เที่ยว “สวนตาจรูญ จวนเจริญ” แหล่งผลิตมะยงชิดเลื่องชื่อของนครนายก

ฤดูมะยงชิดมาถึงแล้ว (เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) … คนรักผลไม้ต้องห้ามพลาด มาเลือกซื้อ เลือกชม และชิมมะยงชิด มะปรางหวาน ผลไม้ขึ้นชื่อ ของดีเมืองนครนายกกันได้ถึงแหล่งผลิต เก็บสดๆ จากสวนมาชิมกันได้ รสชาติถูกปาก ถูกใจ ค่อยควักกระเป๋าซื้อติดมือกลับบ้าน แค่เดินทางจากกรุงเทพฯ มาง่ายๆ วันเดียวก็เที่ยวได้หลายสวน

คุณปิยภัทร เจียรนัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ และ คุณถาวร ชูพูล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก ได้กรุณาสละเวลาพาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชม “สวนตาจรูญ” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “สวนตายาย” แหล่งผลิตมะยงชิดเลื่องชื่อของจังหวัดนครนายก

ปลูกพืชผสมผสาน สร้างรายได้งาม

(จากซ้ายไปขวา) คุณปิยภัทร เจียรนัย ลุงจรูญ จวนเจริญ และ คุณถาวร ชูพูล

“สวนตายาย” ของ ลุงจรูญ และ คุณป้าจริยา จวนเจริญ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 086-139-6446 ที่นี่ปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน ประมาณ 300 ต้น มีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 2 ตัน สวนตายายได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาช็อป ชม ชิม มะยงชิด มะปรางหวาน กระท้อนห่อ พันธุ์อีล่า และพันธุ์ปุยฝ้าย ที่ปลูกภายในสวนแห่งนี้ตลอดทั้งปี

ลุงจรูญ จวนเจริญ

เดิมทีลุงจรูญทำนาเป็นอาชีพหลักมาก่อน แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ในปี 2538 ทำให้นาข้าวเสียหายอย่างหนัก ต่อมาลุงจรูญได้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก ได้กู้เงิน ธ.ก.ส. จำนวน 130,000 บาท มาใช้ปรับพื้นที่นา 10 ไร่ เป็นพื้นที่สวน ปลูกไม้ผล เช่น มะยงชิด มะปรางหวาน แบบยกร่อง ปรากฏว่า อาชีพทำสวนถูกโฉลกกับลุงจรูญ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ครอบครัวมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง จึงปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน เป็นรายได้หลักจนถึงทุกวันนี้

ลุงจรูญ โชว์การเก็บผลมะยงชิด

คุณปิยภัทร และ คุณถาวร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สวนตายาย เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่วางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม ประกอบด้วย พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 1 ไร่ พื้นที่ทำนา จำนวน 12 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลมะยงชิด จำนวน 9 ไร่ ที่เหลือ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกกระท้อน และไม้ผลอื่นๆ เช่น มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ฯลฯ

ลุงจรูญ นับเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีผลงานโดดเด่นหลายด้าน เช่น การประดิษฐ์เครื่องห่อกระท้อนแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การขยายพันธุ์พืชประเภทมะยงชิด และกระท้อน การผลิตน้ำหมักชีวภาพและฮอร์โมนบำรุงพืช เลี้ยงปลาเบญจพรรณในร่องสวน ฯลฯ เนื่องจากสวนแห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน จึงมีน้ำสำหรับใช้เพื่อทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

Advertisement
มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ติดผลดกเต็มต้น

สวนตายาย ปลูกมะยงชิดแบบยกร่อง สามารถควบคุมความชื้นได้ดี โดยช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม เมื่อถึงต้นฤดูหนาว ก็ระบายน้ำในร่องออกเพื่อให้ดินแห้งเร็ว ตัดหญ้ากำจัดวัชพืช ทำให้พื้นดินแห้งเมื่อกระทบกับอากาศหนาว มะยงชิดจะแทงช่อดอกออกมาให้เห็น โดยทั่วไปตั้งแต่วันดอกบานจนถึงมะยงชิดผลสุกเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 75 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้นเป็นหลัก

มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า เกรดพรีเมี่ยม 12 ผล ต่อกิโลกรัม ที่ตลาดต้องการ

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี หลังจากเปลี่ยนอาชีพการทำนา มาทำสวนเกษตรผสมผสาน ลุงจรูญตั้งใจทำสวน จนประสบความสำเร็จ ในเส้นทางอาชีพ สามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ และประสบความสำเร็จทางการตลาด แถมมีจิตสาธารณะแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้สนใจแบบไม่หวงวิชา ทำให้ลุงจรูญได้รับการคัดเลือกให้เป็น เกษตรกรดีเด่นภาคตะวันออก และเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2552

Advertisement

ปลูกดูแลสวนมะยงชิด

ลูกค้าซื้อมะยงชิดหลายสิบชะลอมเป็นของฝากผู้ใหญ่

โดยธรรมชาติแล้ว มะยงชิด เป็นไม้ผลที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวนาน 100 ปี ชอบอากาศเย็น ดินร่วนซุย น้ำพอดี มีแสงแดดส่องถึง หลังปลูก ต้องดูแลต้นมะยงชิดเป็นพิเศษในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้น คอยดูแลตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อรับแสงแดดอย่างเหมาะสม ดูแลให้ปุ๋ย ให้น้ำตามช่วงเวลา ต้นมะยงชิดก็จะเจริญเติบโต ผลิดอก ออกผลในช่วงฤดูเป็นประจำทุกปี

ในแต่ละปี สวนตายาย แบ่งการดูแลต้นมะยงชิดเป็น 3 ระยะ ระยะละ 4 เดือน ได้แก่

ลุงจรูญ ปลูกมะยงชิดแบบยกร่อง

ระยะที่ 1 หลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม จะเร่งบำรุงต้นมะยงชิดให้สมบูรณ์ด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว เสริมรากด้วยปุ๋ย สูตร 16-16-16 และปุ๋ยน้ำอินทรีย์ชีวภาพ

ระยะที่ 2 ช่วงต้นมะยงชิดสะสมอาหารก่อนออกดอก เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-เดือนพฤศจิกายน ระยะเวลา 4 เดือน ต้องให้ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เสริมด้วยปุ๋ยน้ำอินทรีย์ชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่ ฉีดให้ทางใบเพื่อเป็นฮอร์โมนให้พลังงานก่อนออกดอก

ระยะที่ 3 ช่วงติดดอกติดผล เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม เก็บผลผลิตขายหมด ใช้ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยคอก เสริมด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 จะทำให้ได้มะยงชิดผลใหญ่ คุณภาพด

25 ปี อาชีพทำสวนมะยงชิด

(ซ้าย) มะยงชิดตกเกรด ผลเหี่ยว (ขวา) มะยงชิดคุณภาพดี เนื้อแน่น ลูกโต

ประสบการณ์ตรงจากการทำสวนมะยงชิดมานานกว่า 25 ปี ทำให้ลุงจรูญเรียนรู้ว่า ช่วงเดือนตุลาคม หากอากาศเริ่มเปลี่ยน อุณหภูมิลดลงถึง 20-21 องศาเซลเซียส เมื่อไร อีกประมาณ 10-15 วัน อากาศเย็นหายไป เปลี่ยนเป็นอากาศอุ่น ต้นมะยงชิดจะเริ่มแทงช่อดอกออกมาทันที จังหวะนี้ต้องใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรฮอร์โมนฉีดพ่นเป็นอาหารเสริมทางใบ เพื่อบำรุงดอก เสริมด้วยปุ๋ยเกล็ดทางใบ สูตรตัวกลางสูงบ้าง ฉีดประมาณ 2 ครั้ง ระยะฉีด 7-10 วัน ต่อครั้ง เมื่อมะยงชิดเริ่มแทงช่อดอกออกมาประมาณ 1-2 เซนติเมตร ต้องระวังแมลงปากดูดประเภทเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ไรแดง แมลงหวี่ขาว เข้ามาดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้ง ลุงจรูญใช้สารสะเดาฉีดพ่นแมลงศัตรูพืชเหล่านี้

