แพลนท์ แฟคตอรี่ (Plant Factory) โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต ผลิตผักได้เร็วและปริมาณมากกว่าผักบนดินหลายเท่าตัว

Plant Factory หรือ Vertical Farming System-Plant Factory with Artificial Lighting (PFAL) นวัตกรรมในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ มีความแข็งแรงปราศจากโรค  แมลง สารเคมีปนเปื้อน และมีเสถียรภาพในการผลิต โดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลแห่งผลผลิต และปัจจัยของธรรมชาติ

Plant Factory คืออะไร

Plant Factory คือ โรงงานผลิตพืช เป็นระบบการปลูกพืชที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารละลายธาตุ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ Plant Factory มีการใช้เทคนิค Soilless Culture ในการปลูกพืช เช่น ระบบไฮโดรโพนิกส์ คือการปลูกพืชโดยให้รากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายธาตุอาหารจะไหลผ่านในรางปลูกพืช โดยใช้ปั๊มดูดสารละลายให้ไหลผ่านรางมาที่รากพืช และไหลเวียนกลับมายังถังเก็บสารละลาย ข้อแตกต่างระหว่าง Plant Factory กับ ระบบไฮโดรโพนิกส์ คือ ระบบ Plant Factory สามารถปลูกพืชในแนวตั้งได้หลายชั้น อาจมากถึง 10 ชั้น ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะกับสถานที่ที่มีพื้นจำกัด โดยชนิดพืชที่เหมาะสมในการปลูกด้วยระบบ Plant Factory ได้แก่ กลุ่มพืชอาหารหลัก เช่น ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย กลุ่มพืชเพื่อสุขภาพ เช่น พืชผัก และพืชสมุนไพร รวมถึงไม้ดอก

พื้นที่น้อยไม่เป็นปัญหา สามารถปลูกได้หลายชั้น

คุณชนุตร์พันธุ์ หอสุวรรณ์ (คุณตอง) กรรมการผู้จัดการ ศูนย์เกษตรกรรมบางไทร อยู่ที่ 106/361 หมู่ที่ 6 ซอยนวมินทร์ 70 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เล่าว่า ตนเรียนจบปริญญาตรีการโรงแรม และปริญญาโทด้านบริหารการเงิน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งทั้งสองสาขาที่จบมานี้ไม่เกี่ยวข้องกับงานสายเกษตรเลย แต่เนื่องจากคุณพ่อประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานด้านการเกษตรอยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานคุณพ่อบ้าง เริ่มจากการช่วยเป็นล่ามภาษาต่างประเทศ เพราะจะมีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาดูงานที่บริษัทอยู่เป็นประจำ จึงเกิดการซึมซับและคลุกคลี มารู้ตัวเองอีกทีก็หลงรักงานด้านนี้ไปแล้ว จึงเริ่มทำจริงจังมาเรื่อยๆ จากเป็นล่ามก็ทำมากกว่านั้นคือ การศึกษาข้อมูลและลงมือเรียนรู้ระบบจนเกิดความชำนาญ ทุกวันนี้ได้เข้ามาสืบทอดกิจการของคุณพ่อไปโดยปริยาย

คุณชนุตร์พันธุ์ หอสุวรรณ์ (คุณตอง) กรรมการผู้จัดการ ศูนย์เกษตรกรรมบางไทร

ศูนย์เกษตรกรรมบางไทร
แหล่งเรียนรู้ปลูกพืชแห่งอนาคต

คุณตอง อธิบายถึงรูปแบบการปฏิบัติการของศูนย์เกษตรกรรมบางไทร ว่า ศูนย์เกษตรกรรมบางไทร คือเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตรสมัยใหม่ จำหน่ายตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ผัก อุปกรณ์ประกอบชุดปลูก ชุดปลูกผักไฮโดรโพนิกส์สำเร็จรูป ปั๊มน้ำ รวมถึงการให้ความสนใจและพยายามพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเมืองไทยอย่างไม่หยุดยั้ง ล่าสุดทางศูนย์เกษตรกรรมบางไทรได้ร่วมกับไบโอเทค มีการทดลองปลูกพืชระบบ Plant Factory ขึ้นมา เพื่อใช้ในงานวิจัย

ระบบ Plant Factory ขนาดเล็ก

โดยรูปแบบเครื่องปลูกและอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ทางศูนย์เกษตรกรรมบางไทรเป็นผู้ทำแม่พิมพ์เองทั้งหมด ไม่ได้มีการนำเข้า และมีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

โดยรูปแบบ Plant Factory แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติ (Plant Factory with Sunlight)

    ระบบ Plant Factory ขนาดเล็ก
  2. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม (Plant Factory with Sunlight and Supplemental Light)

