จับตา เม.ย. “ทุเรียน” พีก-หวั่นราคาดิ่ง 60 บาท/กก.

ล้งทุเรียน ยอมรับ โควิด-19 ทำกำลังซื้อทุเรียนในจีนลดฮวบ จากปกติเคยขายส่งได้ 100-200 ตู้/วัน เหลือขายส่งเพียง 30-50 ตู้/วัน เผยรัฐบาลจีน ยังคุมเข้มคนออกจากบ้าน “เมืองหนานหนิง” ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก รัฐบาลจีนอนุญาตให้แต่ละครอบครัวส่งคนออกมาซื้ออาหารได้เพียง 1 คน และให้มาตลาดได้เพียง 2 วัน/สัปดาห์ คนจีนส่วนใหญ่เน้นซื้อของจำเป็น หวั่นช่วงพีกเดือนเมษายน ผลผลิตทุเรียนออกมากสุด ราคาตลาดดิ่งหนักเหลือ 60-80 บาท ต่อ กก. แถมเฝ้าระวังภัยแล้ง พายุโซนร้อน ทำปริมาณและคุณภาพลดลง

นายภานุวัชน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังการเปิดตลาดของจีนหลังวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ตลาดทุเรียนใหญ่ๆ เช่น กว่างโจว กว่างสี เซี่ยงไฮ้ หนานหนิง เริ่มดีขึ้นเล็กน้อย ทุเรียนเริ่มทยอยขายได้ 2-3 วัน/ตู้ จากเดิมวันละ 1 ตู้ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่ส่งไปรออยู่ก่อนแล้ว ส่วนล็อตใหม่จะเริ่มส่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น สำคัญที่สุด คือ การควบคุมสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่วนราคายังคาดการณ์ไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่ที่เคยซื้อต้องหยุดไปหลายราย ส่วนช่วงเดือนเมษายนที่คาดการณ์ว่าผลผลิตจะมาก ราคาจะลดต่ำลงนั้น ต้องรอดูสภาวการณ์อากาศ ภัยแล้ง พายุฝนช่วงเดือนมีนาคมที่อาจจะทำให้ผลผลิตเสียหายไม่ได้คุณภาพ ปริมาณผลผลิตจะลดลง อย่างไรก็ตาม ต้องพยายามรักษาตลาดจีนคู่ค้าสำคัญเอาไว้ หากต้องยอมผ่อนผันเรื่องราคาบ้าง เพื่อให้จีนมีกำลังซื้อตามสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะไทยยังไม่มีตลาดใหญ่ที่มาทดแทน ดูจากการลงทุนสร้างล้งให้คนจีนเช่าซื้อผลไม้ในจันทบุรี ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากไม่สามารถส่งออกไปจีนได้จะเกิดผลกระทบอย่างหนัก

จับตา เม.ย. “ทุเรียน” พีก-หวั่นราคาดิ่ง 60 บาท/กก.
ต้นฤดู – เดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วงต้นฤดูของทุเรียนภาคตะวันออก และผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนเมษายน ซึ่งหลายคนหวั่นราคาจะร่วงลงมาก

ด้านโรงคัดบรรจุส่งออก ขนุน ทุเรียน มะพร้าวอ่อน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า การขายผลไม้ระบบออนไลน์มีผลกระทบเช่นเดียวกันตั้งแต่ช่วงหยุดยาวตรุษจีนมาถึงเปิดทำการแล้ว สินค้าขายไม่ได้เพราะระบบการขนส่งจีนจะบริการเฉพาะสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร เครื่องมือแพทย์ ส่วนผลไม้ไทยปริมาณขายได้ลดลงมาก ส่วนใหญ่ที่ส่งไปขายในตลาดค้าส่งไม่มีคนเดินหรือมีน้อยมาก มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ตปริมาณน้อย จีนเองไม่มีกำลังซื้อ บริษัทค้าขายในจีนเองหลายแห่งต้องหยุดยาว 2 เดือน หรือปิดกิจการ เลย์เอาต์พนักงานออก และจากข้อกำหนดของรัฐบาลเมืองหนานหนิง แม้ไม่ใช่พื้นที่แพร่เชื้อไวรัสอย่างหนัก ยังอนุญาตให้แต่ละครอบครัวส่งคนออกมาซื้ออาหารได้เพียง 1 คน และอนุญาตให้มาตลาดได้เพียง 2 วัน/สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น ส่วนผลไม้ซื้อน้อยมาก เทียบกับภาวะปกติเคยขายส่งทุเรียน 100-200 ตู้/วัน ขายปลีกได้ 100 ตู้/วัน ตอนนี้ขายส่งได้ 30-50 ตู้/วัน ขายปลีกได้ไม่ถึง 5 ตู้/วัน

