หนุ่มโคราช กลับบ้านเกิด เป็นเกษตรกรป้ายแดง ต่อยอดแปรรูปสินค้าเกษตร ข้าว เห็ด เพิ่มมูลค่า

อาชีพเกษตรกรรมในความหมายของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป บางคนมองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ เป็นอาชีพของคนจน แต่ในความหมายของบางคนมองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ทั้งมีเกียรติและมีกิน

คุณอรรณพ สารนอก เกษตรกรรุ่นใหม่ป้ายแดง อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 7 ตำบลโนนทองหลาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ผู้ที่นับว่าเป็นเกษตรกรป้ายแดงเริ่มทำเกษตรเมื่อปี 2562 นับมาถึงปัจจุบันระยะเวลาผ่านมาเพียง 1 ปี แต่ระยะเวลาไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จ เขาคนนี้ผู้มีความชอบใจรักในการเกษตร จึงใช้เวลาหลังจากลาออกจากงานประจำมาศึกษาเรียนรู้และต่อยอดงานเกษตรของที่บ้านอย่างไม่หยุดยั้ง

คุณอรรณพ สารนอก

จุดเริ่มต้นลาออกจากงานประจำ
มาต่อยอดงานเกษตรของครอบครัว

คุณอรรณพ เล่าว่า ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นเกษตรกร ตนเองเรียนจบด้านภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบมาทำงานเป็นพนักงานประจำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาทำเกษตรเนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ทำงานมีความคิดตลอดว่าการเป็นพนักงานประจำในตำแหน่งที่ทำได้เงินเดือนดีก็จริง แต่ก็ยังเลี้ยงได้แค่ตัวเอง ไม่สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ และเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือการเป็นพนักงานประจำเมื่อทำงานไปถึงช่วงอายุที่เยอะขึ้นก็จะมีข้อจำกัดในหลายๆ อย่าง แต่ถ้าหันมาทำการเกษตรแล้วเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยจะดีกว่าไหม เพราะอาชีพเกษตรไม่จำกัดเรื่องอายุ อายุมากเท่าไรถ้ามีแรงทำไหวก็ทำได้ตลอด และยังตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ และมีเวลาให้กับคนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

“ผมโชคดีที่เป็นลูกชาวนาแต่มีโอกาสได้เรียนสูง จึงคิดว่าจะใช้ความรู้ที่เรียนอยู่กลับมาพัฒนาที่ดินและงานเกษตรของครอบครัวที่มีอยู่แล้วให้เกิดรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้น อาชีพการเป็นเกษตรกรรมในความคิดของผมคืออาชีพที่มีเกียรติและมีกิน ทำให้ตัวเองและคนในครอบครัวอยู่รอดได้ในทุกเศรษฐกิจ หลายสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลและแรงผลักดันที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร” คุณอรรณพ บอก 

แปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่คุณภาพ

เริ่มต้นพัฒนาแหล่งน้ำ
และสินค้าเกษตรของที่บ้าน ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

หลังจากลาออกจากงานประจำ คุณอรรณพ เล่าว่า สิ่งที่เริ่มทำอันดับแรกหลังจากที่จะปักหลักเป็นเกษตรกรเต็มตัวคือการใช้ความรู้ที่เรียนมาและประสบการณ์ที่ทำงานมาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสวนก่อน คือการวางระบบน้ำในสวนใหม่ เพราะคิดว่าการทำเกษตรแหล่งน้ำเป็นสิ่งสำคัญ

เทคนิคคือการยืดอายุการใช้น้ำ เพราะที่สวนใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ซึ่งการยืดอายุการใช้น้ำบาดาลของที่สวนคือ จะไม่สูบน้ำบาดาลมาใช้รดผักโดยตรง แต่จะใช้วิธีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาแล้วมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำก่อน เพื่อช่วยในการเติมของน้ำบาดาลบ้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยเติมน้ำได้แล้วการที่มีบ่อพักน้ำยังช่วยปรับค่าน้ำให้มีค่าเป็นกลางมากที่สุด โดยจะวางท่อหลักในการจ่ายน้ำ เข้าสู่แปลงต่างๆ