ช่วงที่ต้นมะยงชิดแทงช่อดอก แบ่งการพัฒนาออกเป็น 6 ระยะ ได้แก่

  1. แทงช่อติดเป็นเดือยไก่ ประมาณ 1-2 เซนติเมตร จังหวะนี้ หากอากาศหนาวกำลังดี ไม่หนาวจัดเกินไป ควรบำรุงฮอร์โมนเพื่อช่วยต้นมะยงชิดให้ผลผลิตที่ดี
  2. ระยะเหยียดต้นหนู ช่อดอกจะเหยียดกางออก
  3. ระยะแย้มบาน ดอกจะทยอยบานทั้งต้น ระยะนี้ห้ามฉีดยาใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ต้นมะยงชิดได้ผสมเกสรอย่างเต็มที่
  4. กลีบดอก จังหวะนี้ ควรฉีดยาไล่แมลงศัตรูพืช
  5. กลีบดอกจะร่วง ให้ฉีดฮอร์โมนบำรุง
  6. กลีบดอกร่วงหมด หากยังร่วงไม่หมด ต้องใช้น้ำฉีดให้กลีบดอกร่วง จากนั้นดอกจะพัฒนาเป็นผลผลิตที่สมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว

ช่วงที่ต้นมะยงชิดแทงช่อดอก ตั้งแต่ระยะ 1-6 จะใช้ระยะเวลาพัฒนาดอก 25 วัน จึงเริ่มติดผลขนาดเล็ก เกษตรกรควรบำรุงด้วยฮอร์โมนทางดิน ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ บำรุงน้ำให้เต็มที่ พอได้เวลา 35 วัน ผลที่ไม่สมบูรณ์จะร่วงหรือไม่ก็แห้งคาขั้ว เป็นช่วงทิ้งผลระยะแรก จากนั้นเรื่อยไปอีกเข้าสู่ 55 วัน ผลจะร่วงเป็นชุดที่สอง เป็นการทิ้งผลอีกครั้ง หากเจอผลร่วงมากๆ ถือเป็นธรรมชาติ เพราะต้นมะยงชิดจะเก็บลูกไว้เท่าที่พอมีกำลังเลี้ยงได้ ไม่ต้องตกใจ คอยบำรุงปุ๋ยให้น้ำเต็มที่ก็พอแล้ว เมื่อต้นมะยงชิดเติบโตสมบูรณ์ จะสลัดผลน้อยลง

มะยงชิด เนื้อกรอบ หวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กินแล้วชื่นใจ

หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว ลุงจรูญจะตัดแต่งกิ่งภายในให้โปร่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ บำรุงต้นอย่างเต็มที่ โดยใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เสริมด้วยปุ๋ยขี้วัว เพื่อให้ต้นแตกใบอ่อนสัก 3 ครั้ง ก่อนเข้าสู่ช่วงการเตรียมต้น ซึ่งตรงกับช่วงปลายฝนต้นหนาวพอดี มะยงชิดจะติดดอกในฤดูต่อไป

งานมะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก

ปัจจุบัน “จังหวัดนครนายก” เป็นแหล่งปลูกมะยงชิดที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน ประมาณ 8,000 ไร่ มีผลผลิตแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 ตัน สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นมากกว่า 500 ล้านบาท ต่อปี มะยงชิดนครนายกมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เมล็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18-22 องศาบิกซ์ จึงได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ชมรมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก ร่วมกับจังหวัดนครนายก โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก จัด “งานมะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก” ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตมะยงชิด มะปรางหวานคุณภาพ รสชาติอร่อย ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งส่งเสริมการตลาดเพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ท้องถิ่น ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ชมการประกวดมะยงชิด มะปรางหวาน มะปรางยักษ์ กิ่งพันธุ์คุณภาพ การประกวดธิดามะปรางหวาน เลือกซื้อมะยงชิด มะปรางหวาน และกิ่งพันธุ์คุณภาพจากชาวสวนโดยตรง เลือกซื้อของดี สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดนครนายก

ผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก โทร. 089-750-5242, 081-762-4082 และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก โทร. 037-311-289