มกอช. พัฒนาโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด สู่มาตรฐาน GMP ชุมชนแม่บ้านโป่งกระทิง งานเด่น ที่ราชบุรี

เมื่อไม่นานมานี้ ดร. จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วย คุณครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. และคณะสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้โครงการพัฒนาโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดขนาดเล็ก

ทาง มกอช. ได้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานสินค้า จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้ และแนะนำการควบคุมกระบวนการผลิตให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโป่งกระทิง ให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต GMP ในพื้นที่แปลงใหญ่ (สับปะรด) ณ เลขที่ 109 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี

ดร. จูอะดี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ ให้ความสำคัญต่อเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมียุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์

ทั้งนี้ โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยทำหน้าที่รวบรวมผักและผลไม้จากเกษตรกรมาผ่านกระบวนการผลิตก่อนจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ดังนั้น การนำหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร Good Manufacturing Practice ซึ่งเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมให้สามารถผลิตภายในโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดอย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

มกอช. ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2553) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560) ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สด เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและพัฒนาคุณภาพผักและผลไม้ ให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ GAP และ GMP ส่งเสริมคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิตและช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิต ตลอดจนแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา มกอช. ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการและการกำกับดูแลโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ขนาดเล็กตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP)” เพื่อการให้ความรู้ และแนะนำการควบคุมกระบวนการผลิต และใช้เป็นแนวทางในการให้คำปรึกษาและพัฒนาสถานที่ผลิตที่กำลังจะปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโป่งกระทิง ถือเป็นหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการและการกำกับดูแลโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ขนาดเล็กตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP)” พร้อมพัฒนาโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดสู่มาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ได้บริโภคสับปะรดที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

คุณกชกร เกิดโภคา

ด้าน คุณกชกร เกิดโภคา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโป่งกระทิง เลขที่ 109 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านโป่งกระทิง ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 30 คน และมีรายใหม่เข้ามา นิยามของสับปะรดบ้านคา คือ “ไม่หวานจัด ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม” มีพื้นที่ทำเกษตรปลูกสับปะรด รวม 1,000 ไร่ มีผลผลิต 100 ตัน ต่อเดือน 80% ส่งโรงงาน 20% เป็นผลสด โดยมีห้างโมเดิร์นเทรดรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปวางขายในตราสินค้าสับปะรดแม่อ้อยถิ่น โดยผลสดจำหน่ายที่บิ๊กซีและแม็คโครทั่วประเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น น้ำสับปะรด สับปะรดหยี จำหน่ายที่เดอะมอลล์ บิ๊กซี และสยามพารากอน

สับปะรดบ้านคา เป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี มีคุณลักษณะเฉพาะรสหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดหนานิ่ม ซึ่งเป็นผลผลิตได้ GI สิ่งบ่งชี่ทางภูมิศาสตร์จากทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

น้ำสับปะรด

กลุ่มได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการและการกำกับดูแลโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ขนาดเล็กตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP)” เนื่องจากเห็นว่ามาตรฐาน GMP มีความสำคัญและประโยชน์อย่างมาก คือผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมีคุณภาพใช้เป็นแนวทางการผลิตเพื่อประกันว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพปลอดภัยตรงตามที่มาตรฐานกำหนดและผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอในทุกๆ ล็อตการผลิต ช่วยลดข้อผิดพลาดหรือความเบี่ยงเบนที่จะผลิตไม่ได้มาตรฐาน ป้องกันไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการผลิต

“ปัจจุบัน กลุ่มได้รับการตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ขนาดเล็กตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP) จากกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ วันที่ 9 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกใบรับรองมาตรฐาน GMP คาดว่าจะได้ใบรับรองประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้” คุณกชกร บอก

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. (089) 549-4787 คุณกชกร เกิดโภคา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโป่งกระทิง

กล้วยกวน