“เกาะนาง” นางโดย หรือ ยมโดย ตำนานเรื่องเล่าในอ่าวไทย

ความเป็นมาของเกาะนาง, ยมโดย หรือ เกาะนางโดย ตามที่เคยรู้จักมักคุ้นกันนั้น มีเรื่องราวเป็นตำนาน เล่าขานกันมานาน โดยเฉพาะในแถบปากพนัง กล่าวกันว่า นางโดยถูกลอยแพมาจากผืนทะเลที่ห้อมล้อมพื้นที่ผืนดิน อันเป็น ตำบลบ่อน้อย อำเภอปากพนัง ในปัจจุบัน ซึ่งนางโดยลอยมาติดอยู่บริเวณผืนดินแห่งนี้ นางโดยเป็นลูกของตาม่องล่ายกับแม่รำพึง ตาม่องล่ายเป็นคนจีนมีเชื้อสายจีน เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เหมือนกับคนจีนอีกหลายกลุ่ม ต่างอพยพโยกย้ายถิ่น สมัยนั้น ซึ่งถือว่ากรุงสยามเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะมาตั้งรกราก เข้ามาทำมาหากิน คนจีนโพ้นทะเลได้เดินทางกันมาด้วยเรือสำเภา หรือเรือใบ ตาม่องล่ายก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ได้มาแต่งงาน อยู่กินกับแม่รำพึง หญิงสาวชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผืนทะเล เรียกกันว่า “อ่าวแม่รำพึง”

เขาตาม่องล่าย ยืนตระหง่านอยู่กลางทะเลใกล้กับอ่าวแม่รำพึง

ต่อมา ตาม่องล่ายยึดอาชีพเป็นพ่อค้าของป่า ซื้อดีหมี ดีหมูป่า หนังสัตว์ต่างๆ เดินทางไปขายทั่วราชอาณาจักรสยาม ต่อมา นางรำพึง ได้กำเนิดลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อนางหรือนางโดย ครอบครัวตาม่องล่ายก็ยังดำเนินอาชีพค้าขายเรื่อยมา

หาดอ่าวแม่รำพึง

วันหนึ่งตาม่องล่ายมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศจีนอีกครั้ง ก่อนที่ตาม่องล่าย จะออกเดินทางได้ซื้อหนังสัตว์ไปจำนวนหนึ่งและได้สั่งเสียกับนางรำพึงผู้เป็นภรรยาว่า นางโดย ซึ่งเป็นลูกสาวของเรานั้นถ้ามีใครมาสู่ขอ อย่ายกให้โดยเด็ดขาดโดยเฉพาะคนไทย โดยให้เหตุผลว่าคนไทยไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนใหญ่มีนิสัยชอบเล่นนกกรงหัวจุก กินน้ำกระท่อม เล่นการพนัน เล่นวัวชน เล่นสิบแต้ม เล่นดำมี่ เล่นนกเขา เป็นต้น ก่อนจากไป ตาม่องล่ายยังกล่าวเน้นอีกว่า การเดินทางกลับประเทศจีนในครั้งนี้จะหาหนุ่มชาวจีนมาเป็นคู่ครองนางโดยเอง

สะพานรำพึง

หลายปีผ่านไป ตาม่องล่ายมิได้ติดต่อสื่อสารอย่างใดกลับมาหานางรำพึงเลย ทำให้นางรำพึงนึกคิดขึ้นมาว่า สามีของนางอาจจะเสียชีวิตที่ประเทศจีนแล้วก็เป็นได้ ในช่วงเวลานั้นได้มีชายไทยซึ่งเป็นชาวประมงมาสู่ขอนางโดย แม่รำพึงก็ได้ตอบตกลงไป โดยลืมคำสั่งเสียที่ตาม่องล่ายได้สั่งเอาไว้ กำหนดให้มาแต่งงานกันในวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งเป็นวันดี