“โควิด-19 น่าจะใช้เวลามากกว่า 2 เดือน กว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับสู่สภาวะปกติ เดือนเมษายนทุเรียนจะออกมาก ราคาอาจจะปรับลง 60-80 บาท แต่เป็นโอกาสดีทำให้จีนมีกำลังซื้อ แต่อาจจะซื้อลดลง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกมีการแข่งขันสูง เมื่อก่อนกำไรตู้ละ 100,000 บาท ตอนนี้เหลือกำไรตู้ละ 20,000 บาท อาจจะต้องปรับเปลี่ยนนำทุเรียนตกไซซ์ไปทำแช่แข็ง แต่ต้องเจอคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย ที่มีต้นทุนต่ำกว่า”

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ทุเรียนภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ปี 2563 มีปริมาณ 600,000 ตัน เพิ่มจากปีก่อน 21% เป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยผลผลิตจะออกตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม และปริมาณมากช่วงเมษายน คาดว่าจะมีผลผลิตถึง 35% หรือ 215,613 ตัน ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ต้นฤดูกาลเปิดราคา 150-180 บาท/กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 120-130 บาท และล้งได้เหมาสวนไว้ล่วงหน้าสูงถึง 150-160 บาท

ทุเรียนใต้ ราคาดิ่ง 100 บาท/กก.

นายนัด ดวงใส รองประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สวนทุเรียนภาคใต้กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะแหล่งปลูกใหญ่ จ.ชุมพร ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเดือนเมษายน-พฤษภาคม เนื่องจากล้งมีการยกเลิกสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเจ้าของสวนที่ตกลงราคาไว้ 130-145 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงมาที่ 100 บาท/กก. แต่ยังไม่มีล้งกล้าทำรับซื้อ เพราะยังไม่ทราบทิศทางในตลาดจีน

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.ที่ 5 จ.สงขลา) เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 จะมีการประชุมร่วมกันทุกจังหวัด เพื่อวางแผนการบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนที่กำลังจะออกสู่ตลาด โดยที่ผ่านมาได้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบ ประสานงานกับทางจังหวัด เตรียมข้อมูลความถูกต้อง ทางด้านการตลาด ทางด้านผลผลิต เพื่อป้องกันและบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ โควิด-19 คาดการณ์จะกระทบผลไม้ในภาคใต้ เพราะยังมีระยะเวลา 5 เดือน แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีการยกเลิกสัญญาซื้อขาย

Advertisement

ปี 2562 ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกทุเรียน ประมาณ 980,000 ไร่ และ ปี 2563 ขยายตัวเติบโตขึ้นประมาณ 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้มากที่สุด ประมาณ 500,000 ไร่ โดย จ.ชุมพร ปลูกมากเป็น อันดับ 1 ประมาณ 250,000 ไร่ ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนพฤษภาคม 2563 และออกมากสุดเดือนกรกฎาคม 2563 ส่วนทุเรียนที่ออกสู่ตลาดตอนนี้เป็นทุเรียนนอกฤดูกาล เช่น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 5,000 ตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/กก.

 

Advertisement

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์