ปลูกพริก “อินทรีย์” สู้กับภาวะแล้งมาเยือน รายได้ดี ที่สกลนคร

จากสภาพความแห้งแล้ง แม้หน้าฝนน้ำก็ไม่ค่อยมี แต่เกษตรกรก็ยังทนสู้ พลิกฟื้นผืนดินเพื่อดิ้นรนต่อสู้กับภาวะแล้ง ที่ดูเหมือนจะซ้ำซาก เกษตรกรชาวบ้านไม่เคยย่อท้อหรือท้อถอย กลับมีมานะหาทางสู้กับภาวะธรรมชาติที่เรียกว่าไม่ปรานีใคร

ครั้งนี้ได้รับคำเชิญชวน บอกเล่าจาก คุณสมใจ ครุฑตำคำ ประธานกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านหนองหอย ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร ว่า นอกจากกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสมาชิกธนาคารต้นไม้แล้ว ยังมีเกษตรกรเดือดร้อนได้รับผลกระทบจากสภาพความแห้งแล้ง กลุ่มเกษตรกรต้องประสบปัญหา การปลูกพริก ผักสวนครัวหาน้ำลำบาก น้ำที่มีก็ต้องใช้กันอย่างประหยัด บางรายพลิกผันลดพื้นที่เพาะปลูกลง โดยเฉพาะเกษตรกร “กลุ่มปลูกพริกอินทรีย์” นอกจากราคาพืชผลที่มีแนวโน้มราคาตกต่ำดิ่งลงทุกวัน ก็ต้องลดพื้นที่เพาะปลูกลงด้วย

ขับรถเดินทางจากตัวเมืองสกลนครมุ่งหน้าสู่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร ไปตามถนนสายสกลนคร-นครพนม ก่อนถึงทางเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ราว 1 กิโลเมตร ก็พบป้ายบอก เป็นเส้นทางหลวงชนบท สายบ้านเชียงเครือ-นาหมาโป้ และเลี้ยวซ้ายตามถนนดังกล่าว เข้าไปราว 7 กิโลเมตร ก็จะพบกับหมู่บ้านหนองหอย ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร ที่นี่ไปพบกับ คุณสมบัติ และ คุณยุวรี นึกชอบ เกษตรกร ประธานกลุ่มผู้ปลูกพริก “อินทรีย์” บ้านหนองหอย

คุณสมบัติ-คุณยุวรี นึกชอบ

คุณสมบัติและคุณยุวรี นึกชอบ สองสามีภรรยาให้ข้อมูลว่า พริก เป็นพืชผักที่ปลูกอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การปลูกพริกส่วนใหญ่มีทั้งปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจําหน่ายเพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว เมื่อมองดูอาหารหลักของคนอีสาน นั่นก็คือ ส้มตํา เครื่องปรุงที่จะขาดไม่ได้ คือ พริกขี้หนู ซึ่งช่วยเพิ่มสีสันและรสชาติของส้มตําและอาหารอื่นๆ ให้น่ารับประทาน ด้วยเหตุนี้การผลิตพริกของเกษตรกรจึงมีการปลูกตลอดทั้งปีหมุนเวียนกันไปตามสภาพพื้นที่ของแต่ละแห่ง

การปลูกพริกในช่วงฤดูแล้งนั้น (พริกสวน) เป็นการปลูกที่มีการให้น้ำและปุ๋ยค่อนข้างดี เกษตรกรจะเพาะกล้าประมาณกลางเดือนกันยายน ย้ายปลูกในเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หากเกษตรกรต้องรอพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวจะเพาะกล้าประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ย้ายกล้าประมาณต้นเดือนมกราคม เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศหนาวเย็น การปลูกพริกหลังเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน การปลูกพริกขี้หนูในบางพื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึงเดือนสิงหาคม

ในส่วนหมู่บ้านหนองหอยนั้น เกษตรกรแต่เดิมนิยมปลูกกันมาก และจะปลูกเพื่อบริโภคกันเอง ไม่มีการนำมาจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนอาหารกันในหมู่บ้าน ที่เป็นวัฒนธรรม ไม่ซื้อในสิ่งที่หาได้ ทำได้ แต่จะแบ่งปัน นี่คือ สังคมในชนบท ไม่เหมือนในเมือง น้ำยังมีให้ดื่มฟรี ไม่เหมือนสังคมทุกวันนี้ ไปมาหาสู่กัน น้ำยังได้ซื้อกิน

โดยส่วนใหญ่จะปลูกแบบเคมี คือการใช้ยาพ่นและฉีด เพราะพริกจะมีศัตรูมากเหมือนกัน ต่อมาชาวบ้านได้นำไปจำหน่ายในตลาด ปรากฏว่าตลาดมีความต้องการสูง เพราะอย่างน้อยพริกไปจากหมู่บ้านหรือพื้นบ้าน ก็มีการใช้ยาปราบศัตรูน้อยหรือแทบไม่ได้ใช้

ได้เงินทุกวัน

เมื่อสังคมมีการซื้อขาย หรือที่เรียกว่าทุกอย่างแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ ชาวบ้านจึงได้หันมาปลูกพริกเพื่อจำหน่าย จำนวนกว่า 30 ราย นอกจากนั้นปลูกตามหัวไร่ปลายนา เพื่อเก็บไว้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบเกษตรเคมี คือใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อเร่งให้ผลผลิตทันเวลาตามที่ต้องการ

