เกษตรกรนครราชสีมา เลี้ยงโคนมเป็นอาชีพเสริม จัดการแบบมีระบบ ช่วยให้น้ำนมมีคุณภาพ

โคนม เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางด้านปศุสัตว์ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรหลายพื้นที่ เพราะในหลายจังหวัดที่มีการส่งเสริมจะมีการตั้งสหกรณ์หรือแหล่งรับซื้อที่เพียงพอต่อปริมาณการผลิตให้กับเกษตรกร จึงทำให้ในแต่ละวันนมโคที่เกษตรกรรีดในช่วงเช้าและเย็น สามารถส่งจำหน่ายได้ทันที ทำให้น้ำนมที่รีดไม่มีการตกค้างเป็นนมที่สดใหม่ในทุกๆ วัน เพียงแต่เกษตรกรต้องทำการเลี้ยงโคนมให้มีคุณภาพ เพื่อที่น้ำนมที่ได้จากการรีด เมื่อส่งจำหน่ายยังแหล่งรับซื้อแล้ว จะได้ราคาที่ดีไปพร้อมกับคุณภาพของน้ำนมด้วย

คุณมานพ ปรางค์นอก

คุณมานพ ปรางค์นอก อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 1 บ้านซับเศรษฐี ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ยึดการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพเสริม โดยหลังจากว่างทำไร่ทำสวนอื่น จะใช้เวลาว่างที่รอผลผลิตเจริญเติบโตมาเลี้ยงโคนม ทำให้มีรายได้หลากหลายช่องทาง เกิดเป็นรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

เปลือกข้าวโพด

คุณมานพ เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของครอบครัวคือการทำไร่ทำสวน เหตุที่ได้มาเลี้ยงโคนมเกิดจากการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมในพื้นที่มากขึ้น จึงทำให้เขานำโคนมมาทดลองเลี้ยงประมาณ 6 ตัว ในช่วงปี 2556 เริ่มต้นใหม่ๆ ยังไม่มีความรู้มากนัก โคนมที่เลี้ยงเกิดโรคและตายไปบ้าง จากนั้นตั้งต้นใหม่ทำการศึกษาการเลี้ยงไปเรื่อยๆ และพยายามจับทางการเลี้ยงให้ได้

ฟางข้าว

การเลี้ยงโคนมจึงพัฒนามากขึ้น ทำให้มีโคนมเพิ่มจำนวนมาก โดยบางส่วนเกิดจากการขยายพันธุ์เองภายในฟาร์ม และบางส่วนซื้อเข้ามาเลี้ยงเพิ่มจนทำให้เวลานี้โคนมภายในฟาร์มมีอยู่ถึงประมาณ 60 ตัว โดยโคนมที่ทำการเลี้ยงทั้งหมดจะมีแต่โคนมตัวเมีย ส่วนตัวผู้เมื่อคลอดออกจากท้องแม่โคนมแล้วจะส่งจำหน่ายได้ทันที ไม่ต้องเก็บไว้เลี้ยงภายในฟาร์ม

ลูกโคนม

สำหรับคอกที่ใช้เลี้ยงโคนมจะทำให้มีพื้นที่สำหรับเดินเล่น และสร้างโรงเรือนหลังคาสูงไว้ให้โคนมได้นอนพักในช่วงกลางวันที่อากาศร้อน ซึ่งการผสมพันธุ์โคนมภายในฟาร์มจะเน้นเป็นผสมเทียมเป็นหลัก

“พอโคนมตัวเมียมีอายุได้ประมาณ 1 ปี 8 เดือน เราก็ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาทำการผสมเทียมให้ ผสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งท้อง เมื่อแม่โคนมผสมติดแล้ว จะตั้งท้องประมาณ 9 เดือน แม่โคนมจะคลอดลูกออกมา จากนั้นให้ลูกโคกินนมเหลืองจากแม่ก่อนประมาณ 3 วัน แล้วเราก็จะแยกลูกโคออกมาทันที มาเลี้ยงแยกต่างหาก ลูกโคที่แยกจากแม่โค จะนำมาเลี้ยงด้วยน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูกโคประมาณ 4 -5 เดือน หลังจากนั้น จึงฝึกให้ลูกโคกินอาหารข้น ส่วนแม่โคก็จะทำการรีดนมได้ทันทีในช่วงเช้าและเย็น โดยไม่ต้องปล่อยให้แม่โคเลี้ยงลูกเอง” คุณมานพ บอก

พื้นที่ภายในคอก

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงแม่โคจะให้กินทั้งเปลือกข้าวโพด ฟาง และหญ้า สลับกันไปกับอาหารข้น 3 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ให้แม่โคกินอาหารแบบนี้ในทุกๆ วัน หลังจากแม่โคออกลูกได้ 1-2 เดือน ก็จะติดสัดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น ให้ทำการผสมพันธุ์แม่โคใหม่ได้ทันที เมื่อโคนมตั้งท้องแล้ว ก่อนคลอด 4-5 เดือนจะหยุดรีดนมเพื่อให้แม่โคได้พักเต้าในช่วงก่อนคลอด

ในส่วนของการป้องกันโรคให้กับโคนมภายในฟาร์มนั้น จะมีการทำวัคซีนตามแผนที่กำหนดจะฉีดวัคซีนแก้โรคคอบวมและปากเท้าเปื่อยทุกๆ 6 เดือนครั้ง และโรงเรือนก็จะมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออยู่เสมอ ก็จะช่วยให้สภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรือนมีความสะอาด และไม่เกิดการสะสมของโรค

สำหรับการทำตลาดส่งจำหน่ายน้ำนมโคที่ได้จากการกรีดในแต่ละวัน คุณมานพ บอกว่า จะส่งขายให้กับสหกรณ์รับซื้อภายในพื้นที่ทันที โดยน้ำนมที่รีดได้ในช่วงเช้าและเย็น เฉลี่ยแล้วน้ำนมที่ได้จากโคทั้งหมดภายในฟาร์มอยู่ที่ 300 กิโลกรัม ต่อวัน หากคุณภาพน้ำนมที่ส่งจำหน่ายมีคุณภาพตามที่กำหนด ราคาจำหน่ายสูงสุดจะอยู่ที่ 19.50 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำนมที่มีคุณภาพลดลงไปราคาก็จะลดตามลงไปด้วย

อาหารที่โคนมกินในแต่ละวัน

“ตั้งแต่ผมมาเลี้ยงโคนม การเลี้ยงโคนมต้องมีการจัดการบริหารให้ดี เพราะเราจะละเวลาจากไปไหนไม่ได้ เพราะเวลารีดนมในทุกๆ วัน จะค่อนข้างที่แน่นอน จากนั้นการจะทำให้เราได้รายได้เพิ่ม อาหารที่เลี้ยงต้องขุนให้ถึง ให้แม่โคได้กินอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้น้ำนมมีคุณภาพดี สิ่งที่ตามมาเมื่อนำน้ำนมไปส่งจำหน่ายก็จะได้ราคาที่ดีตามไปด้วย เพราะฉะนั้น การเลี้ยงโคนมให้ประสบผลสำเร็จเราจึงต้องใส่ใจให้มากๆ ดูแลโคในทุกๆ วัน ดูอาการต่างๆ ว่ามันเจ็บป่วยอะไรบ้าง เท่านี้การเลี้ยงโคนมก็จะเกิดรายได้ และเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้” คุณมานพ แนะนำ

พื้นที่ภายในฟาร์ม

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงโคนม และต้องการรับความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงโคนม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมานพ ปรางค์นอก หมายเลขโทรศัพท์ (081) 282-1345