เกษตรกรภูเก็ต ผลิตเห็ดมาตรฐานอินทรีย์ สร้างรายได้หลักในสวนยางพารา

จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว มีรายได้จาการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังและโรงแรมหรูจำนวนมาก อย่างไรก็ตามจังหวัดภูเก็ตยังคงมีพื้นที่ทำการเกษตรหลงเหลืออยู่ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตต้นน้ำหรือวัตถุดิบเริ่มต้นที่ใช้ในการประกอบอาหารให้กับร้านอาหารและโรงแรม ทั้งนี้เกษตรกรภูเก็ตส่วนใหญ่นิยมทำสวนยางพารา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่น สับปะรดภูเก็ต มะพร้าว และการทำสวนแบบผสมผสาน (ไม้ผล พืชผักสวนครัว ฯลฯ) แต่ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้งปัญหาขาดแคลนลูกจ้างกรีดยาง ส่งผลให้ขาดรายได้สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน การปลูกพืชร่วมหรือการทำการเกษตรด้านอื่นๆ ในสวนยางพารา จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

คุณเจริญ สลับศรี หรือ จ.เจริญฟาร์ม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 148 หมู่ที่ 9 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นเกษตรกรรายย่อย เจ้าของสวนยางพาราเพียง 5 ไร่ อายุยางพารากว่า 30 ปี ปัจจุบันได้หยุดกรีดยางมานานแล้ว และหันมาปลูกพืชร่วมในสวนยางพาราหลากหลายชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า ผักเหมียง ข่า มะนาว พริกไทย เป็นต้น รวมทั้งการเลี้ยงไก่แบบปล่อย (ไก่อารมณ์ดี) และการเลี้ยงผึ้งโพรง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวในยามที่ยางพารามีราคาตกต่ำ นอกจากนี้คุณเจริญ สลับศรี ยังเป็นเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) และเจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย) ของอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ โดยเฉพาะข้อมูลการผลิตพืชปลอดภัย ได้มาตรฐาน และการเกษตรแบบผสมผสานที่ตนมีความถนัด

คุณเจริญ สลับศรี เล่าให้ฟังว่า เดิมตนและภรรยาทำสวนยางพาราเป็นหลัก โดยส่วนมากใช้เวลาในช่วงเช้า และมีเวลาว่างในช่วงเวลากลางวัน อีกทั้งราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำ จนอยู่มาวันหนึ่งตนและภรรยาได้ชมรายการโทรทัศน์ ช่วงข่าวในพระราชสำนัก ซึ่งเป็นข่าวที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งได้นำเสนอเรื่องการเพาะเห็ดเป็นอาหารกลางวันให้แก่เด็กในโรงเรียน จึงเกิดแนวความคิดการเพาะเห็ดนางฟ้าจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เนื่องจากเห็ดนางฟ้าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มรำไรของสวนยางพารา จึงเริ่มสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดด้วยวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ นำมาดัดแปลงให้เข้ากับพื้นที่สวนยางพาราของตน และซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะเลี้ยง (เปิดดอก) ปรากฏว่าได้ผลผลิตคุณภาพดี สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการเพาะเห็ด รวมทั้งเพิ่มโรงเรือนเพราะเห็ด จนปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งหมด 6 โรงเรือน และสามารถผลิตก้อนเห็ดได้ด้วยตนเอง ช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งผลิตก้อนเห็ดจำหน่าย รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการผลิตก้อนและเพาะเห็ดให้กับชาวบ้านในชุมชนและบุคคลทั่วไป ช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีการเพาะเห็ดอย่างถูกต้อง ผลผลิตมีคุณภาพ และได้ปริมาณสูงสุด


การผลิตพืชให้ได้มาตรฐาน
คุณเจริญ สลับศรี เล่าให้ฟังต่อว่า ตนมีความสนใจเรื่องการผลิตพืชให้ได้มาตรฐาน เพราะตนให้ความสำคัญกับการผลิตพืชที่ปลอดภัย อยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลผลิตที่ปลอดภัยเหมือนตนเอง สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานต่างๆ เพื่อขอรับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างถูกต้อง โดยได้รับความช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเรื่องการผลิตพืชปลอดภัยและได้มาตรฐานจากสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง และสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ทักษะ และมีความชำนาญ ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน เกิดการพัฒนาระบบการผลิตภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความยั่งยืนในภาคการเกษตรของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต ภายใต้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเริ่มต้นจากการผลิตพืชภายใต้มาตรฐานระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จนปัจจุบันได้พัฒนาการผลิตพืชบางชนิดสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ได้เป็นผลสำเร็จ

มาตรฐานระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
การผลิตพืชภายใต้มาตรฐานระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าแก่การลงทุน ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้การผลิตพืชภายใต้มาตรฐานระบบ GAP เกษตรกรยังคงสามารถใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรได้ แต่ต้องเป็นปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย และใช้ในอัตราส่วนและใช้ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ที่ฉลากบรรจุ โดยมีข้อกำหนด 8 ข้อ ได้แก่ 1) แหล่งน้ำ 2) พื้นที่ปลูก 3) วัตถุอันตรายทางการเกษตร 4) การจัดการผลผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว 5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว 6) การพักผลผลิต การขนย้ายในแปลงปลูก และการเก็บรักษา 7) สุขลักษณะส่วนบุคคล และ 8) การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ ปัจจุบันตนมีการผลิตพืชและได้รับมาตรฐานระบบ GAP จำนวน 4 ชนิดพืช ได้แก่ ผักเหมียง ข่า มะนาว และพริกไทย นอกจากนี้ตนยังมีแผนพัฒนาระบบการผลิตพืชชนิดอื่นๆที่ยังไม่ได้มาตรฐานสู่ผลผลิตที่ได้มาตรฐานในอนาคตอีกด้วย

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)
การผลิตพืชภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบ องค์รวม ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งไม่ใช้พืชที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปรงพันธุกรรม เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน โดยมีข้อกำหนด 9 ข้อ ได้แก่ 1) พื้นที่ปลูก 2) การวางแผนการจัดการ 3) เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ 4) การจัดการและปรับปรุงบำรุงดิน 5) การจัดการศัตรูพืช 6) การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 7) การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา และการขนส่ง 8) การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง 9) การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ ปัจจุบันตนได้ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร จากเดิมที่ผลิตเห็ดนางฟ้า GAP เป็นการผลิตเห็ดนางฟ้าอินทรีย์แห่งเดียวและแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและภรรยาเป็นอย่างมาก

การผลิตเห็ดนางฟ้าอินทรีย์ ภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร
1. การเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระยะปรับเปลี่ยน นับตั้งแต่สมัครขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตรและนำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไปปฏิบัติ โดยเห็ดนางฟ้าถือเป็นพืชล้มลุก ต้องมีระยะปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 12 เดือน ทั้งนี้พื้นที่ที่เคยทำระบบเคมี แต่หากมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ที่ขอการรับรองนานเกินกว่า 12 เดือน หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สามารถลดระยะปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2. การปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ทั้ง 9 ข้อ อย่างเคร่งครัด

3. การวางแผนการจัดการ โดยเตรียมพื้นที่ตามข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการทำแนวกันชนที่มีประสิทธิภาพรอบโรงเรือนเห็ด โดยปลูกหญ้าเนเปียร์ กล้วยน้ำว้า ข่า และ ผักเหมียง เป็นแนวกันชนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงรอบข้าง

4. การเตรียมก้อนเห็ด เลือกใช้วัสดุทำก้อนเห็ดจากร้านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากจังหวัดราชบุรี และเลือกใช้ขี้เลื่อยซึ่งเป็นวัสดุหลักของส่วนผสมในการทำก้อนเห็ดจากโรงเลื่อยที่ไม่มีการรมยากำจัดศัตรูพืช จากจังหวัดพังงา โดยพักขี้เลื่อยทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนนำมาผสมด้วยวัสดุทำก้อนเห็ด ได้แก่ รำ ยิปซั่ม ภูไมท์ ดีเกลือ ม้อนท์ และอาหารสำเร็จ บรรจุถุงพลาสติกขนาด 6.5×12.5 นิ้ว ปิดปากถุงด้วยคอพลาสติกและใช้ฝาจุกที่มีสำลีปิดให้แน่น นำก้อนเห็ดวางเป็นชั้น คลุมด้วยผ้าพลาสติกให้ปิดสนิท และนึ่งด้วยไอน้ำ โดยใช้หม้อต้มไอน้ำที่ดัดแปลงเองจากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อก้อนเห็ด หลังจากนั้นใส่เชื้อเห็ดนางฟ้า ปิดปากถุงด้วยสำลี ปิดอีกครั้งด้วยกระดาษ และรัดด้วยหนังยางให้แน่น นำไปบ่มในโรงบ่มเพื่อใช้เชื้อเดินเต็มถุง 25-30 วัน ก่อนนำก้อนเห็ดไปเพาะในโรงเรือนเปิดดอกต่อไป ปัจจุบันตนมีโรงบ่มก้อนเห็ดขนาด 8×16 เมตร จำนวน 1 โรงเรือน สามารถบ่มก้อนเห็ดได้สูงสุดครั้งละประมาณ 10,000 ก้อน

