีนี้ว่า แกล้งไผ่
เรื่อง น้ำ…ปลูกไผ่เป๊าะต้องดูแลเรื่องน้ำเป็นสำคัญ เริ่มให้น้ำตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไผ่เป๊าะจะเริ่มให้ผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน ช่วงที่เหมาะกับการปลูกคือช่วงมีนาคม เพราะถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนน้ำเยอะเกินไป จะทำให้รากไผ่เน่า แต่ก็ต้องดูแลเรื่องน้ำให้ดี ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันโดยไม่รดน้ำเลย รสชาติไผ่จะไม่อร่อย
ปลูกไผ่เป๊าะหวาน
เพียง 3 ปี ก็ให้หน่อได้แล้ว
“ไผ่เป๊าะ ตอนจากกิ่งจะเริ่มปลูกเดือนมีนาคม ใช้ระยะเวลาในการปลูก 3 ปี ถึงจะเก็บผลผลิตได้ โดย 1 ปี ไผ่เป๊าะจะให้ผลผลิต 1 ครั้ง โดยใช้ระบบสปริงเกลอร์ในการรดน้ำ เริ่มรดน้ำช่วงเดือนธันวาคม ความถี่ในการรดน้ำให้รดแบบวันเว้นวันจะเหมาะสมที่สุด” คุณเฉลิม กล่าว
เทคนิคการปลูก
ให้ได้หน่อเยอะๆ
คุณเฉลิม บอกว่า การปลูกไผ่ให้ได้หน่อเยอะๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงบังคับให้ใบร่วงให้ไวที่สุด ยิ่งใบร่วงเร็วเท่าไหร่ ยอดจะแทงออกมาใหม่เร็วเท่านั้น เมื่อยอดออกมาใหม่จนครบหมดต้น คราวนี้อีกไม่นานไผ่เป๊าะจะเริ่มให้หน่อ ให้ผลผลิตออกมา นอกจากนี้ คุณเฉลิมยังแนะนำอีกว่า ถ้ามีคนงานก็ให้คนงานตัด หรืออีกวิธีคือใช้สารเคมีพ่น
ไผ่เป๊าะหวาน และไผ่หกยักษ์
นำมาแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง
ไผ่เป๊าะ เหมาะสำหรับนำมาประกอบอาหาร หรือขายหน่อสด จะไม่นิยมนำไปดอง เพราะไผ่เป๊าะจะไม่มีรสขม มีแต่รสหวาน ถ้านำมาดองจะเน่าง่าย จึงไม่นิยมนำมาดอง
แปรรูปไผ่หกยักษ์
“ไผ่หกยักษ์ นิยมแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง ดองปี๊บส่งต่างประเทศ หน่อไม้ที่ขายดีที่สุดตอนนี้คือ หน่อไม้ดอง ทำจากไผ่หกยักษ์ ส่งไปที่ตลาด มีเท่าไหร่เขารับหมด” คุณเฉลิม กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจปลูก
ไผ่เป๊าะหวาน เป็นอาชีพ
คุณเฉลิม บอกว่า มีพื้นที่เพียง 1 ไร่ ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้แล้ว และการปลูกไผ่ยังใช้เงินในการลงทุนน้อย กิ่งไผ่ตอน ราคาเพียง 40 บาท 1 ไร่ ปลูกได้ 30-36 ต้น ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 1,200-1,500 บาท เท่านั้น ถือว่าปลูกแล้วคุ้มในระยะยาว แต่หากท่านใดอยากปลูกไผ่เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ คุณเฉลิมแนะนำให้ปลูกในพื้นที่ ประมาณ 5 ไร่ และในระหว่างที่รอไผ่โต ช่วง 1-2 ปีแรก เราสามารถปลูกพืชแซมในสวนไผ่ได้อีกด้วย ส่วนพืชที่เหมาะในการปลูกเป็นพืชแซมสวนไผ่คือ มะละกอ ถั่ว หรือจะปลูกข้าวโพดแซมร่องกลางยังได้ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้ 2 ต่อ เลี้ยงครอบครัวได้สบายๆ และหากดูแลไผ่ดีๆ ปลูกบนพื้นที่ดีๆ ไผ่กอหนึ่งสามารถให้หน่อได้ถึง 10-20 กิโลกรัม เลยทีเดียว
“ไผ่เป๊าะ ราคาดีก็จริง แต่ต้องหมั่นดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าดูแลไม่ดี ไผ่เป๊าะจะออกหน่อในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะออกชนกับหน่อไม้ป่า จะทำให้ไผ่เป๊าะราคาตก” คุณเฉลิม กล่าว
เข้าร่วมโครงการ
สร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนว
พระราชดำริสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คุณเฉลิม ได้เข้าร่วมโครงการ สร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีรายละเอียดอำเภอที่ร่วมโครงการดังนี้ คืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย อำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอแม่แจ่ม และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยโครงการได้มีการสนับสนุนกล้าไม้ป่า และมีพี่เลี้ยงแนะนำในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ
“ที่หมู่บ้านผมมีเป้าหมายคือ ให้ชาวบ้านปลูกไผ่ บุก ไว้เป็นพืชชั้นต่ำเพื่อคลุมดิน และในระหว่างที่รอไผ่โตยังสามารถปลูกถั่วมัน ถั่วแขก ขายได้ มีตลาดรับซื้ออยู่แล้ว เมื่อไผ่โตคลุมพื้นที่ เราสามารถปลูกกระชาย ขมิ้น ไพล เพื่อนำมาอบแห้งส่งขายทำเป็นเครื่องต้มยำได้อีกด้วย ซึ่งคิดว่าวิธีนี้จะสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้าน และยังสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขตพื้นที่ป่าไม้ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่บุกรุกเพิ่มได้อีกด้วย” คุณเฉลิม กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจกิ่งพันธุ์ไผ่ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมในการปลูกไผ่ สามารถติดต่อ คุณเฉลิม ยานะวงษ์ ได้ที่ บ้านเลขที่ 336 หมู่ที่ 9 ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือ โทร. 087-849-8568 คุณเฉลิม ยินดีให้คำปรึกษา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559