เผยแพร่ |
---|
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีการขยายผลการนำผลงานวิจัย ไวรัสเอ็น พี วี (NPV) เพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของฟาร์มออร์แกนิก สร้างความปลอดภัยให้เกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงตั้งเป้านำเทคโนโลยีด้านจีโนมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการภาคเกษตรกรรมในอนาคต
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการรักสุขภาพ หันมาสนใจบริโภคพืชผักผลไม้มากขึ้น ดังนั้น การทำให้พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษจึงเป็นแนวทางสำคัญเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด (พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส) โดยเฉพาะสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรมาใช้สารชีวภัณฑ์ (คือ ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์) ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ทดแทนสารเคมี และเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรที่มุ่งมั่นจะทำการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ หรือ Biocontrol เป็นงานที่ ไบโอเทค สวทช. ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว โดยมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ราบิวเวอเรีย โปรตีนวิป (VIP) จากแบคทีเรีย และไวรัส เอ็น พี วี (NPV) ปัจจุบันทีมนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. พยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญของหลายสาขา เพื่อเพิ่มศักยภาพของการนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และที่สำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือการอุบัติใหม่ของแมลงศัตรูพืช ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป
นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัสเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไวรัส NPV ย่อมาจาก Nuclear Polyhedrosis Virus เป็นไวรัสที่เกิดโรคกับแมลงชนิดหนึ่งจากหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายแมลงศัตรูพืชได้สูงสุด เหมาะสมที่จะนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงเป้าหมาย มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยปัจจุบัน ไบโอเทค สวทช. มีการพัฒนาผลิตไวรัส NPV ของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย และไวรัส NPV ของหนอนกระทู้ผัก โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ไวรัส NPV จะเริ่มต้นจากกลไกการก่อโรคที่ไวรัส NPV จะทำให้แมลงเป็นโรคและตาย โดยการที่ตัวอ่อนของแมลงต้องกินไวรัสที่ปะปนอยู่บนใบพืชอาหาร เมื่อไวรัสเข้าสู่กระเพาะอาหาร ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของแมลงที่มีฤทธิ์เป็นด่าง อนุภาคไวรัสจะหลุดออกมาและเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร ลักษณะอาการโรคเริ่มต้นจากการที่หนอนจะลดการกินอาหารลง เมื่อไวรัสไปทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร อนุภาคของไวรัสจะขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้นแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของแมลง เข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ ผนังลำตัว เป็นต้น เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะเสียไป ทำให้หนอนตายในที่สุด
ด้าน นายเอกราช เครื่องพนัด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม เริ่มดำเนินการผลิตพืชแบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มทำการผลิตผักอินทรีย์หลายชนิด ได้แก่ พืชผักกลุ่มสลัด เช่น สลัดคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เป็นต้น และรวมไปถึงผักไทย ได้แก่ ผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ และแตงกวา เป็นต้น ซึ่งเริ่มทำการทดลองผลิตจากพื้นที่เล็กๆ ก่อนที่จะขยายพื้นที่การผลิตให้เต็มพื้นที่ปลูกอย่างในปัจจุบัน และผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทฯ เองยังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ มาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM และได้มาตรฐานการคัดบรรจุ โดยได้รับการรับรอง มาตรฐาน GMP CODEX เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของริมปิงอออร์แกนิคฟาร์มว่าได้รับผลผลิตที่ดี ในปัจจุบันผลผลิตของทางบริษัทฯ ได้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ทั้งในเชียงใหม่ ได้แก่ ห้างริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ทุกสาขา และในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามพารากอน เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เทอร์มินอล 21 ห้างเดอะมอลล์สาขาต่างๆ รวมไปถึง Villa market สาขา เสนาเฟสท์ เป็นต้น ด้วยแนวโน้มของความต้องการของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เติบโตขึ้น ทางบริษัทฯ เองได้ทำการปรับปรุงการผลิตเพื่อให้ผลผลิตของบริษัทฯ ออกมาสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักผลไม้อินทรีย์ที่ดีและมีคุณภาพสูงขึ้นต่อไป
“อย่างที่ทราบในการผลิตพืชอินทรีย์นั้น มีข้อจำกัดเรื่องของการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการป้องกันกำจัดพืช ฯลฯ ซึ่งในการปลูกพืชต่างๆ นั้นย่อมมีศัตรูพืชเข้ามารบกวนผลผลิตในแปลงอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะ หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนกระทู้หอม ซึ่งมีการเข้าทำลายพืชผักเป็นระยะๆ โดยบริษัทฯ ได้นำไวรัส NPV ของไบโอเทคเข้ามาใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยทางบริษัทฯ ใช้ผลิตภัณฑ์ไวรัส NPV มาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือจากทางทีมงานของไบโอเทคในการให้ข้อมูลเพื่อให้ใช้งานไวรัส NPV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น อัตราการใช้งาน แนะนำช่วงเวลาในการใช้งาน ความถี่ในการใช้ไวรัส NPV ในฤดูกาลต่างๆ ซึ่งผลจากคำแนะนำดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถป้องกันหนอนศัตรูพืชดังกล่าวได้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ใช้งานมา สามารถลดการสูญเสียผลผลิตที่ถูกหนอนเข้าทำลายได้ประมาณ 10-15 %” นายเอกราช เครื่องพนัด กล่าว
สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาสารชีวภัณฑ์และขยายผลการใช้เทคโนโลยีจีโนมของไบโอเทค ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา กล่าวว่า “เนื่องจากไวรัส NPV ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การนำไวรัสไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดที่จะนำ เทคโนโลยีด้านจีโนม เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส NPV ที่มีคุณสมบัติต่างๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูลว่า ยีนส่วนใดของไวรัสมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นไวรัสที่มีการเข้าทำลายแมลงสูง ซึ่งองค์ความรู้นี้จะสามารถทำให้นักวิจัยเลือกสายพันธุ์ไวรัสตัวใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ยังไม่มีไวรัส NPV ที่สามารถใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชที่อุบัติใหม่ในประเทศไทย การใช้องค์ความรู้ดังกล่าวจะสามารถหาไวรัส NPV ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกเพื่อหาสายพันธุ์เหมือนในอดีต ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วต่อไป”
เกษตรกรหรือผู้สนใจสารชีวภัณฑ์ NPV สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. โทรศัพท์ (02) 564-6700 ต่อ 3305