    ตัวอย่าง รูปแบบโรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม (Plant Factory with Sunlight and Supplemental Light)
  3. โรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ (Plant Factory with Fully Artificial Light) ซึ่งรูปแบบ Plant Factory ทั้ง 3 ประเภทนี้ คุณตอง บอกว่า เกษตรกรสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับเป้าหมายและทุนทรัพย์ของตัวเองได้ อย่างที่ศูนย์ตอนนี้มีการทดลองปลูกพืชทั้ง 3 ประเภท แต่ละประเภทมีจุดมุ่งหมาย และตลาดที่แตกต่างกัน จะมีผลรับที่เหมือนกันคือ สามารถให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ลดต้นทุนค่าแรงงาน และสามารถปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกไปได้เรื่อยๆ

    ตัวอย่าง รูปแบบโรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ (Plant Factory with Fully Artificial Light)

รูปแบบที่ 1 โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติ (Plant Factory with Sunlight) เหมาะกับเกษตรกรที่เพิ่งเริ่มต้น แต่อยากได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ลดต้นทุนค่าแรงงาน แต่มีเงินทุนไม่มาก เพราะไม่จำเป็นจะต้องใช้หลอดไฟอย่างเดียว แต่ใช้แสงแดดธรรมชาติ เพราะประเทศไทยมีต้นทุนแสงแดดที่ดีอยู่แล้ว

โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติ (Plant Factory with Sunlight)

รูปแบบที่ 2 โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม (Plant Factory with Sunlight and Supplemental Light) ระบบนี้จะมีต้นทุนเพิ่มเข้ามาในเรื่องของการติดหลอดไฟ แต่ผลผลิตที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งตอนนี้ทางศูนย์ได้ใช้โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม ปลูกผักสลัด เมล่อน บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ต ปลูกเสร็จเก็บส่งตรงถึงครัวเพื่อนำมาประกอบอาหารให้กับผู้ที่เข้าพักโรงแรมได้รับประทานผักผลไม้ที่สดใหม่และได้คุณภาพ

โดยมีพื้นที่การปลูกกว่า 4,000 ตารางเมตร ใช้แรงงานในการดูแลเพียง 2 คน ดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเมล็ดถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยวและส่งไปยังครัวของโรงแรม

โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม บนชั้นดาดฟ้าโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ต

“ระบบปลูกพืชที่ใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม ตอนเช้าจะใช้แสงธรรมชาติ ตอนเย็นจะเปิดไฟร่วม ขนาดความกว้างของโรงเรือน กว้าง 2 เมตร ยาว 7.2 เมตร คลุมพลาสติกรอบด้าน สามารถกันแมลงได้ ภายในโรงเรือนต้องควบคุมความชื้น มีการติดตั้งพัดลมช่วยกระจายออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีปั๊มน้ำ และถังเก็บสารละลาย ส่วนการป้องกันแสงแดด แสงธรรมชาติอาจจะแรงไป ให้ใช้ซาแรนคลุมเพื่อกรองแสงในโซนที่ไม่ต้องการ ต้นทุนการผลิตต่ำ อยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 บาท โรงแรมรับซื้อ กิโลกรัมละ 150 บาท 1 โรงเรือน ลงทุนครั้งแรก 40,000 บาท ผักสลัดใช้เวลาการปลูกเพียง 30 วัน ต่างจากปลูกลงดิน ที่ต้องใช้เวลา 60-65 วัน ผลผลิตออกมา ครั้งละ 100 กิโลกรัม 1 เดือน มีรายได้ 15,000 บาท ปลูก 3 รอบ ก็สามารถคืนทุนแล้ว” คุณตอง บอกเล่าถึงตัวอย่างการปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม

รูปแบบที่ 3 โรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ (Plant Factory with Fully Artificial Light) ระบบนี้คุณตอง บอกว่า จะเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อทำการวิจัย หรือต้องการนำสารจากพืชไปสกัดเป็นยาและเวชสำอาง เนื่องจากค่อนข้างมีต้นทุนที่สูง ถ้าคิดจะปลูกขายส่งตลาดทั่วไปไม่คุ้มแน่นอน เพราะค่าติดหลอดไฟ 1 หลอด ราคาค่อนข้างสูง วิธีนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ทำไปเพื่ออะไร และต้องการได้ผลผลิตและคุณภาพที่สม่ำเสมอ ยกตัวอย่าง ขมิ้น ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกเยอะ แต่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าสารเคอร์คูมินอยด์ในขมิ้นเพื่อนำมาทำเป็นยา สาเหตุมาจากรูปแบบการปลูกในประเทศไทยมีการปลูกเยอะก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะปลูกตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งปัจจัยการเจริญเติบโตต่างๆ แสง อุณหภูมิ ความชื้น หรือลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ปลูกยากขึ้นและสารที่มีประโยชน์ขาดหายไป

ภายในโรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ

ขั้นตอนการปลูกพืชระบบปิด
ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ

  1. เพาะเมล็ด 7 วัน ลักษณะการเพาะคล้ายผักไฮโดรโพนิกส์
  2. ลงปลูกนับไปอีก 20 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้
  3. น้ำที่ใช้ดูแลผัก ต้องเป็นน้ำกรอง RO เป็นน้ำที่สะอาดกว่าที่ใช้ดื่ม
  4. ไฟเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น คลื่นความถี่ของแสงต้องดูตามความเหมาะสมของพืช ว่าพืชแต่ละชนิดต้องการคลื่นความถี่ที่เท่าไร หรือต้องการแสงสีอะไร ส่วนนี้ต้องปรึกษากับทีมวิจัยไบโอเทค
  5. กระบวนการทำงาน ใช้ระบบสั่งการผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เครื่องสามารถวัดระดับความชื้น วัดอุณหภูมิรอบห้อง วัดระดับก๊าซออกซิเจนภายในห้อง และสามารถจ่ายน้ำ ปุ๋ย ได้โดยอัตโนมัติ ทุกอย่างสั่งได้ด้วยมือ
เพาะเมล็ด 7 วัน ก่อนปลูก

ข้อดีที่พบ

  1. ประหยัดพื้นที่ ขนาดความกว้างโรงเรือนเพียง 24 ตารางเมตร สามารถปลูกผักสลัดได้ 5,000 ต้น ปลูกได้จำนวนเยอะ และสามารถใช้แสงเร่งสารกระตุ้นพืชได้ เช่น ทำให้ไนเตรตต่ำลง ให้วิตามินเพิ่มขึ้น เพื่อส่งไปวิจัยต่อ
  2. ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างแน่นอน ปลูกผัก 100 ต้น ผลผลิตที่ได้ออกมาสม่ำเสมอและสมบูรณ์กว่า 99 เปอร์เซ็นต์
  3. ปัญหาเรื่องโรค แมลง ไม่มี เพราะเป็นโรงเรือนระบบปิด ก่อนเข้าออกทุกครั้งต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ มีห้องแอร์เชาเวอร์ ห้ามสิ่งปฏิกูลเข้าไปได้ เพราะจะทำให้ติดเชื้อทั้งระบบ
  4. น้ำสำคัญมาก เพราะว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตภัยแล้ง แต่ Plant Factory สามารถรีไซเคิลน้ำปลูกได้ 4 รอบ หรือ 4 เดือน
  5. ลดระยะเวลาการปลูกให้สั้นลง จากเดิมปลูกในดิน ใช้เวลา 60-75 วัน แต่ Plant Factory ใช้ระยะปลูกเพียง 30 วัน หรือถ้าเป็นสมุนไพรกัญชาที่ทางศูนย์ทำการวิจัยร่วมกับไบโอเทค สามารถลดเวลาการปลูกจาก 1 ปี เหลือ 4 เดือน สามารถนำดอกมาใช้ทำยาได้แล้ว

 

ต้นทุนการผลิต

คุณตอง บอกว่า ต้นทุนการผลิตเริ่มตั้งแต่ตารางเมตรหลักพันจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และวัตถุประสงค์ที่เลือกใช้ ถ้าอุปกรณ์ราคาหลักหมื่นสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ถ้ามีเงินทุนน้อยอาจจะต้องใช้แรงงานคนเข้าไปช่วยในบางส่วน ในส่วนของโรงเรือนปลูกระบบปิดกันความชื้นจะมีราคาแพง แต่ถ้าเป็นกรีนเฮ้าส์ ใช้แสงอาทิตย์เข้าช่วย ตรงนี้ช่วยลดต้นทุนหลอดไฟไปได้มาก จะใช้เงินลงทุนเยอะในช่วงแรกเซ็ตอัพระบบ แต่หลังจากนั้น ต้นทุนจะถูกลง ค่าไฟปั๊มน้ำ ประมาณ 13 บาท ต่อเดือน ค่าน้ำ ใช้น้ำทั้งหมด 0.25 คิว ต่อ 1 เดือน ค่าปุ๋ย ใช้ประมาณ 180 บาท ต่อเดือน

 

ฝากถึงเกษตรกร ในอนาคต
Plant Factory สำคัญอย่างไร

ในอนาคต Plant Factory จะสำคัญกับเกษตรกรไทยแน่นอน เพราะทั้งในและต่างประเทศเริ่มทดลองปลูกพืชระบบ Plant Factory มากขึ้น เริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ถ้าทำได้แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง สามารถสร้างมูลค่าให้ผลผลิตได้มหาศาล เช่นตอนนี้ CBD จากกัญชา สกัดมา 1 ซีซี มีมูลค่า 1 แสนบาท 1 ต้น สกัดได้ปะมาณ 5 ซีซี ใช้พื้นที่เล็กก็ค่อนข้างคุ้มทุนมากแล้ว คุณตอง กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามข้อมูลรายละเอียด การปลูกพืช Plant Factory สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 080-454-5151

ภายในโรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ
โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม บนชั้นดาดฟ้าโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ต
เปิดอบรมสอนการปลูกผักแก่ผู้ที่สนใจ

ขอขอบคุณ ข้อมูล จาก สวทช. เอกสารงานสัมมนา Plant Factory Biotech