5. การเพาะเห็ด (การเปิดดอกเห็ด) นำก้อนเห็ดที่มีเชื้อเดินเต็มก้อนเข้าสู่โรงเรือนเพาะเห็ด ปัจจุบันตนมีโรงเรือนเห็ด 2 ขนาด รวมทั้งหมด 6 โรงเรือน แบ่งเป็น โรงเรือนขนาด 4×7 เมตร บรรจุได้ 3,500 ก้อน จำนวน 2 โรงเรือน และโรงเรือนขนาด 4×5 เมตร บรรจุได้ 2,500 ก้อน จำนวน 4 โรงเรือน มีการควบคุมอุณหภูมิโรงเรือนไม่ให้เกิน 30 องศาเซลเซียส และควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ไม่ให้ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยการให้น้ำภายในโรงเรือน รดน้ำบริเวณผนังโรงเรือน บริเวณพื้น และบริเวณก้อนเห็ด เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางฟ้า โดยปกติแล้วตนจะรดน้ำเป็นประจำ 3-4 ครั้ง/วัน หรืองดการรดน้ำบ้างในฤดูฝนหากพบว่ามีอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมอยู่แล้ว ทั้งนี้ก้อนเห็ดอยู่ได้ 3-4 เดือน/รอบการผลิต มีอัตราการให้ดอกเห็ดเดือนละ 3-4 ครั้ง/ก้อน และให้ผลผลิตเฉลี่ย 0.4-0.5 กิโลกรัม/ก้อน

6. โรคและแมลงศัตรูพืช พบมีการเข้าทำลายของแมลงหวี่บ้างในบางครั้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของหนอนชอนไชกินเส้นใยเห็ด ทำให้เห็ดเกิดความเสียหาย ป้องกันกำจัดโดยการรักษาความสะอาดภายในโรงเรือน ไม่ให้เกิดกลิ่นอับภายในโรงเรือน ร่วมกับการใช้กับดักกาวเหนียวแขวนทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน ซึ่งสามารถลดปัญหาการเข้าทำลายของแมลงหวี่ได้ นอกจากนี้ยังเกิดโรคจากเชื้อราบ้างเล็กน้อย เนื่องจากตนมีการจัดการโรงเรือนที่สะอาด มีการนึ่งฆ่าเชื้อก้อนเห็ดที่ได้มาตรฐาน สามารถทำลายเชื้อได้หมด ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค และหากพบมีถุงแตก จะคัดเลือกออกทุกครั้งที่พบ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราได้


7. การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เลือกเก็บเกี่ยวดอกเห็ดที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป จับที่โคนดอกทั้งช่อโยกแล้วดึงออกจากถุงเห็ด วางในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ และหากโคนดอกขาดติดอยู่ ให้แคะออกทิ้งเพื่อป้องกันการเน่าเสีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนอนจากการวางไข่ของแมลงหวี่ได้

การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา และการขนส่ง หลังจากเก็บเกี่ยวเห็ดนางฟ้ามาแล้ว ให้นำมาบรรจุถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม พร้อมส่งจำหน่ายสู่ผู้บริโภควันต่อวัน แต่หากเห็ดมีปริมาณมากจะนำไปบรรจุถุง แล้วนำเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นเพื่อรอการจำหน่ายต่อไป

8. การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ เป็นอีกข้อกำหนดหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องมีการจดบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน การเตรียมก้อนเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน ปริมาณผลผลิต ข้อมูลการจำหน่ายเห็ด ฯลฯ เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ตตรวจสอบ

การตลาดเห็ดนางฟ้าอินทรีย์
การตลาดเห็ดนางฟ้าอินทรีย์ในปัจจุบัน แบ่งการจำหน่ายออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. การจำหน่ายก้อนเห็ดนางฟ้า จำหน่ายก้อนละ 10 บาท มีลูกค้าเป็นเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียง ผลิตตามความต้องการ (pre-order) มีลูกค้าต้องการจำนวนมาก เนื่องจากก้อนเห็ดนางฟ้าของตนมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพจากแหล่งที่เชื้อถือได้ อีกทั้งผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ก้อนเห็ดมีคุณภาพปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราต่างๆ และได้ดอกเห็ดที่มีคุณภาพดี ผลผลิตเฉลี่ย 0.4-0.5 กิโลกรัม/ก้อน

2. การจำหน่ายดอกเห็ดนางฟ้า จำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท มีช่องทางการจำหน่ายหลากหลายช่องทาง เช่น การส่งจำหน่ายแม่ค้าตลาดสดเทศบาลตำบลเทพกระษัตรีโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง การจำหน่ายให้กับคนในชุมชน โดยตนมีจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งการออกร้านจำหน่ายด้วยตนเองตามเทศกาล งานสำคัญ โครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ

เรียกได้ว่า คุณเจริญ สลับศรี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรที่มีความตั้งใจในการพัฒนาผลผลิตของตนเองให้ได้มาตรฐาน โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ในการหาความรู้ทั้งด้านการผลิตพืชอย่างถูกต้อง รวมทั้งกระบวนการหรือขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวการันตีและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ในเชิงประจักษ์


สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือผลผลิตเห็ดอินทรีย์ของ จ.เจริญฟาร์ม ติดต่อได้ที่ 089-5863002