กระเทียม บัวหลวง สมุนไพรรักษาโรคหัวใจ

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เขียนเรื่องสมุนไพรรักษาโรคหัวใจ ไว้ในคอลัมน์พืชใกล้ตัว ในอภัยภูเบศรสาร ไว้ว่า เดือนกุมภาพันธ์ ผู้เขียนจะใช้โอกาสนี้เขียนถึงโรคหัวใจ เพราะหัวใจมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก มีหน้าที่สูบฉีดเลือดดำไปฟอกที่ปอดและรับเลือดแดงจากปอดสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ในปัจจุบัน โรคหัวใจกำลังเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศอเมริกาได้ประมาณการจากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2542-2547 ว่ามีชาวอเมริกันจำนวน 79,400,000 คน ป่วยด้วยโรคระบบหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (coronary heart disease) เป็นสาเหตุของการตายจากโรคระบบหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 52-53 ส่วนในประเทศไทยนั้น ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้แสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2554 โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการตายของประชากรไทย 20,130 คน จากประชากรที่ตายทั้งหมด 414,667 คน (ร้อยละ 4.8 ของการตายทั้งหมด) เนื่องจากโรคมีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ จากโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ

อันที่จริงแล้ว โรคหัวใจยังมีอีกมากมาย เช่น หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบนี้ มีสาเหตุมาจากระดับไขมันเลว หรือ LDL (low-density lipoprotein) สูงกว่าค่าปกติ ประกอบกับเซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ มีเกิด plaque หรือก้อนเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดค่อยๆ แข็งและตีบตัน การส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ปริมาณออกซิเจนที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

กระเทียม เป็นอาหารและสมุนไพรที่มีการใช้แต่ยุคโบราณ ตำรายาจีนระบุว่า หัวกระเทียมมีฤทธิ์ร้อน รสเผ็ด ช่วยเจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ กลากเกลื้อน งานวิจัยในคนหลายงาน พบว่า กระเทียมสามารถช่วยลดระดับไขมันตัวเลวในเลือด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับของไขมันชนิดดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ กระเทียมยังมีฤทธิ์ลดความดันเลือด ปริมาณกระเทียมที่แนะนำให้ใช้เพื่อฤทธิ์ดังกล่าวคือกระเทียมสด 2-5 กรัม (1/4-1/2 ขีด) ต่อวัน โดยรับประทานพร้อมอาหารเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวลารับประทานให้บดกระเทียมให้ละเอียดและรับประทานทันที ข้อเสียจากการรับประทานกระเทียมคือ กลิ่นปาก ซึ่งสามารถใช้การเคี้ยวใบชาหรือใช้น้ำชาแก่ๆ บ้วนปาก หลังจากบริโภคกระเทียม

บัวหลวง นับเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณเกี่ยวกับหัวใจ เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่จะนึกถึงดอกที่สวยงาม ซึ่งมักจะนำมาใช้ไหว้พระ ตำรายาจีนกล่าวว่า ใบบัวมีฤทธิ์เป็นกลาง รสฝาดขม แก้ร้อนใน เลือดกำเดาออก ห้ามเลือด รากบัวมีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนใน เลือดกำเดา ดีบัวมีฤทธิ์เย็น รสขม ดับร้อนที่หัวใจ กล่อมประสาท ปรับสมดุลหัวใจกับไต

สำหรับการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสกัดด้วยน้ำจากดีบัวมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ประกอบด้วยสาร demethylcoclaurine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สาร methyl corypalline มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ สาร neferine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ขณะที่ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดแอลกอฮอล์จากบัวมีฤทธิ์ต้านเชื้อ streptococcus group A ทำให้นอนหลับ ส่วนฤทธิ์ลดปวดและต้านการอักเสบ สารอัลคาลอยด์มีฤทธิ์ลดอาการปวดและแก้อักเสบ

หากอธิบายในองค์ความรู้แผนไทย ดีบัวซึ่งจะมีรสขม จะช่วยแตกอนุภาคของตะกรัน หรือที่แผนปัจจุบันเรียกว่า plaque ที่ติดอยู่หลอดเลือดให้เป็นอนุภาคเล็กๆ ขนาด plaque จึงเล็กลง เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีรอยโรคที่ตัวหัวใจ เช่น หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ รสขมนั้นถือเป็นข้อพึงระวังในการใช้ฃ

เผยแพร่ครั้งแรกวันวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563