รมช. ธรรมนัส ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

ร้อยเอก ธรรมนัส เชื่อมั่นแล้งนี้เอาอยู่ รุดลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง พร้อมบินสำรวจปริมาณน้ำและพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ด้านกรมฝนหลวงเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลัก ช่วยพื้นที่ภาคเกษตร

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 63 ณ. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ติดตาม การบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง พร้อมให้นโยบายด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมพัฒนาที่ดิน จากนั้นได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์กรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและสถานการณ์น้ำก่อนจะเดินทางไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.คำพราน อ.วังม่วง จ.สระบุรี เพื่อพบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มาคอยต้อนรับกว่า 300 คน

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ค่อนข้างรุนแรงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนของ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า มีปริมาณน้ำใช้การต้นฤดูแล้งรวม 4 เขื่อนหลัก ปี 2562 จำนวน 5,377 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำเป็นอันดับ 2 ในรอบ 20 ปี (จากปี 2558 มีปริมาณน้ำใช้การต้นฤดูแล้ง จำนวน 4,247 ล้าน ลบ.ม.) และมีปริมาณน้อยกว่าปี 2561 จาก 12,840 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากความผันแปรของสภาพอากาศ สภาพการใช้ที่ดินเปลี่ยนไป ขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำ และความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแผนการบริหารจัดการน้ำโดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนมีน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ
ส่วนด้านการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ทางการเกษตร ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลัก รวมถึงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการฝนและน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งมีการเตรียมแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2563 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2. จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3. สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน (เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) 4.จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5. จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามเตรียมความพร้อมในการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ประสานความร่วมมือและข้อมูลจากทุกส่วน ทั้งด้านน้ำเพื่อการเกษตรของพืชทุกชนิด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนและน้ำในแหล่งเก็บกักต่างๆ

“จากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งปีนี้ไปได้อย่างแน่นอน” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2563 ประกอบด้วย 4 แผนหลัก คือ 1.แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า (ลดความหนาแน่นของหมอกควัน และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ โดยส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปยังภาคเหนือและภาคใต้ 2.แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ (บรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร) โดยส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปยังภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3.แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง (สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม โดยส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปยังทุกภูมิภาค และ4.แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ (เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง) โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ระหว่าง วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 – 2 กุมภาพันธ์ 2563 โดยผลดำเนินงานตั้งหน่วย 81 วัน ปฏิบัติการ 16 วัน 76 เที่ยวบิน มีฝนตก 13 วัน แบ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 22 เที่ยว จังหวัดที่มีฝนตกได้แก่ อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก จ.ตาก เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี จังหวัดขอนแก่น 8 เที่ยวบินทำให้ฝนตกใน จ.ขอนแก่น หนองบัวลำภู และอุดรธานี ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม 12.88 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนจังหวัดระยอง จำนวน 40 เที่ยว ทำให้ฝนตกกรุงเทพมหานคร ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรีทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม 12.88 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำดอกกราย 0.67 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.79 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ 0.21ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ 0.04 ล้าน ลบ.ม. และจังหวัดสุราษฎรธานี 6 ครั้งทำให้ฝนตกในพื้นที่นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 5 พฤศจิกายน 2562 สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 3,197.08 ล้าน ลบ.ม. โดยช่วยเหลือได้ใน 59 จังหวัด

ขณะเดียวกัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ และยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยขยับเวลาการเริ่มปฏิบัติการเร็วขึ้นจากเดิมคือวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี

ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมบุคลากรทางการบิน จำนวน 72 นาย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 32 ลำ ได้แก่ CN 1 ลำ CASA 11 ลำ CARAVAN 11 ลำ Super King Air 2 ลำ และ HELICOPTER 7 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ โดยจะมีการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยฯ แบ่งเป็น วันที่ 6-16 กุมภาพันธ์ 2563 เปิดหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 6 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี ใช้อากาศยานรวม 12 ลำ (เครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 8 ลำ เครื่องบินกองทัพอากาศ 4 ลำ)

และเปิดฐานเติมสารฝนหลวง 1 ฐาน ที่ จ. เชียงใหม่ และตั้งแต่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป จะเปิดหน่วยปฏิบัติการฯ ทั้งหมด 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ใช้อากาศยานรวม 29 ลำ (เครื่องบินฝนหลวง 23 ลำ และเครื่องบินกองทัพอากาศ 6 ลำ) โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ที่ จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรี และสงขลา (หาดใหญ่) ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทานสามารถคลี่คลายปัญหาภัยแล้ง ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อพี่น้องประชาชน