สู้วิกฤตเศรษฐกิจที่แปรปรวน ผลิตถ่านไม้จากเหง้ามันสำปะหลังขาย ทำให้วิถีมั่นคง

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลมักส่งผลกระทบกับวิถีการยังชีพต่อครัวเรือน การคิดใหม่ทำใหม่ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังด้วยการรวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการ “แปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง” เพื่อทำกิจกรรมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพัฒนาการผลิต รวมถึงการนำเหง้ามันสำปะหลังมาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ ผลิตเป็นถ่านไม้ได้ผลิตภัณฑ์ขายดี ทำให้มีรายได้เพิ่ม วันนี้จึงนำเรื่อง “สู้วิกฤตเศรษฐกิจที่แปรปรวน ผลิตถ่านไม้จากเหง้ามันสำปะหลังขาย ทำให้วิถีมั่นคง” มาบอกเล่าสู่กัน

คุณเสาวนิตย์ พรหมโชติ เกษตรอำเภอวังม่วง ส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่

คุณเสาวนิตย์ พรหมโชติ เกษตรอำเภอวังม่วง เล่าให้ฟังว่า ได้ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกมันสำปะหลังในโครงการแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง มีสมาชิก 76 ราย พื้นที่ดำเนินการ 2,392 ไร่ พร้อมกับสนับสนุนให้เกษตรกรจัดระบบปลูกพืชแบบเหลื่อมฤดูเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวในช่วงฝนตกชุกและลดความเสียหายจากการเน่าเสียของผลผลิต ให้จัดระบบปลูกพืชแบบหมุนเวียนเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นมันสำปะหลัง รวมทั้งให้นำเหง้ามันสำปะหลังมาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ ก็จะได้น้ำส้มควันไม้เพื่อใช้เป็นสารป้องกันศัตรูพืช และได้ถ่านไม้นำไปขายหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มหรือปิ้งย่าง เป็นหนึ่งวิธีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและยกระดับรายได้ครัวเรือนให้มั่นคง

คุณอนัญญา จันทร์น้อย ประธานแปลงใหญ่สาธิตการใช้เตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ

คุณอนัญญา จันทร์น้อย ประธานแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลวังม่วง ส่วนใหญ่จะปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก วิธีการปลูกก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ จึงต้องใช้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ไม่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาการผลิต ผลผลิตที่ได้คุณภาพต่ำ แล้วยังไม่มีอำนาจต่อรองด้านการตลาดจึงส่งผลให้ไม่มั่นคงด้านรายได้และการยังชีพ

พัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วงร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ภายใต้ชื่อ โครงการแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง มีเป้าหมายเพื่อ 1. ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต 2. เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับองค์ความรู้ 3. เพื่อใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานที่ตลาดต้องการ 4. ด้านการตลาด ร่วมมือกันพัฒนาการตลาดด้วยการจัดหาตลาดเพื่อซื้อขายสินค้าด้วยราคาเป็นธรรม 5. เพื่อบริหารจัดการและสร้างกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง

เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการแปลงใหญ่มันสำปะหลัง นอกจากจะได้รับการสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ก็ได้ให้นำทุกส่วนของต้นมันสำปะหลังมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการนำเหง้ามันสำปะหลังมาตากแห้งแล้วนำไปเผาเป็นถ่านไม้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

โครงการปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ตำบลวังม่วง พื้นที่ 2,392 ไร่

คุณอนัญญา เล่าให้ฟังอีกว่า ปลูกมันสำปะหลัง 200 ไร่ ได้ผลผลิตหัวมันเฉลี่ย 8,000 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อตัดหัวมันแยกออกจะได้เหง้ามันในราว 700 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วนำเหง้ามันมาเผาจะได้เป็นถ่านไม้ 200-210 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือคิดจากพื้นที่ปลูก 10 ไร่จะผลิตถ่านไม้ได้ 2,000-2,100 กิโลกรัม นำไปขาย 5-8 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้มีรายได้ 10,000-16,000 บาท หรือ 10,500-16,000 บาท ก็เป็นอีกแนวทางการเสริมสร้างรายได้แบบพอเพียง เกษตรกรได้รับการสนับสนุนเตาเผาถ่านชีวมวลไร้สารมลพิษ 100 เตา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตอำเภอแก่งคอย เป็นการใช้นวัตกรรมจากผลงานวิจัยมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการนำเหง้ามันสำปะหลังที่เหลือใช้มาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ ทำให้ได้ถ่านไม้คุณภาพ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ครัวเรือน มีเกษตรกรตั้งแต่ 40 รายขึ้นไป นำเหง้ามันสำปะหลังมาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ วัสดุที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านเป็นเศษไม้หรือต้นกระถินที่หาได้จากหัวไร่ปลายนา ใช้เวลาเผาถ่าน 4-5 ชั่วโมง ตนเองจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมถ่านไม้เหง้ามันสำปะหลังจากสมาชิกแล้วจัดการขายให้กับพ่อค้า 5-8 บาท ต่อกิโลกรัม นับเป็นหนึ่งทางเลือกที่ทำให้สมาชิกสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตและยกระดับรายได้สู่ความมั่นคง