คุณสมบัติ ในวัย 51 ปี บอกอีกว่า ต่อมาเมื่อมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร มาตั้งอยู่ในตำบลนี้ ปี 2543-2544 ได้มีอาจารย์จากทางมหาวิทยาลัย พร้อมนิสิตได้ออกพื้นที่ แนะนำชาวบ้านให้ความรู้เรื่องการทำการเกษตรว่า เกษตรเคมี อันตรายทั้งคนบริโภคและคนปลูก ดังนั้น หากทำได้ ควรทำเกษตร “อินทรีย์” ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมี ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งสนใจ ได้หันมาจับกลุ่มกันปลูกพืชทุกอย่างแบบ “อินทรีย์” แต่มีเกษตรกรบางรายก็ยังทำเกษตรเคมีอยู่ตลอดมา

คุณยุวรี บอกว่า ด้วยราคาหรือการไม่ชอบเคมี จึงร่วมกับสามีหันมาทำเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น การปลูกพริก ส่งขาย พืชทุกอย่างไม่ใช้สารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืช หากใช้ปุ๋ยจะเป็นปุ๋ยคอก มูลวัว มูลควาย เป็นธรรมชาติทุกชนิด

คุณยุวรี กับระบบน้ำ

โดยเฉพาะการปลูกพริกและผักสวนครัว หากเปรียบเทียบราคา พริกที่ปลูกเกี่ยวข้องเป็นพวกเคมีหรือใช้ยาปราบศัตรูพืช ขายได้ตามท้องตลาด ราคากิโลกรัมละ 20 บาท พริกจากการปลูกแบบ “อินทรีย์” จะได้ราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท ราคาห่างแตกต่างกันมาก

ปัจจุบัน แม้ราคาพริกที่ปลูกทั่วไป (ใช้เคมี) จะได้กิโลกรัมละ 17-20 บาท แต่พริกจากกลุ่มปลูกแบบอินทรีย์ จะได้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท

คุณยุวรี บอกว่า ในที่ดินจำนวนกว่า 10 ไร่ ของตนเอง ได้แยกเป็นการทำนาปี จำนวน  8 ไร่ และทำเศรษฐกิจแบบพอเพียงและอยู่ในกลุ่มของไร้สารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มปลูกพริกแบบอินทรีย์ ส่งขายในตลาด ซึ่งมีความต้องการสูง ที่เหลืออีกราว 5 ไร่ ใช้เป็นการทำเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว ตลอดจนทำแปลงปลูกพริกและผักในสวนครัว ส่งขายทุกวัน รอบๆ ก็จะปลูกกล้วยและมะละกอ

กล้วยน้ำว้า

คุณยุวรี ให้ข้อมูลว่า กลุ่มเกษตรกรปลูกพริกและกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องของน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกร หากขาดน้ำก็หมดกัน ในช่วงนี้น้ำเริ่มน้อยและขาดแคลนแล้ว หากไปถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เกษตรกรจำเป็นต้องหยุดเพาะปลูกพืชบางชนิด เพราะน้ำไม่เพียงพอ บางรายปลูกดอกดาวเรือง จากเคยปลูกมากจะลดเหลือ 1 งาน จากที่เคยปลูก 3-4 ไร่ สิ่งที่ต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ คือน้ำ อยากฝากหรือขอร้องไปถึงหน่วยงานที่ดูแล มาช่วยแก้ปัญหาให้และช่วยชาวบ้านด้วย ช่วงนี้ก็ต้องเจาะบาดาลหาน้ใต้ดินขึ้นมา แต่ความหวังก็ริบหรี่ เพราะเมื่อถึงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ทุกปีน้ำบาดาลก็ไม่มีเช่นกัน

“รายได้จากการทำสวนพริกและผักแบบอินทรีย์ จะอยู่ที่วันละ 300 บาท ก็ถือว่าดีสุดแล้ว ไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมา เฉพาะครอบเราจะมีรายได้ถึงวันละ 1,000-1,500 บาท โดยเฉพาะพริกแบบอินทรีย์ โดยเฉพาะพริกไม่พอจำหน่าย โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร รับซื้อไม่อั้น ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ในช่วงนี้ ขณะเดียวกันส่วนพริกที่ปลูกเป็นแบบใช้เคมี ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 17-20 บาท เจอทั้งปัญหาภาวะแล้ง ราคาพริกยังตกต่ำอีกด้วย สำหรับรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกพริกในช่วงนี้ จะอยู่ที่วันละ 300 บาท หรือเดือนละไม่ถึงหมื่นบาท ปัญหาคือ เรื่องน้ำ ขณะนี้แล้งเริ่มขยับเข้ามา ฝากผู้ที่เคยรับปากไว้ช่วงหาเสียง อย่าลืมสัญญาอะไรไว้กับชาวบ้านด้วย” คุณยุวรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรหรือหน่วยงานที่สนใจ ต้องการศึกษาหรือต้องการข้อมูล ติดต่อ คุณสมบัติ-คุณยุวรี นึกชอบ โทร. 061-131-3426 ได้ทุกวัน

มะละกอ
ผักชี
กล้วยน้ำว้า