เกษตรกรขอนแก่น ปลูกข้าวโพดหลังนา สร้างรายได้ สู้ภัยแล้ง

พื้นที่บ้านทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ใต้เขื่อนอุบลรัตน์ แต่ในพื้นที่กลับไม่มีน้ำใช้ เพราะพื้นที่อยู่สูงกว่าแหล่งน้ำ และไม่มีระบบส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งภายหลังได้แก้ไขโดยการทำสถานีส่งน้ำ ฝาย และวางระบบท่อเพื่อให้สามารถส่งน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรได้

เมื่อในพื้นที่มีน้ำแล้ว จึงเริ่มส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา อาทิ ฟักทอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน โดยเอาตลาดนำ ดึงผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย มีมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทมาให้ความรู้ และบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อ ข้าวโพดหวานจึงเป็นพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจ

ข้าวโพดหวาน ใช้ระยะเวลาในการปลูก 70-90 วัน การดูแลรักษาไม่ยาก ให้น้ำอย่างพอเหมาะ เมื่อได้ผลผลิตข้าวโพดสามารถขายได้ทุกส่วน ส่วนแรก ขายฝักส่งบริษัทรับซื้อจากจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะต้องมีขนาด ฝักละ 3 ขีด ขึ้นไป ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนที่สอง ฝักตกเกรดต้มขายในชุมชน และ ส่วนที่สาม สับลำต้นขาย ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีสหกรณ์โคนมขอนแก่น มารับซื้อ เพื่อนำไปเลี้ยงโค เพราะต้นข้าวโพดสับเมื่อให้โคนมกินจะมีโปรตีนสูง น้ำนมโคจะดี

ปัจจุบัน เป็นปีที่ 4 แล้ว ที่มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานหลังนา มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 104 คน พื้นที่ 238 ไร่ และได้รวมตัวกันในรูปกลุ่ม มีการหักเงินส่วนต่างจากการขายข้าวโพดแบบส่ง 40 สตางค์ เพื่อบริหารจัดการในกลุ่มซื้ออุปกรณ์ต่างๆ และค่าความชื้น

คุณประดิษฐ์ หนองผือ ประธานกลุ่มปลูกพืชหลังนา ได้เล่าให้เราฟังว่า เดิมทำนาปรัง ในพื้นที่ 6 ไร่ ขายได้ประมาณ 30,000 กว่าบาท โดยยังไม่หักต้นทุน ซึ่งอาจจะไม่ได้กำไรเลย จึงได้หันมาทดลองปลูกข้าวโพดหวานที่ดูแลง่ายกว่า ใช้น้ำน้อย ขายได้ทุกส่วน และยังมีตลาดที่แน่นอน จากการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรบางส่วน ซึ่งได้ผลดี เลยเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดหวานทั้ง 6 ไร่ คาดว่าพอครบรอบ 3 เดือนนี้ จะได้กำไร ประมาน 70,000 บาท

คุณประดิษฐ์ เล่าให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ข้าวนาปรัง กับข้าวโพดหวาน ว่า นาปรังราคาไม่คงที่ ต้นทุนสูง แต่จำเป็นต้องทำ หักลบแล้วอาจขาดทุนมากกว่ากำไร ส่วนข้าวโพดหวานดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย ขายได้ทุกส่วน มีตลาดแน่นอน