“บ่อพักน้ำมีความกว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 6 เมตร ถือเป็นบ่อขนาดใหญ่ช่วยเก็บได้ทั้งน้ำบาดาลและน้ำฝน เนื่องจากแปลงนาของภาคอีสานน้ำจะหลากจะไม่สามารถทดน้ำขึ้นมาใช้เหมือนนาภาคกลางได้ ผมได้มองเห็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไปคือสูญเสียน้ำปริมาณมากโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในช่วงหน้าแล้งจึงพยายามหาวิธีที่จะเก็บน้ำจากหน้าฝนเข้าบ่อให้ได้มากที่สุด วิธีการดึงน้ำขึ้นมาใช้ในแปลงไร่สวนคือดูดน้ำจากบ่อพักน้ำมาใช้ให้หมดก่อน ถ้าน้ำไม่พอถึงจะดูดน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้” เจ้าของอธิบาย

ผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวกล้องบรรจุถุงขาย 1 กิโลกรัม

หลักคิดและขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าข้าว
“แค่พลิก ราคาก็เปลี่ยน”

หลังจากจัดการระบบน้ำเสร็จเรียบร้อย คุณอรรณพ เล่าต่อว่า ภารกิจต่อมาคือการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยสินค้าหลักของที่บ้านคือข้าว เพราะพ่อกับแม่เป็นชาวนา แต่ตนเองเข้ามาปรับลดพื้นที่การทำนาลง แล้วมาปลูกป่าเพิ่ม 8 ไร่ และทำสวนผสมผสานปลูกไม้ผลเศรษฐกิจอีกหลายชนิด รวมถึงที่ไม่ใช่ไม้เศรษฐกิจก็ปลูกเพราะอยากมีป่ารอบบ้านอีก 18 ไร่

“เดิมพ่อกับแม่ขายข้าวแบบยกกระสอบได้ราคากระสอบละไม่กี่บาท แต่ผมใช้ความที่เป็นคนรุ่นใหม่มาพัฒนารูปแบบการขายใหม่ จากเคยขายแบบยกกระสอบ 1 กระสอบ บรรจุข้าวประมาณ 30-40 กิโลกรัม ขายได้กระสอบละ 400 กว่าบาท แต่ผมเปลี่ยนรูปแบบการขายใหม่เป็นบรรจุใส่ถุงละ 1 กิโลกรัม และขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะมีความคิดที่ว่าเราเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวเอง และขายเอง จะดีกว่าไหม เพราะจะสามารถบอกกับลูกค้าได้ทุกคนว่าข้าวที่ปลูกปลูกอย่างไร มีความพิเศษกว่าที่อื่นยังไง ชาวนาจะเป็นคนรู้ดีที่สุด” เขาบอกถึงการขายข้าว

หลังจากที่ตัดสินใจจะเป็นทั้งชาวนาและพ่อค้า ก็เริ่มจากการนำข้าวมาสี คือข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิ ส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวกล้อง…

ขั้นตอนการทำงานไม่ซับซ้อน ดังนี้

  1. นำข้าวไปสีที่โรงสี เสียค่าจ้างกระสอบละประมาณ 10 บาท
  2. หลังจากสีข้าวเสร็จ เจ้าของโรงสีนำมาให้ที่บ้านนั่งคัดข้าวด้วยมือ ถือเป็นกิจกรรมให้คนในครอบครัวได้ทำร่วมกัน

    คัดข้าวเองด้วยมือ ใส่ใจทุกรายละเอียด
  3. นำข้าวที่คัดเสร็จมาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม ลงขายในเฟซบุ๊ก ใครสนใจสามารถทักมาสอบถามได้

จากปกติเคยขายให้พ่อค้าคนกลางได้กิโลกรัมละ 14 บาท ขายยกถุงได้เงินประมาณ 400 บาท แต่พอเปลี่ยนรูปแบบการขายก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 400 บาท เป็น 700 บาท จากแค่เปลี่ยนแพ็กเกจและวิธีการขายเล็กน้อยแต่สามารถเพิ่มรายได้เพิ่มเกือบเท่าตัว เพียงแค่อาจจะเสียเวลาในการเก็บคัดแยก แต่ให้มองว่าได้ทำกิจกรรมในครอบครัว

จุดเด่นของสินค้าก็มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะชาวนามาปลูกเอง ขายเอง คัดข้าวเอง ผู้บริโภคย่อมได้ความดั้งเดิม ไม่ขัดสี ไม่มีการอบยาฆ่ามอดหรือแมลง ผู้บริโภคก็จะได้รับประทานข้าวที่ปลอดภัย อร่อย หอมไปทั่วบ้าน

