ดัน ‘พริกปลอดภัย’ สู่เกษตรแปลงใหญ่ ถอดบทเรียนพื้นที่ปลูกน้อย-เหลือเงินมาก

นักวิจัยถอดบทเรียน “ปลูกพริกพื้นที่น้อย เหลือเงินมาก” หนุนโครงการพริกแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดแพร่ ถือเป็นตัวอย่างที่นำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลมาดำเนินการและได้ผลดีเพราะมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจดำเนินงานบนฐานงานวิจัย “พริกปลอดภัย” สกสว. และหน่วยงานรัฐสนับสนุนต่อเนื่อง

อาจารย์วีระ โชว์คู่มือการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำโครงการ “พริกปลอดภัย” ที่จังหวัดชัยภูมิในปี 2553 อาจารย์วีระ ภาคอุทัย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประเมินภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่ามีมูลค่าการขายพริกประมาณ 900 ล้านบาท มูลค่าจ้างเก็บพริกประมาณ 300 ล้านบาท ทำให้มีการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น พริกผลใหญ่และพริกใหญ่พันธุ์ลูกผสม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และ พริกพันธุ์พื้นเมืองใน เภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาโรคและแมลงอย่างมากทั้งโรคกุ้งแห้ง ยอดเน่า รากเน่าโคนเน่า เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงวันทองพริก หรือแมลงวันพริกและหนอนเจาะผล เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตน้อยและราคาพริกที่เกษตรกรขายได้มีราคาตกต่ำ

พริกท่าวังผา น่าน

นักวิจัยระบุว่าปัญหาหลักเกิดจากเมล็ดที่เก็บไว้เองมีเชื้อรา ทำให้เกิดโรคกุ้งแห้งติดอยู่ การปลูกพริกหลังฤดูกาลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวนาปีแล้วไม่มีการไถเตรียมดินแล้วคลุมแปลงด้วยฟางหรือเปลือกข้าวโพดก่อนปลูกพริกและปลูกถี่เกินไป เพื่อให้ต้นพริกพยุงต้นป้องกันต้นพริกล้ม แปลงปลูกพริกอยู่ติดกันหรือปลูกพริกแน่น ไม่ได้วางแผนปลูกร่วมกัน หรือไม่ได้ก็บพริกที่เป็นโรคและแมลงออกจากสวน ให้น้ำแบบสายยางติดฝักบัวพ่นฝอยตลอดทำให้การแพร่กระจายของโรคกุ้งแห้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดินเป็นกรด (ค่าพีเอชน้อยกว่า 6.0) ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ยและเกิดโรคจากเชื้อราได้ง่าย

อาจารย์วีระ และคณะวิจัย จึงได้วิเคราะห์ปัญหาและจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตร เพื่อให้รู้สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไขป้องกัน กระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม การคัดเลือกเกษตรกรที่อยากทำวิจัยร่วมกับโครงการ โดยการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน เน้นการป้องกัน ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก โดยนำประสบการณ์จากจังหวัดชัยภูมิมาปรับใช้

แปลงพริกบ้านนาฝ่า น่าน

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ พบว่าปีการเพาะปลูก 2561/2562 พริกใหญ่มีผลผลิตเฉลี่ย 3,496.52 กิโลกรัม/ไร่ กำไรต่อไร่สูงกว่าไร่ละ 7,676.48 บาท ซึ่งงานวิจัยได้มีส่วนช่วยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนพริกแปลงใหญ่ อำเภอหนองม่วงไข่ มีเกษตรกรได้ใบรับรอง GAP ตามนโยบายของรัฐจำนวน 68 ราย ขณะที่ตลาดพริกเริ่มปรับตัว นอกจากส่งโรงงานซอสพริกแล้วยังขยายการส่งพริกสดผ่านพ่อค้าส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ต่อยอดงานวิจัยด้วยการจัดตั้งโรงคัดและบรรจุตามมาตรฐาน GMP และโรงอบพริก ส่วนผลผลิตพริกแดงสด บ้านนาฝ่า ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เฉลี่ยไร่ละ 2.5 ตัน มีรายได้ประมาณไร่ละ 30,000 บาท ทำให้ได้บทเรียน “ปลูกพริกพื้นที่น้อย เหลือเงินมาก ปลูกพริกพื้นที่มากไม่เหลือเงินเลย” โดยเงินที่ได้จากการขายพริกใช้เป็นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เงินทุนทำการเกษตร ใช้หนี้ ธ.ก.ส. หากเหลือจะเก็บออม ทั้งนี้ พริกที่แพร่และน่านส่วนใหญ่ส่งโรงงานซอสพริกที่ลำพูน พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ

นักวิจัยกล่าวว่าในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าพริกแห้งประมาณ 4,800 ล้านบาท ส่วนมากมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพริกสดลดลงจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาพริกแห้งนำเข้าถูกกว่าเพื่อใช้ทำพริกป่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และมีการนำเข้ามาเก็บในห้องเย็นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พริกสดราคาตก ปัจจุบันไทยนำเข้าพริกสดจากประเทศจีนจำนวนมาก ส่วนพริกแดงเด็ดก้านส่งโรงงานซอสพริกในประเทศไทยส่วนมากปลูกในจังหวัดสุโขทัย แพร่ น่าน และเชียงใหม่

ผลผลิตพริกของเกษตรกรหนองม่วงไข่

จากการสอบถามข้อมูลจากเลขากลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ในปี 2561 พบว่ามีการส่งเสริมให้ปลูกพริกแปลงใหญ่ใน อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ จำนวนสมาชิก 118 คน พื้นที่ปลูกพริก 234 ไร่ วงเงินกู้ ธ.ก.ส. ตั้งไว้ที่ 5 ล้านบาท แต่กู้จริงเพียง 1.15 ล้านบาท เสียดอกเบี้ย 48 บาท ซึ่งปกติเกษตรกรจะไม่ถอนเงินออกมาหมดทีเดียวแต่จะกู้เป็นงวด รวม 8 งวด ซื้อพริกได้ประมาณ 148 ตัน เพื่อส่งโรงงานซอสพริก และซื้อพริกแดงเด็ดก้านจากสมาชิกประมาณ กิโลกรัมละ 12 บาท ขายพริกราคาที่โรงงานซอสพริกประมาณกิโลกรัมละ 14 บาท มีกำไรเบื้องต้นประมาณ 16,406 บาท ซึ่งถือว่ายังมีกำไรยังไม่มาก เพราะทำปีแรก ขณะที่การจัดการต่างๆ ยังมีปัญหา โดยเฉพาะการหาที่ส่งพริกให้โรงงานและค่าขนส่ง แต่มีข้อสังเกตว่าเมื่อมีวิสาหกิจชุมชนพริกแปลงใหญ่เข้ามาซื้อพริก ทำให้ราคาพริกที่พ่อค้าในพื้นที่รับซื้อราคาไม่ตกเหมือนทุกปี

โครงการพริกแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นตัวอย่างที่นำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลมาทำแล้วได้ผล ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดแพร่ให้ความสนใจมากขึ้น ผลของความสำเร็จที่ได้เกิดจากการเลือกพืชที่มีผลกำไรสูง คือ พริก มีเกษตรกรเข้าร่วมมากพอ มีฐานงานวิจัยพริกปลอดภัยสนับสนุน มีการรวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจ และมีหน่วยงานรัฐหรือจังหวัดให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเกษตรกร อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยพริกปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ซึ่งนักวิจัยได้ขอพันธุ์จาก ดร. สิริกุล วะสี ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรงกุ้งแห้งที่เกิดจากเชื้อรา เกษตรกรปลูกพริกระบบปลอดภัยตามที่อบรมและใช้สารชีวภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ปลูกพริก  800 ต้น ให้น้ำระบบน้ำหยดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เก็บพริกขายส่งตลาดเองทั้งพริก เขียว พริกแดงและพริกแห้ง เดือนตุลาคม 2562 มีรายได้ 27,000 บาท ส่วนปี 2563 พริกสวย ดก โรคน้อย เพราะอากาศเย็น ราคาพริกสูงกว่าปีที่แล้ว 4-5 บาท/กิโลกรัม โดยเกษตรกรได้ใบรับรอง GAP พริกจากกรมวิชาการเกษตร หากขยายเกษตรกรไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมแล้วเชื่อมโยงเครือข่ายระบบเกษตรปลอดภัยจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในแต่ละจังหวัด