เขาช่องกระจก อยู่ริมอ่าวเมืองประจวบคีรีขันธ์

ในตำนานเล่ากันว่า ในวันนั้นเองตาม่องล่ายก็ได้เดินทางกลับมาจากจีน ขณะเดียวกัน ตาม่องล่ายก็ได้พาชายชาวจีนมาด้วย เพื่อที่จะให้แต่งงานกับนางโดยตามคำสั่งเสียที่ได้ให้ไว้กับนางรำพึง เป็นเหตุให้ขบวนขันหมากของทั้ง 2 ฝ่ายชนกัน ตาม่องล่ายโกรธมาก เอ่ยขึ้นว่านางโดยเป็นลูกสาวของตนเองไม่ยกให้ใครทั้งนั้น จึงทำให้ขบวนขันหมากของทั้ง 2 ฝ่าย แตกกระเจิง ตาม่องล่ายจึงโยนขันหมากทิ้งทั้งหมดด้วยความโกรธ ขันหมากได้ลอยไปตกที่จังหวัดพังงา ที่ “เขาหลัก” ส่วนที่เป็นหัวขันหมากจำพวกขนมซาลาเปา วุ้น ได้โยนทิ้งลงไปในทะเลอีกเช่นกัน ให้ท้องทะเลเกิดเป็นพวกสาหร่ายต่างๆ จำนวนมาก

ศาลศักดิ์สิทธิ์ริมอ่าวแม่รำพึง

หลังจากนั้น ตาม่องล่ายก็ได้ขับไล่นางโดยให้ออกจากเกาะ ด้วยการลอยแพโดยให้มีผู้ชาย 2 คนมาช่วยกันดูแล การลอยแพครั้งนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้นางโดยลอยมาติดอยู่ที่อำเภอปากพนัง กลายป็น “เกาะนาง” หรือ “เกาะนางโดย” ปัจจุบันจะเห็นเป็นภูเขาเล็กๆ ด้านในภูเขาเป็นรูลึก อุปกรณ์ สิ่งของที่เป็นเครื่องขันหมากทั้งหลายในวันนั้น ถูกตาม่องล่ายขว้างปาลงในทะเล มีคนเคยพบทั้ง ถ้วย จาน ชาม ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว พบเฉพาะร่องรอย ถ้วย จาน ชาม ที่แตกเป็นเศษกระเบื้อง กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด

วนอุทยานเขาตาม่องล่าย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ยังมี ตำนานเขาตาม่องล่าย อีกตำนานหนึ่ง เล่าสืบทอดกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า นางรำพึงเป็นภรรยาของตาม่องล่าย เช่นเดียวกัน รวมถึงลูกสาว แต่ชื่อ “ยมโดย” ทุกชื่อมีความคล้ายใกล้เคียงหรือชื่อเดียวกัน จึงใคร่หยิบยกมาเทียบเคียง เพื่อให้เห็นถึงการแพร่กระจายของเรื่องเล่า

ตำนาน ตาม่องล่าย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านอ่าวน้อย มีหัวหน้าครอบครัวคือ ตาม่องล่าย และมีภรรยาคือ รำพึง รวมถึงลูกสาวคือ ยมโดย ซึ่งความงามของยมโดย ก็เป็นที่เลื่องลือกันในหมู่ชาวประมงและพ่อค้า ที่เข้ามาค้าขายในอ่าวน้อย ในขณะเดียวกัน เมืองเพชรบุรี ก็มีเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น เจ้าเมืองมีบุตรชายคือ เจ้าลาย ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ความงามของยมโดย เช่นกัน จึงวางอุบายปลอมตัวเป็นชาวประมง มาขายปลาที่บ้านอ่าวน้อย เพื่อที่จะได้ชมโฉมของยมโดยสักครั้ง เจ้าลายได้รู้จักกับแม่รำพึง เพราะความเป็นคนมีสัมมาคารวะสุภาพอ่อนน้อม เป็นที่ถูกใจแม่รำพึงจึงอนุญาตให้เจ้าลายและยมโดยไปมาหาสู่กัน แต่ตาม่องล่ายดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับนางรำพึงนัก พยายามขัดขวางยมโดยและเจ้าลายทุกวิถีทาง

