น้ำอ้อยเกษตรอินทรีย์ Amatika รสดี 100%

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์นครสวรรค์ ร่วมกันจัดงาน Green-D กินดี นครสวรรค์ ปันสุข ที่ บ้าน 120 ปี วิถีไม้สักไทย สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ( เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2563 )มีการออกร้านของบรรดาเครือข่ายฯ และทั้งร่วมพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับงานความก้าวหน้าในปีที่ผ่านมา ก็มีหลายเรื่องนะครับ ที่ผมคิดว่าจะขอย่อยมาชวนคุยในครั้งต่อๆ ไป

แต่ครั้งนี้ ขอชวนดื่มน้ำอ้อยอร่อยๆ สดชื่นๆ ที่เพิ่งมีโอกาสชิมในงานกันก่อน

อาจเป็นเพราะอากาศร้อน หรือปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศเมืองปากน้ำโพก็ได้ ที่ทำให้บ่ายวันนั้นผมรู้สึกหิวน้ำ คอแห้ง แล้วก็ให้เผอิญเดินมาพบ คุณคิม ศรีวรรณะ กำลังนั่งเคี่ยวอะไรในกระทะเดือดพล่านอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ ตรงใกล้ประตูทางเข้างานนั่นเอง

“อันนี้คือเราเคี่ยวทำน้ำเชื่อม (syrup) อ้อยอินทรีย์น่ะครับ” คุณคิมเล่าอย่างยิ้มแย้ม “อ้อยนี้เราใช้พันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นพันธุ์อ้อยพระราชทาน ปลูกที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร แบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูปนะครับ มีทำเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำอินทรีย์ แลกเปลี่ยนกันเรื่องพันธุ์และผลผลิตตลอด โดยเราปลูกเป็นแปลงขนาด 2×2 เมตร พออายุอ้อยได้ราว 8-12 เดือน ก็ตัดมาใช้ได้แล้วล่ะครับ”

หลังจากไปเข้าคิวซื้อน้ำอ้อยอินทรีย์คั้นสดๆ ที่ คุณมาติกา ศรีวรรณะ หีบขายอยู่บนรถข้างๆ เตามาดื่มดับกระหายจนชื่นใจแล้ว ก็มาดูเคี่ยวน้ำอ้อยต่อ คุณคิม เล่าว่า อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ที่ปลูกแบบอินทรีย์นี้ ราคาตกตันละ 3,500-5,000 บาท เหมาะจะหีบกินเป็นน้ำอ้อยสด หรืออย่างมากก็เคี่ยวทำ syrup อย่างที่เห็นนี้เท่านั้น โดยตั้งกระทะใบใหญ่บนเตาถ่าน เคี่ยวนานราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง น้ำอ้อยจะเดือดจนส่วนที่เป็นน้ำระเหยออกไปหมด เหลือเพียงน้ำตาลค่อนข้างข้น แถมมีข้อดีคือ เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คนที่มีอาการเบาหวานก็กินได้ค่อนข้างปลอดภัยกว่าน้ำตาลทั่วไป

“น้ำอ้อยสด 10 กิโลกรัม เคี่ยวทำเป็น syrup นี่เหลือแค่ราว 3 กิโลกรัมเท่านั้นเองนะครับ คือจะได้ขวดขนาดความจุ 250 ซีซี ราว 9 ขวด รสหวานจะขึ้นอยู่กับอายุอ้อย ถ้าแก่ จะหวานมาก ถ้าอ่อน รสก็จะอ่อนลงมาหน่อย เอาไปผสมเครื่องดื่ม กาแฟ หรือทำกับข้าวที่ต้องการรสชาติน้ำตาลอ้อยธรรมชาติแท้ๆ น่ะครับ เพราะอย่างน้ำตาลอ้อยที่ขายตามตลาดทั่วไปเนี่ย มันจะต้องมีผสมน้ำตาลอย่างอื่นเข้าไปเพื่อให้ความหวานมันเสถียร แต่ของเราไม่มีใส่แบบนี้ครับ”

คุณคิม ยังตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมไม่ทำเป็นน้ำตาลก้อนบ้าง “อ้อยพันธุ์นี้นี่ ถ้าเราเคี่ยวต่อไปให้มันข้นหนืดจนเป็นน้ำตาลก้อน มันจะเหนียว แห้ง แล้วก็รสชาติออกขมไปเลยครับ มันไม่เหมาะกับการทำเก็บเป็นก้อนหรอก ทำเป็นน้ำอ้อย หรือ syrup จะดีกว่า แล้วยิ่งถ้าเราถากๆ เปลือกออกด้วย สีมันจะสวย ได้น้ำอ้อยสีใสกว่า ถ้าไม่ปอกเนี่ย สักพักสีจะเริ่มคล้ำน่ะครับ แต่ความหอมก็อาจต่างกันไปบ้าง”

……….

