ดอกงิ้วแดง มีที่มาสู่อาหารและยาพื้นบ้าน

เข้าหนาว ลมแล้งแห่งกาลเวลาพัดมาเยือน ไร่นาเหลืองอร่ามพร้อมรอรับคมเคียว หนุ่มสาวจับคู่ ปรับทุกข์เพิ่มเติมสุขแก่กันและกัน ดอกงิ้วเบ่งบาน และได้เวลาร่วงจากปลายกิ่งบนต้นสูงใหญ่ หนามโต หมุนละลิ่วลงสู่ดิน แบ่งความอร่อย เป็นอาหารการกิน ที่เป็นความจำเป็นที่คนจำต้องรับ ลิ้มรส ทดลอง เป็นอะไรอีกหลายอย่าง สำหรับชาวบ้านที่รู้จักใช้และกินเป็น หมอพื้นบ้านนำมาเป็นส่วนผสมยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นิยายเรื่องนรกสวรรค์ ยังกล่าวถึง การปีนต้นงิ้ว มีอีกาปากเหล็กคอยจิกตี คนผิดศีลข้อ 3 รู้สึกเสียว

ต้นงิ้ว เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่มาก ลำต้นสูงกว่า 30 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อน เติบโตรวดเร็วช่วงเรือนยอด แตกกิ่งก้านสาขามาก มีหนามแหลมใหญ่ทั่วต้น ชอบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ เป็นไม้ในวงศ์ MALVACEAE วงศ์ย่อย Bombax ceiba L.มีชื่อสามัญ เรียกว่า Cotton Tree ชื่อท้องถิ่นเรียกกันหลายชื่อ ได้แก่ เงี้ยว งิ้วหนาม งิ้วบ้าน งิ้วแดง งิ้วปง งิ้วปงแดง ให้สังเกตชื่อสามัญภาษาอังกฤษ แปลว่า “ต้นฝ้าย หรือ ต้นสำลี” ซึ่งมาจากลักษณะผลผลิตที่ได้จากในฝักงิ้ว ที่มีปุยอยู่ในฝัก สามารถนำมาทำประโยชน์ เช่น ยัดหมอนหนุน หรือนำมาทำใยทอผ้า ฯลฯ ในช่วงหน้าแล้ง ต้นงิ้วจะสลัดใบ ซึ่งเป็นใบประเภทใบรวมประกอบด้วยใบย่อย 4-7 ใบ ใบเป็นมันค่อนข้างหนา ใบย่อยรูปรี ปลายเรียวแหลมเรียงกันคล้ายรูปนิ้วมือ สีเขียว ไม่มีขนก้านสีขาวอมเขียว คราติดดอกเต็มต้น นกเอี้ยง นกเขา นกหัวจุก และนกอีกสารพัด รวมทั้งอีกาปากเหล็กด้วยก็คงมี มารุมตอมดอมดม จิกกินหนอน และทำให้ดอกงิ้วร่วงหล่นตกลงมาสู่พื้นดิน ให้คนเก็บไปเป็นอาหาร ไม่ต้องรอคิวปีนต้นงิ้วไปหาดอกงิ้วแดงที่บนต้น โดนหนามแหลมทิ่มแทงทั่วทั้งตัว

ดอกงิ้ว เป็นผลผลิตจากต้นงิ้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นฝักงิ้ว ดอกงิ้วมี 2-3 สี เช่น เหลือง ส้ม แดง และสีใกล้เคียงก็มีบ้าง เป็นดอกขนาดใหญ่ ดอกบานกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร มี 5 กลีบ มีเกสรซ้อนเรียงกันอยู่ตรงกลาง ออกเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง ช่อละ 3-5 ดอก กลีบดอกแข็งเลื่อมมัน แต่จะเหี่ยวแห้งหดตัว เมื่อร่วงหลุดจากช่อ 3-4 วัน เช่นเดียวกลีบเลี้ยงรูปถ้วยมนแข็งสีเขียว ยิ่งแห้งยิ่งแข็งมาก จะเอาดอกงิ้ว ที่จริงคือเอาก้านเกสรตัวผู้ตรงกลางมาเป็นอาหาร ต้องรีบเด็ดเอาเปลือกและกลีบรองดอกออกขณะยังสดอยู่ นำมาตากแดดให้แห้ง ห่อกระดาษ หรือใส่ภาชนะที่มีฝาปิด เก็บไว้อุณหภูมิปกติ เป็นปีก็ยังใช้ได้