บ้านเรือนปลูกอยู่ริมอ่าวแม่รำพึง

อย่างไรก็ดี ความรักของยมโดยและเจ้าลายเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น เมื่อมีสำเภาจีนเข้ามาค้าขายและทอดสมอที่หน้าบ้านของตาม่องล่าย เจ้าของเรือเป็นถึง เจ้ากรุงจีน ผู้ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของยมโดยเช่นกัน เจ้ากรุงจีนจึงตีสนิทกับตาม่องล่าย อันเป็นเหตุให้แม่รำพึงไม่พอใจ มีปากเสียงกับตาม่องล่ายบ่อยครั้ง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น นางรำพึงจึงคิดแผนการให้เจ้าลาย ส่งขันหมากมาสู่ขอนางยมโดย แม่รำพึงก็รับขันหมากไว้โดยไม่ให้ตาม่องล่ายรู้ ในทำนองเดียวกันตาม่องล่ายก็คิดแผนให้ เจ้ากรุงจีนส่งขันหมากมาสู่ขอยมโดย ตาม่องล่ายก็รับขันหมากเอาไว้โดยไม่ให้แม่รำพึงรู้เช่นกัน

เมื่อถึงวันนัดหมาย บังเอิญเป็นวันเดียวกัน ขบวนขันหมากของเจ้าลายและเจ้ากรุงจีนก็เข้ามา โดยที่เจ้ากรุงจีนเข้ามาทางด้านใต้อ่าวน้อย ส่วนเจ้าลายมาทางด้านเหนือของอ่าวน้อย จนสร้างความตกตะลึงให้ทั้งสองฝ่าย ทำให้ตาม่องล่ายและแม่รำพึง โกรธแค้นถึงกับขว้างปาสิ่งของในขบวนขันหมากใส่กัน จนกลายเป็นตำนานของสถานที่ต่างๆ ดังนี้

ก้อนหินน้อยใหญ่ที่เล่ากันว่าเป็นเครื่องขันหมากของฝ่ายเจ้ากรุงจีนและเจ้าลายที่กระจายลอยมาติดที่ชายฝั่ง

แม่รำพึงฉีกหมวก 1 ใบ ขว้างใส่ตาม่องล่าย แต่ตาม่องล่ายหลบทัน หมวกจึงตกไปที่อ่าวเกาะหลัก หรืออ่าวประจวบฯ และกลายเป็น “เขาล้อมหมวก” ส่วนตาม่องล่าย ก็คว้ากระบุงขว้างใส่แม่รำพึง แต่ไม่ถูก กระบุงลอยไปตกทะเลตะวันออก กลายเป็น “เกาะกระบุง” จังหวัดตราด แม่รำพึงจึงเอางอบขว้างใส่คืน และไปตกที่แหลม กลายเป็น “แหลมงอบ” จังหวัดจันทบุรี ตาม่องล่าย ก็คว้าสากตำข้าวขว้างใส่แม่รำพึงอีก สากทะลุเขากลายเป็น “เกาะทะลุ” อำเภอบางสะพานน้อย และสากนั้นก็ลอยไปตกทะเล กลายเป็น “เกาะสาก” จังหวัดตราด

นอกจากนี้ ในบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในขบวนขันหมากที่ยกมา ตาม่องล่ายก็ขว้างออกไป ทุกทิศ ทุกทาง ทุกชิ้น กลายเป็น “เขาขันหมาก” หรือ “เขาสามร้อยยอด” อำเภอสามร้อยยอด ส่วนขนมจีนก็เป็น “สาหร่ายทะเล” หมากพลูก็เป็น “หอยหมากพลู” กระจกก็กลายเป็น “เขาช่องกระจก” จานก็กลายเป็น “เกาะจาน” ตะเกียบก็กลายเป็น “เขาตะเกียบ” แก้วแหวนเงินทองก็กลายเป็นเปลือกหอยรูปร่างสวยงามตามชายหาด ปูก็กลายเป็น ปูหิน เป็นต้น

