สาคู เปลือกกุ้ง อาหารของเป็ดไข่ สูตรลดต้นทุน

สืบเนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเสบียงสัตว์ มีราคาแพง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงตามไปด้วย เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เกิดจากค่าอาหาร ถึงร้อยละ 70 ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ ช่องทางสำคัญที่จะทำให้การประกอบอาชีพสามารถอยู่รอดได้ นั่นคือ การลดต้นทุนการผลิตลง โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารที่ใช้เลี้ยง

การประยุกต์ใช้พืชในท้องถิ่นมาเป็นอาหาร เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำได้ ดั่งเช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงเป็ดเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่กำลังประสบความสำเร็จในขณะนี้

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงเป็ดเขาตูม จากผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ที่มีต่อการเลี้ยงเป็ดไข่ อันเป็นกิจกรรมเสริมรายได้ ทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ต้องหาทางออก โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้พวกเขามองถึงการนำต้นสาคูที่มีอยู่มากในท้องถิ่น มาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบเลี้ยงเป็ดไข่ทดแทนอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาแพง ช่วยประหยัดค่าอาหารเป็ดได้ค่อนข้างดี ทำให้กลุ่มมีกำไรและพอที่จะอยู่รอดได้

คุณลาริ เหมหลำ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงเป็ดเขาตูม เล่าให้ฟังว่า สำหรับอาชีพหลักของสมาชิกในกลุ่ม ได้แก่ การปลูกยางพารา โดยอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.

“แต่พอดีว่ามีพื้นที่ว่าง เหลือประมาณ 1 ไร่ จึงคิดใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้เสริม” ประธานกลุ่มกล่าว

“แรกเริ่มได้ชักชวนเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงเป็ดเขาตูม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 มีสมาชิก 7 ราย ระดมหุ้น รายละ 15,000 บาท พร้อมกับกู้เงินกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมาลงทุน จำนวน 140,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ด และใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงเป็ดไข่ จำนวน 500 ตัว”

ทั้งนี้ สาเหตุที่เลือกเลี้ยงเป็ดไข่ เพราะตลาดในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมีความต้องการไข่เป็ดจำนวนมาก มีตลาดรองรับแน่นอน ไม่ต้องแข่งขันสูงเหมือนกับไก่ไข่

ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า ทางกลุ่มซื้อลูกเป็ดมาเลี้ยง ราคาตัวละ 19 บาท หลังจากเลี้ยงได้ 4 เดือน เป็ดจะเริ่มออกไข่ และเมื่ออายุได้ 6 เดือน จะให้ผลผลิตไข่เต็มที่

ปัจจุบัน กลุ่มสามารถเก็บไข่เป็ดได้ไม่ต่ำกว่า 300 ฟอง ต่อวัน หรือ 9,000 ฟอง ต่อเดือน โดยผลผลิตไข่ที่ได้ มีทั้งการส่งไข่เป็ดสดคละเกรดให้กับพ่อค้าในตลาดจังหวัดยะลา ฟองละ 3 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งแปรรูปเป็นไข่เค็ม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยจำหน่ายในราคา 4 บาท  ต่อฟอง

แต่อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มได้ประสบปัญหาสำคัญ เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่ที่มีราคาแพง

หนทางแก้ไขนั้น กลุ่มจึงได้หันมาใช้วัสดุที่มีอยู่มากในธรรมชาติ คือ ต้นสาคู นำมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดทดแทนรำข้าวที่มีราคาสูง นับว่าช่วยลดภาระได้ค่อนข้างมาก

คุณลาริ กล่าวด้วยว่า ต้นสาคู เป็นไม้ยืนต้น เป็นพืชตระกูลเดียวกับปาล์ม ซึ่งถือเป็นพืชประจำท้องถิ่นของภาคใต้ สามารถขึ้นได้ในธรรมชาติตามพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดี พบมากในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล ฯลฯ

ซึ่งลำต้นของต้นสาคูจะมีลักษณะกลม เมื่อต้นแก่เต็มที่จะมีจั่นดอกแตกออกตรงส่วนยอด ชาวบ้านเรียกว่า “แตกเขากวาง” เพราะแต่ละจั่นมีแง่งคล้ายเขากวาง เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะสูงประมาณ 8-10 เมตร

สำหรับพืชท้องถิ่นชนิดนี้ เป็นพืชที่คนในท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ใบของต้นสาคู สามารถนำไปมุงหลังคาแทนใบจาก ลำต้นใช้สร้างบ้าน ทำเชื้อเพลิง และนำมาผลิตเป็นแป้งได้ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า แป้งสาคู

ทั้งนี้ ในส่วนของคุณค่าทางอาหารของแป้งสาคูนั้น พบว่า แป้งสาคู 100 กรัม จะประกอบด้วย ความชื้น 14 กรัม โปรตีน 0.7 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 84.7 กรัม พลังงาน 353 แคลอรี วิตามิน บี 1 0.01 มิลลิกรัม แคลเซียม 11 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม และเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม

ซึ่งจากข้อมูลของกองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ให้ข้อแนะนำในการนำสาคูมาใช้เลี้ยงสัตว์ว่า ด้วยคุณค่าทางอาหารต่ำ การใช้เป็นอาหารสัตว์ควรใช้ร่วมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารตามความต้องการของสัตว์ นอกจากนี้ สาคูบดและตากแห้งสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานในสูตรอาหารได้เช่นเดียวกับมันเส้น และควรใช้สาคูร่วมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากสาคูมีคุณค่าทางอาหารต่ำ

สำหรับวิธีการนำต้นสาคูมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด กลุ่มจะเลือกเฉพาะต้นที่มีจั่นดอก เพราะจะให้โปรตีนสูง โดยตัดทั้งต้นนำมาเลาะเปลือกออก จากนั้นนำลำต้นเข้าเครื่องบดให้ละเอียด แล้วค่อยนำมาผสมกับอาหารสำเร็จรูปให้เป็ดกินทุกวัน

ต้นสาคู 1 ต้น สามารถใช้เลี้ยงเป็ดไข่ จำนวน 500 ตัว ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

จากการเก็บข้อมูลของทางกลุ่มพบว่า เป็ดไข่ที่เลี้ยงด้วยสาคู มีประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดี น้ำหนักและอัตราการเจริญเติบโตของเป็ดไม่แตกต่างกับการเลี้ยงด้วยรำข้าวหรือปลายข้าว

“สำหรับต้นสาคูนี้ถือว่าสามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้ค่อนข้างมาก ทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และคืนทุนได้ภายใน 6 เดือน หลังจากเป็ดเริ่มให้ผลผลิต” ประธานกลุ่มกล่าว

นอกจากการนำพืชท้องถิ่นอย่าง สาคู มาใช้ประโยชน์แล้ว ทางกลุ่มยังได้นำวัสดุที่เหลือทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ หัวกุ้ง และเปลือกกุ้ง

ซึ่งหัวกุ้งและเปลือกกุ้ง ถือว่าเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าสูง โดยเฉพาะแคลเซียม โดยทางกลุ่มจะให้เสริมทุกวัน

เป็ดไข่ที่เลี้ยงด้วยหัวกุ้งและเปลือกกุ้งจะได้ไข่แดงที่มีสีแดงเข้ม

สำหรับหัวกุ้งและเปลือกกุ้ง ทางกลุ่มจะซื้อมาในราคา กิโลกรัมละ 3 บาท

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

Update 16/07/2021