คุณมะยม สมบูรณ์ สมาชิกแปลงใหญ่มันสำปะหลัง เผาถ่านในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ

คุณมะยม สมบูรณ์ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าร่วมในโครงการแปลงใหญ่มันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูก 120 ไร่ พื้นที่ 1 ไร่ใช้ต้นพันธุ์ปลูกในราว 500 ต้น วิธีปลูกได้นำต้นพันธุ์ 1 ต้นมาตัดเป็น 2-4 ท่อน แต่ละท่อนมี 5-7 ตา การปลูกนำไปปักเอียงลงในดิน 10-15 เซนติเมตร ปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถว 80-100 เซนติเมตร หลังจากปลูกมันสำปะหลัง 3-4 เดือน ได้ใส่ปุ๋ย 0-0-60 อัตรา 1/2 ถุง ต่อต้น การให้น้ำ ในฤดูฝนได้จัดการให้ต้นมันสำปะหลังได้รับน้ำจากน้ำฝน และส่วนฤดูแล้งให้ได้รับน้ำจากระบบน้ำหยด

การเก็บเกี่ยว การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาเหมาะสม เมื่อต้นมันสำปะหลังอายุ 8-10 เดือนก็จะได้หัวมันคุณภาพเฉลี่ย 8 ตัน ต่อไร่ หรือ 8,000 กิโลกรัม ต่อไร่ พื้นที่ปลูก 120 ไร่จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 960 ตัน หรือ 960,000 กิโลกรัม

เหง้ามันสำปะหลังตากแห้งที่เตรียมนำมาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ

การใช้ประโยชน์ ได้นำส่วนต่างๆ ของต้นมันสำปะหลังไปสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการขายหัวมันสด ที่แปรรูปเป็นหัวมันสดหมัก มันเส้นสะอาดที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหารโคนมสูตร TMR หรือขาย ต้นมัน เพื่อใช้เป็นพันธุ์ปลูก

การผลิตถ่านไม้ ได้นำเหง้ามันจากพื้นที่ 120 ไร่มาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ พื้นที่ 1 ไร่จะได้ถ่านไม้เฉลี่ย 200 กิโลกรัมหรือได้ถ่านไม้รวม 24,000 กิโลกรัม นำออกขาย 5 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 1,000 บาท ต่อไร่ หรือมีรายได้รวม 120,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับรายได้จากการขายส่วนต่างๆ ของต้นมันสำปะหลังที่แปรรูป ทำให้แต่ละปีมีรายได้เป็นเงินเรือนแสนบาท ส่งผลให้วิถีการยังชีพมีความมั่นคงกว่าวิธีการเดิม

จากเรื่อง “สู้วิกฤตเศรษฐกิจที่แปรปรวน ผลิตถ่านไม้จากเหง้ามันสำปะหลังขาย ทำให้วิถีมั่นคง” เป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ต้นมันสำปะหลังอย่างรู้คุณค่า สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณอนัญญา จันทร์น้อย บ้านเลขที่ 105 หมู่ที่ 9 บ้านหนองบอน ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โทร. (083) 878-5961 หรือคุณมะยม สมบูรณ์ โทร. (084) 775-6042 หรือคุณเสาวนิตย์ พรหมโชติ สำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วง โทร. (036) 359-021 ก็ได้ครับ

คุณอนัญญา จันทร์น้อย แนะนำการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ต้นมันสำปะหลัง
ได้รับการสนับสนุนเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตอำเภอแก่งคอย
การเผาถ่านจะทำให้ได้น้ำส้มควันไม้ใช้เป็นสารป้องกันศัตรูพืช และถ่านไม้ใช้เป็นเชื้อเพลิง