หลังจากนั้น แม่รำพึง ก็เดินไปนอนรำพึงถึงเคราะห์กรรมของตน จนกลายเป็น “เขาแม่รำพึง” ใน อำเภอบางสะพาน ส่วนตาม่องล่ายเมื่อเห็นลูกสาวก็โกรธมากจึงจับลูกสาวฉีกเป็น 2 ซีก ซีกหนึ่งขว้างไปทางบ้านเจ้าลายที่อยู่ทางเหนือ จึงกลายเป็น “เขานมสาว” อยู่ชายทะเลบ้านบางปู อำเภอสามร้อยยอด อีกซีกก็ขว้างไปทางเมืองเจ้ากรุงจีน ทางด้านทิศตะวันออก กลายเป็น “เกาะนมสาว” จังหวัดจันทบุรี เจ้าลายเองก็เสียใจ เดินกลับบ้านตรอมใจตาย กลายเป็น “เขาเจ้าลาย” ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนตาม่องล่ายก็เสียใจ ไปนั่งดื่มเหล้าที่เชิงเขาริมทะเลจนตาย และกลายเป็น “เขาม่องล่าย” หรือ “เขาตาม่องล่าย” หมู่บ้านอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับประวัติความเป็นมาของเกาะนางโดยนั้น มีตำนานเก่าแก่เล่ากันเป็นมุขปาฐะว่า เมื่อครั้งพระศรีธรรมาโศกราช พระศรีธรรมาโศกราชจันทภานุ พระศรีธรรมาโศกราชพงศ์สาสุระ ในสมัยพระศรีธรรมาโศกราชพงศ์สาสุระ แขกชวา ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เล่าขานกันเป็นสองตำนาน ตำนานแรกเล่ากันว่า พวกแขกชวาได้เอาลูกสาวที่มีความงดงามมาเป็นอุบายหลอกล่อเจ้าเมืองนครให้ลุ่มหลง เจ้าเมืองนครก็อยากได้ภรรยาเป็นชาวแขกขาวขึ้นมา แต่เสียรู้แก่แขกชวาสามารถได้จับตัวเจ้าเมืองนครมาเป็นเชลยได้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องส่งส่วยไข่เป็ดให้แขกชวา อีกตำนานหนึ่งนั้นเล่าว่า ได้มีโรคห่าลงที่เมืองนคร ทำให้ภรรยาของเจ้าเมืองนครต้องหนีไปลงทะเลขณะตั้งครรภ์ ได้นำทหารส่วนหนึ่งเป็นอารักขาโดยมี พังพกาฬ ทหารเอกของพระศรีธรรมาโศกราช ได้เป็นผู้นำ ได้นำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ลงเรือไปด้วย เรือแล่นมาจนได้พบเกาะหนึ่ง คือ “เกาะนาง” หรือ “เกาะนางโดย” ได้มาอาศัยอยู่บนเกาะ เอาของใช้ เครื่องครัวต่างๆ ไปไว้ใช้สอยด้วย จนภรรยาเจ้าเมืองได้คลอดลูก