ได้รับผลตอบรับดี ลูกค้าติดใจ

แหนมเห็ดสด สินค้าแปรรูป
สร้างมูลค่าเพิ่มกว่าการขายแบบสด

คุณอรรณพ บอกว่า การเพาะเห็ดและการแปรรูปแหนมเห็ดขาย เป็นสิ่งที่ตนเองทำเพิ่มขึ้นจากเดิมที่พ่อแม่มีอยู่ โดยเริ่มจากที่ตนเองมีความสนใจเรื่องการเพาะเห็ดเป็นพิเศษ จึงได้มีการไปเรียนหลักสูตรการเพาะเห็ดตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อถึงขั้นตอนการเปิดดอก ใช้เวลาอบรมหลักสูตร 1 คอร์ส เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างที่เรียนได้มองเห็นประโยชน์ของเห็ดในหลายด้าน ว่าไม่จำเป็นต้องทำใหญ่โต แต่สามารถทำรับประทานได้เอง หลังจากเหลือจึงเก็บขายหรือนำมาแปรรูปเพิ่มได้อีก

ในส่วนของการเพาะเห็ดสร้างรายได้ เริ่มจากการทำโรงเรือน ขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.50 เมตร วัสดุหลักๆ ที่เป็นต้นทุนการทำโรงเรือนคือค่าเทพื้นและเสาคอนกรีต ส่วนวัสดุอื่นๆ หลังคือ หรือชั้นวางเห็ดต่างๆ สามารถหาวัสดุได้ตามท้องถิ่น สรุปคิดเป็นต้นทุนค่าโรงเรือนมาแล้วเป็นเงินเพียง 6,000-7,000 บาท 1 โรงเรือนสามารถบรรจุก้อนเห็ดได้ 2,000 กว่าก้อน

โรงเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานคุณภาพ

โดยเห็ดที่เพาะเป็นเห็ดนางฟ้าภูฏาน ซื้อมาเป็นก้อนพร้อมเปิดดอก ราคาก้อนละ 8 บาท สาเหตุที่เลือกเพาะเห็ดชนิดนี้เพราะที่บ้านชอบรับประทานเห็ด ก็มีโอกาสได้ทดลองรับประทานเห็ดหลายชนิดและหาข้อดีข้อเสียของเห็ดไปเรื่อยๆ จนสรุปออกมาได้ว่าเห็ดนางฟ้าภูฏานนี่แหละคือเห็ดที่ดีที่สุด และให้ดอกใหญ่ จึงอยากเพาะมาขายเพื่อแบ่งปันความอร่อย และประโยชน์ของดอกเห็ดที่ใหญ่ก็สามารถนำมาแปรรูปได้อีกมากมาย

ผลผลิตที่ได้ เฉลี่ย 5-7 วัน เห็ดออกดอก 1 ครั้ง ผลผลิตเก็บเป็นรอบ 1-2 เดือนแรก เห็ดจะออกเยอะ 40-50 กิโลกรัม ต่อรอบ ก็จะเก็บขายเป็นเห็ดสดขายกิโลกรัมละ 80 บาท

หลังจากระยะ 2 เดือนเห็ดจะเริ่มออกน้อยลงเพราะก้อนอาหารในเห็ดใกล้จะหมด ซึ่งการเก็บเห็ดสด กับการเก็บเพื่อการแปรรูปจะแตกต่างกัน ถ้าเก็บมาเพื่อขายสดจะต้องเก็บดอกที่พร้อมรับประทาน ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป แต่การเก็บเห็ดมาเพื่อแปรรูปจะเก็บเห็ดที่มีดอกใหญ่ เพราะต้องการปริมาณในการแปรรูป

เก็บเห็ดสดเตรียมขาย

ขั้นตอนการแปรรูปแหนมเห็ด

เริ่มจากการเก็บเห็ดที่มีดอกใหญ่มาสะสมไว้ไม่เกิน 2 วัน สาเหตุที่ต้องเก็บมาสะสมไว้เพราะถ้ารอเก็บเห็ดที่มีดอกใหญ่ระยะการออกแต่ละครั้งจะได้ไม่เยอะจึงต้องใช้การเก็บมาสะสมแล้วแช่ตู้เย็นไว้แต่แช่ไม่เกิน 2 วัน วันที่ 3 ให้เริ่มนำมาทำได้