คุณค่าทางอาหารของดอกงิ้ว 100 กรัม มีแคลเซียม 429 มิลลิกรัม มากกว่านมวัว 3 เท่า นมวัวมีเพียง 123 มิลลิกรัม นำดอก หรือส่วนเกสรตัวผู้แห้งมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะทางภาคเหนือใช้ทำ “น้ำเงี้ยว” อาหารยอดฮิต ขนมจีนน้ำเงี้ยว ใช้แต่งสีแกงส้ม แกงกะหรี่ ส่วนเกสรสด ลวกจิ้มน้ำพริก แกงส้ม ผสมข้าวโพดทำขนมแผ่น นอกจากดอก หรือส่วนก้านเกสรตัวผู้แล้ว ส่วนอื่นที่นำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ใบอ่อน ยอดอ่อน เป็นอาหารสัตว์ เนื้อไม้มีสีขาว หรือเหลืองอ่อน ไม้เนื้ออ่อนใช้ทำแผ่นไม้อัด ไม้จิ้มฟัน ก้านไม้ขีด กล่องไม้ขีด ของเด็กเล่น เยื่อกระดาษ แม้แต่แปรเป็นไม้แผ่นทำโลงศพ เปลือกต้น ใช้ฟั่นทำเชือก เหนียวมาก แต่หยาบกระด้าง แข็ง เหมาะสำหรับมัดของใหญ่ๆ เปลือกงิ้วให้สีธรรมชาติเป็นสีน้ำเงิน ย้อมผ้าฝ้าย ปุยจากฝักงิ้ว ใช้เป็นนุ่นยัดเบาะ หมอน ฟูกนอน ใย ใช้ทำฉนวนบุในตู้เย็น เมล็ด ให้น้ำมัน ประกอบอาหาร ทำสบู่ เมื่อตอนเป็นเด็กเคยเอามีดปลายแหลมไปสกัดเอาหนามงิ้วที่โตพอประมาณหัวแม่มือคนโต นำมาเหลาแต่งเป็นรูปลูกข่าง เจาะรูเล็กๆ ใช้เป็นทุ่นเบ็ดหลิวตกปลาชั้นยอด และที่สำคัญส่วนต่างๆ ของต้นงิ้วแดง หมอพื้นบ้านแนะนำไว้ ใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ดีนักแล

สรรพคุณ เป็นยาดีร้อยแปด ราก ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาถอนพิษ รักษาโรคกระเพาะเรื้อรัง ท้องเสีย ลงท้อง ขับปัสสาวะ รวมทั้งดอก ผลหรือฝัก แก้ตกเลือด ห้ามเลือด ยาง และใบ ใช้สมานแผล แก้อักเสบ ฟกช้ำบวม บำรุงโลหิต แก้บิดมูกเลือด แก้ระดูตกหนักมามากเกินไป ขับน้ำเหลือง เปลือกต้นงิ้ว เป็นยาบำรุงการไหลเวียนโลหิต รักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นยาถอนพิษ รักษาโรคกระเพาะเรื้อรัง ท้องเดิน ไตพิการ ขับน้ำเหลือง รักษาแผลฝีหนอง หนามงิ้ว ใช้เป็นยาแก้ไข้ถอนพิษไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน แก้ไข้กาฬ ดอกแห้ง แก้พิษไข้ ระงับประสาท ระงับปวด แก้กระหายน้ำ แก้น้ำร้อนลวก แก้ท้องเสีย ลงท้อง ขับปัสสาวะ ใบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ คออักเสบ เมล็ด บดผสมพิมเสน รักษาโรคหนองในเรื้อรัง ผลอ่อน รักษาแผลเรื้อรังในไตได้ด้วยนะจะบอกให้

งิ้วแดงต้นสูงใหญ่ กิ่งก้านสาขาแตกอยู่สูง เป็นไม้เนื้ออ่อน ถ้าจะนำมาปลูกในบริเวณบ้าน พึงระวังการหักโค่นเพราะโดนลม อย่าปลูกใกล้สายไฟ อย่าใช้เป็นร่มเงาหลบแดด ฝน ที่จอดรถ เหมาะที่จะปลูกไว้ในป่า หรือที่โล่งแจ้ง ที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ข้างถนนใหญ่เห็นมีมากมายรายทาง ก็ไม่เหมาะนัก ดูสวยงามก็จริง แต่อันตรายจากการหักโค่นมีมาก พึงระวังกันไว้ด้วย แต่ก็ยังยืนยันว่า ประโยชน์ของงิ้วมีมากมายจริงๆ ถึงแม้จะส่งเสริมให้เป็นไม้เศรษฐกิจไม่ได้ แต่ก็เป็นไม้ป่า เพิ่มสีเขียวให้แผ่นดินได้มากโข อาจจะมีทำให้กลัว มีเสียวบ้าง ที่จะปีนต้นงิ้ว แต่พึงท่องพุทธศีลข้อ 3 กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ จบ