ผมนั่งดูกระทะเคี่ยวน้ำอ้อยไปก็เห็นว่าน่าสนใจดี แต่สงสัยว่า จะสังเกตอย่างไร ว่า “ได้ที่” แล้วหรือยัง สำหรับการเคี่ยวกวนในแต่ละครั้ง

“ก็ตั้งเคี่ยวไปเรื่อยๆ ครับ ที่เห็นนี่คือผมแค่สาธิตให้ดูนะ เวลาเราทำจริงๆ ต้องใช้กระทะใบบัวใหญ่มาก ไฟก็ต้องใช้เตาดินขนาดใหญ่เลย คนไปเรื่อยๆ พอจวนได้เวลาที่กำหนด จะเห็นว่าน้ำอ้อยข้นๆ จะเดือดฟูพลุ่งขึ้นมาอีก 1-2 รอบ แสดงว่าน้ำระเหยออกไปจวนหมด เริ่มจะใช้ได้แล้ว พอฟูขึ้นมาชนิดแทบล้นขอบกระทะ ก็ได้ที่พอดี” นี่คือวิธีสังเกต

น้ำอ้อยข้นนี้ จำหน่ายราคาขวดละ 150 บาท คุณคิม บอกว่าทำมา 5 ปีแล้ว และก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการปลูกและดูแลอ้อยอย่างที่ผมคิด “กำแพงเพชรนี่ปลูกอ้อยเยอะมากนะครับ แต่ส่วนใหญ่ปลูกแบบใช้เคมี ราคาก็อยู่ที่ตันละราว 600 บาท อย่างของเราปลูกแบบอินทรีย์ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก จะมีก็คือหนอนกอ ที่มันรบกวนบ้าง แต่เราก็ไม่ทำอะไรมากนะ คือสมมุติว่ามันเริ่มมาลงต้นสองต้น เราก็ตัดทิ้งไป ท่อนที่ยังดี ก็เอาไปตากแดด มันก็จะตายไปเอง เอามาทำพันธุ์ต่อได้อีก” ฟังดูง่ายอย่างแทบไม่น่าเชื่อ แต่เมื่อออกจากปากคนที่ผลิตจริงมากว่า 5 ปี มีเครือข่ายแนวร่วม ตลอดจนมีพื้นที่จำหน่ายที่แน่นอน มั่นคง คือที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ นวนคร, ตลาด อ.ต.ก., ร้าน S&P และเครือ Central ก็นับว่านี่เป็นทางเลือกที่มีคุณภาพ และเปิดโอกาสแก่ผู้บริโภคทั่วไปให้ได้เข้าถึงอย่างไม่ยากเย็นนัก

วันนั้นผมซื้อน้ำอ้อย syrup ของคุณคิมติดมือกลับมาด้วย แล้วก็คิดเมนูอร่อยไว้ในใจได้หม้อหนึ่ง ใครจะทดลองทำก่อนก็ได้นะครับ คือผมนึกถึงปลาทูสดต้มเค็มหวานแบบบ้านๆ ที่มักมีขายตามตลาดเก่าโบราณๆ น่ะครับ แต่ผมจะเอาน้ำอ้อย syrup ของคุณคิมมาปรุงรสหวานแทนน้ำตาลปี๊บเคี่ยวไหม้ เป็นครีมคาราเมลแบบที่ใช้กันในสูตรปกติ ที่จริงผมอยากใช้น้ำอ้อยคั้นสดของคุณมาติกาแทนน้ำต้มเลยด้วยซ้ำไป แต่เวลาและระยะทางทำให้ไม่มีโอกาสทำแบบนั้นได้

เดาได้เลยว่า ต้มเค็มหวานหม้อนี้ต้องรสชาติหวานละมุนลิ้นแน่ๆ เลย

หากสนใจน้ำอ้อยเกษตรอินทรีย์ 100% ของกลุ่ม Amatika หรือต้องการเป็นตัวแทนจำหน่าย ก็ติดต่อโดยตรงได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ (097) 397-5545 นะครับ

ใครได้ลองดื่มสดๆ สักขวดหนึ่ง จะต้องจดจำรสชาติสดชื่นของมันไปนาน ชนิดไม่มีวันลืมได้แน่ๆ ครับ

 …………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563