หนองบัวลำภู วางมาตรการ รับมือภัยแล้ง เพิ่มรายได้ ภาคเกษตร

เป็นที่น่ายินดี เมื่อทราบจาก คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภูหมาดๆ ว่า พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ไม่พบว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และไม่เคยได้รับการประกาศว่าเป็นจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง แม้ว่าจะไม่มีระบบชลประทานภายในพื้นที่ เกษตรกรจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงด้านเดียวก็ตาม

แต่ก็เป็นที่น่าตกใจเช่นกัน เมื่อทราบข้อมูลว่า จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่ใช้สารเคมีในภาคเกษตรมากที่สุดลำดับต้นๆ ของประเทศ

เมื่อได้พูดคุยกับ คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้ทราบว่า พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีปัญหาในภาคเกษตร ซึ่งประมวลแล้วจำเป็นต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน ได้แก่

การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากพบว่า เกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู มีรายได้ต่อครอบครัวเฉลี่ยต่ำที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่ 53,000 บาท ต่อครอบครัว ต่อปี จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดกว่า 70,000 ครัวเรือน ทำให้ต้องพิจารณาพืชหลักที่เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด 4 ชนิด ได้แก่ อ้อย พื้นที่ปลูกกว่า 700,000 ไร่ ข้าวกว่า 600,000 ไร่ ยางพารากว่า 100,000 ไร่ และมันสำปะหลัง ประมาณ 70,000 ไร่

รายได้ของพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด เฉลี่ยครัวเรือนละ 53,000 บาท ต่อปี

เป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คือ 60,000 บาท ต่อครอบครัว ต่อปี โดยกำหนดเพิ่มรายได้ภายในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2563 เพิ่มรายได้ 3,000 บาท และปี 2564 เพิ่มอีก 4,000 บาท รวมรายได้เดิมต่อปีต่อครัวเรือน เท่ากับประชากรภาคการเกษตรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 60,000 ต่อครัวเรือน ต่อปี

ไก่ครัวเรือนละ 5 ตัว เป็นไก่พื้นเมือง ขายเป็นไก่เนื้อ หากให้ลูกรอบละ 5 ตัว 2 รอบ ต่อปี จะได้ไก่จำนวน 50 ตัว ราคาจำหน่ายไก่เนื้อกิโลกรัมละ 80-100 บาท จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 5,000-10,000 บาท ต่อปี

ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นในกลุ่มของไม้ยืนต้นและไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ไผ่ เงาะ และอินทผลัม ซึ่งพืชทั้งหมดมีเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบของการปลูก จึงจะนำไปส่งเสริมกับพื้นที่ที่มีความเหมาะสม

การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว จึงเห็นควรขยายผลไปยังพื้นที่อื่น เพื่อเพิ่มรายได้ได้ด้วย

ปัญหาที่กล่าวไว้ข้างต้น ในเรื่องของสารเคมีซึ่งตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกรจำนวน 58 คน จากทั้งหมด 59 คน ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่พบว่ามีการใช้สารเคมีในภาคเกษตร จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไข โดยมุ่งเป้าไปที่การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากหากจะปรับให้เกษตรกรปลูกพืชโดยใช้อินทรีย์เพียงอย่างเดียว จึงเริ่มต้นจากเยาวชน ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ด้วยการทำโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรกรยุวเกษตรอินทรีย์ โดยทั้งจังหวัดมีทั้งสิ้น 59 ตำบล จะได้เกษตรกรยุวเกษตรอินทรีย์ 59 กลุ่ม ให้นักเรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติ สอนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปสินค้าเกษตร ส่วนเกษตรกรจะจัดโครงการศึกษาดูงาน พาไปยังจังหวัดที่มีต้นแบบอินทรีย์ที่แข็งแรง เพื่อนำกลับมาพัฒนายังพื้นที่

นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงการสร้างมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว จึงนำข้าวพื้นเมืองของจังหวัดนำมาผลิตให้ได้มาตรฐาน แล้วทำให้เป็นข้าวพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของจังหวัด หรือราชินีข้าวเหนียว คือพันธุ์สันปลาหลาด เนื่องจากข้าวพื้นเมืองชนิดนี้ ในอดีตปลูกกันมาก เพราะนึ่งขึ้นหวด ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม สามารถนึ่งเป็นข้าวเหนียวนึ่งได้ถึง 2 กิโลกรัม

ส่งท้ายปัญหาภัยแล้ง ที่แม้จะไม่ได้เป็นจังหวัดที่ได้รับการประกาศว่าประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ด้วยพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ภาคเกษตรอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงวางมาตรการเตรียมพร้อมหากเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น

เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ระบุว่า การแก้ปัญหาทำโดยการลดพื้นที่ทำนาลง เช่น นาปีจากกว่า 40,000 ไร่ ลดเหลือกว่า 30,000 ไร่ นาปรังเคยทำในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ลดลงให้เหลือเพียง 90,000 ไร่ โดยยกตัวอย่างการทำนาจากเดิมที่เกษตรกรจะทำนาด้วยการปล่อยน้ำขังในนา สูง 15 เซนติเมตรตลอดเวลา เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ ขอให้เกษตรกรปรับการทำนามาเป็นรูปแบบของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะสามารถลดการใช้ปริมาณน้ำลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู มีข้อมูลการทำนาเปียกสลับแห้งและการทำนาแบบเดิมของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า ผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากเดิม รวมถึงการเจาะน้ำบาดาลโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มองเห็นปัญหาล่วงหน้าและระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูค่อนข้างดี จึงดำเนินการขุดเจาะบาดาลไปแล้วกว่า 10,000 บ่อ

ทั้งหมด เป็นประมวลการดำเนินการเร่งด่วน ในยุคที่เกษตรกรต้องลืมตาอ้าปาก อย่างมีรายได้และมีความสุข