คนบึงกาฬ กับยางพารา พืชเศรษฐกิจภาคใต้ ก้าวไกลสู่ภาคอีสาน

หลายคนคงสงสัยว่ายางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญชองภาคใต้ มาโผล่อยู่บนผืนแผ่นดินของจังหวัดบึงกาฬได้อย่างไร บุคคลที่พอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราต้นแรกในบึงกาฬได้ คือ นายสมหมาย แก้วมณี เกษตรอำเภอศรีวิไล ซึ่งนายสมหมายกล่าวว่า จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ยางพาราต้นแรกของจังหวัดบึงกาฬ ถูกปลูกขึ้นราว ปี พ.ศ. 2503 โดยมีพระธุดงค์รูปหนึ่ง ได้เดินทางไปธุดงค์ที่จังหวัดพัทลุง แล้วนำเมล็ดพันธุ์ยางพารากลับมาปลูกในพื้นที่บ้านหนองแวง ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคายในขณะนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านเกิดความสงสัย ว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นยางพาราจริงหรือไม่ จึงชักชวนให้ตนไปพิสูจน์ ผลปรากฏว่า เป็นต้นยางพาราจริง

การพิสูจน์ในครั้งนี้ทำให้นายสมหมาย แก้วมณี ตกตะกอนทางความคิดได้ว่า ยางพาราสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ประกอบกับตนเองมีพื้นเพเดิมอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีความรู้ด้านการปลูกยางพารา นับจากนั้นมา นายสมหมาย แก้วมณี จึงเริ่มส่งเสริมการปลูกยางพาราให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกร หลังจากนั้นไม่นาน ความร้อนแรง และกระแสนิยมของพืชชนิดใหม่ ที่ชื่อว่า “ยางพารา” จึงเริ่มขยายขอบเขตออกไปมากกว่าเดิม เริ่มมีเกษตรกรในพื้นที่อื่นให้ความสนใจ และสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกไปทั่วทั้งอำเภอโซ่พิสัยและอำเภอใกล้เคียง ซึ่งหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอพรเจริญ อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา อำเภอปากคาด อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่ 76 ของประเทศไทย ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 8 แสนไร่ เป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 7 ของประเทศไทย

ใครจะคิดว่ายางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ จะสามารถเติบโตและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดบึงกาฬได้อย่างมหาศาล ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ ในเดือนมิถุนายน ปี 2562 มีปริมาณการซื้อขายยางพารา มากกว่า 38,712.89 ตัน หรือมีมูลค่ามากถึง 700 ล้านบาท หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยางพาราก้าวสู่พืชเศรษฐกิจอันดับ 1 ของจังหวัดบึงกาฬได้ คือ การใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร หรือ T&V System ผ่านการทำงานเจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตร เข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการผลิตยางพาราในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่ทราบกันดี การผลิตยางพาราของเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ ส่วนใหญ่จะผลิตในรูปแบบยางก้อนถ้วย เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยางพาราในรูปแบบอื่น ซึ่งพบว่า ราคายางก้อนถ้วยมีแนวโน้มลดลงและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จึงดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันในรูปแบบของแปลงใหญ่ยางพาราในแต่ละตำบล เพื่อลดความเสี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำยางก้อนถ้วยเป็นการทำน้ำยางคุณภาพเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ยางพารา วิสาหกิจชุมชนยางพารา และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานบริษัทเอกชน เช่น บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด ที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อสนับสนุนการแปรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสถาบันเหล่านี้สามารถสร้างงาน สร้างเงิน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็น แหล่งเรียนรู้ให้กับ เกษตรกรและผู้สนใจเกี่ยวกับการ แปรรูปยางพารา เพื่อต่อยอดแนวความคิดและการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ใช้กระบวนการอบรม (Training) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งในเรื่องของการจัดการสวนยาง การปรับปรุงคุณภาพน้ำยาง รวมทั้งการดูแลรักษาต้นยางให้มีความสมบูรณ์พร้อมให้ผลผลิตมากที่สุด ตลอดจนการติดตาม และการเยี่ยมเยียนเกษตรกร (Visiting) ก็เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรนำมาใช้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับรู้ถึงการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร การปรับตัวต่อสภาวะหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายและทิศทางในแบบเดียวกัน เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การนำระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ช่วยให้งานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่มีสิทธิภาพ สามารถเข้าใจบริบทของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่นอีกด้วย