ในที่สุดก็หนีโรคห่าไม่ได้ล้มตายทั้งหมด จึงเป็นตำนานของเกาะนาง คือมีนางร้องไห้ คร่ำครวญ เมื่อมีคนพายเรือไปที่เกาะนาง ก็มักจะได้ยินเพลงกล่อมลูก แล้วคนที่เกาะนางได้เขียนคำคล้องจองบทหนึ่งเป็นคำโบราณว่า “เมืองคอนจะได้ยาก บางจากจะได้ทุกข์ ปากพนังจะสนุก แหลมหลุมพุกจะเป็นวัง” ภายหลังได้มีคนมาเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้นว่า เมืองคอนจะไร้ยาก บางจากจะได้ทุกข์ เพราะบางจากติดเขตเมืองนครศรีธรรมราช พอข้ามสะพานก็จะติดเขตปากพนัง บางจากอยู่ฝั่งนคร ส่วนปากพนังทางฝั่งทิศตะวันออกจะเป็นเกาะทั้งหมด เช่น เกาะฝ้าย เกาะเพชร เป็นต้น ส่วนเกาะนางก็เป็นเกาะหนึ่งเช่นกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นภูเขาอยู่กลางทุ่งนา เนื่องด้วยที่นาปัจจุบันเคยเป็นพื้นทะเลมาก่อน ซึ่งพบร่องรอยภาพเขียนโบราณเป็นทะเล จนเล่าขานกันติดปากว่า ถ้ามีลูกสาวอย่าเอาคนปากพนังเป็นสามี เพราะเขาว่าคนปากพนัง เป็น “คนนอก” คนนอกก็คือคนข้างบน (ต้นน้ำ) เป็นพวกติดทะเล ติดภูเขานั้นเอง กลุ่มที่อยู่ติดภูเขายังแบ่งออกเป็น 2 พวกอีกเช่นกัน เป็นพวกหน้าภูเขา กับหลังภูเขา พวกภูเขา และพวกทะเล ก็มักจะเป็นเพื่อนสนิทสนมกลมเกลียวกันจึงมีถ้อยคำคุ้นชินหู เรียกว่า “เกลอเขา เกลอเล”

วัดสุขุมเป็นตลาดน้ำที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ในสมัยก่อนไม่ได้มีการซื้อขาย แต่จะเอาสิ่งของมาแลกกัน เช่น เอากล้วยมาแลกกับปลา แลกกันไปแลกกันมาก็รู้จักสนิทกัน จนกลายเป็นคนรักกันในที่สุด ทำให้แขกชวาได้เป็นคู่ครองกันกับชาวทะเล

อาจารย์โสพล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สายน้ำปากพนังเป็นสายน้ำที่ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือ ซึ่งกลับกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน น้ำจะไหลทางทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีผู้เคยพิสูจน์มาแล้วว่า ปากแม่น้ำเจ้าพระยากับปากแม่น้ำปากพนังเป็นแนวเส้นตรง เล่ากันว่า หากขับเรือปิดตา สามารถเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ได้ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ

อีกประการหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายน้ำปากพนัง กล่าวคือ ตะกอนที่มากับน้ำที่ไหลมาชนกับทะเล ทำให้เกิดสันดอน ส่งผลให้บริเวณพื้นที่ปากพนังมี 3 น้ำ คือ น้ำฝน น้ำทุ่ง และน้ำท่า ถ้าน้ำทะเลหนุนขึ้นมา เมื่อใดก็ตาม น้ำที่อยู่ในทุ่ง ประมาณ 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นน้ำที่เก็บสะสมรวมมาจาก 22 อำเภอ มารวมกัน เมื่อมาได้น้ำฝนที่ตกลงมาสักราว 2 วัน น้ำก็จะท่วมเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี จากตำนาน นางโดย เกาะนาง หรือยมโดยก็ตาม เป็นเรื่องเล่าที่ร้อยเรียงเล่าขานแพร่หลายกัน จนกลายมาเป็นนิทานที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช เรื่องราวนิทานก็มีเนื้อหาสาระสอดคล้อง ทำนองเดียวกัน ทั้งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่อำเภอปากพนังซึ่งต่างเป็นพื้นที่ชายทะเล อยู่ในเขตบริเวณอ่าวไทย เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของผู้คนทั้งสองพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก ต่างสร้างเรื่องราวให้สอดคล้องกับชื่อสถานที่หลายแห่ง ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักฐาน ชื่อบ้านนามเมือง หรือชื่ออื่นๆ ล้วนมีที่มาไม่แตกต่างกัน ชวนให้ขบคิดเป็นกรณีศึกษา ถึงจินตนาการของผู้คนในยุคนั้น ช่างปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน สามารถกำหนดข้อมูลและชื่อได้อย่างลงตัว แม้ว่าประเด็นจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สาระแจ้งชัดยิ่งนัก