วิธีการทำ

  1. นำเห็ดที่แช่ตู้เย็นไว้มาล้างน้ำให้สะอาด
  2. ฉีกเห็ดให้มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป

    ขั้นตอนฉีกเห็ดเตรียมแปรรูป
  3. นำไปนึ่งพอให้สุก แล้วนำมาพึ่งให้เห็ดเย็นตัว
  4. หลังจากนั้น เตรียมส่วนผสมในการทำแหนมเห็ด

    ขั้นตอนการบรรจุใส่ถุงรัดเป็นตุ้มจิ๋ว

ส่วนผสม ได้แก่

  1. เห็ดฉีก 1 กิโลกรัม
  2. ข้าวหุงสุก 200 กรัม (สูตรของที่สวนจะใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ผสมกับข้าวกล้อง)
  3. กระเทียม 55 กรัม
  4. เกลือ 15 กรัม
  5. นำวัตถุดิบและส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  6. หลังจากคลุกเคล้าเสร็จใช้ผ้าคลุมพักไว้ให้เซ็ตตัว อย่าให้มีแมลงวันมาตอม
  7. นำมาบรรจุใส่ถุงรัดให้เป็นตุ้มจิ๋วแล้วทิ้งไว้ 2 วัน ให้เป็นแหนมแล้วแพ็กซีนถุงสุญญากาศส่งให้ลูกค้า
  8. ขั้นตอนฉีกเห็ดเตรียมแปรรูป

การทำแหนมเห็ดถือว่าทำไม่ยาก แต่ข้อสำคัญคือว่าถ้าทำไม่ถูกวิธีก็จะกลายเป็นของเสีย เห็ดบูด

ราคาขายแพ็กละ 100 บาท 1 แพ็ก มี 10 ลูก น้ำหนักรวม 50 กรัม หักลบต้นทุนแล้วได้กำไรกิโลกรัมละ 160 บาท เพิ่มมาอีกเท่าตัว ส่วนผลตอบรับถือว่าดีลูกค้าชอบเพราะใส่เนื้อเห็ดเยอะ และเป็นเห็ดที่เพาะเองไม่มีสารพิษ

การตลาด ไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันขายผ่านทางเพจเฟซบุ๊กบ้านสวนมูลมัง ใครที่สนใจสามารถอินบล็อกเข้ามาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางนี้ได้เลย

 

ผลิตภัณฑ์แหนมเห็ดสด สะอาด ปลอดภัย

ตัดสินใจลาออกจากงานมาประจำ
สิ่งที่ได้จากงานเกษตรคือความสุข

คุณอรรณพ บอกว่า หลังจากที่ลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรสิ่งที่ได้คือ 1. ความสบายใจ 2. ความสุขที่มากขึ้น 3. เวลาชีวิตมีค่ามากขึ้น ทำให้สามารถหาทิศทางการใช้ชีวิตได้ดีมากกว่าการมองหาโอกาสในการทำงานประจำที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งปัจจุบันอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้น่าอาย หรือเหนื่อยเหมือนสมัยก่อนเพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนามีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยทุ่นแรงเกษตรกรได้มาก การทำตลาดก็ง่ายและไวขึ้นเพราะมีสื่อออนไลน์เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ช่วยให้เกษตรกรสะดวกสบายมากขึ้น และที่สำคัญมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว แต่ก่อนที่จะเจอกับความสุขแบบนี้เกษตรกรต้องยอมรับการเริ่มต้นให้ได้ก่อน

“ผมทำงานใช้เวลาเก็บเงินมา 4 ปี ตอนนี้เงินที่เก็บก็หายไปกับการทำเกษตร การเกษตรคือความอดทน สิ่งที่ลงทุนไปแล้วไม่ใช่ว่าจะได้ผลตอบกลับมาทันที แต่อาจจะต้องรอเป็นเดือนเป็นปี อย่างผมที่ลงทุนปลูกหม่อนเพิ่มต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะมีผลผลิตให้เก็บ และต้องยอมรับกับความผิดหวังให้ได้ เพราะลงทุนปลูกอะไรไม่ใช่ว่าจะสำเร็จทุกตัว” คุณอรรณพ ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. (081) 915-9457 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : บ้านสวนมูลมัง

บริการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าถึงที่