ระวังเพลี้ยไฟ บุกสวนมังคุด

เพลี้ยไฟทำลายผลอ่อน

กลางคืนมีอากาศเย็น ส่วนกลางวันอากาศร้อนในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมังคุด เฝ้าระวังการระบาดของ เพลี้ยไฟ มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นมังคุดเริ่มออกดอกถึงระยะติดผลอ่อน โดยจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของ เพลี้ยไฟ เข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช สำหรับการเข้าทำลายของ เพลี้ยไฟ ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน อาจทำให้ดอกและผลอ่อนมังคุดร่วง ส่วนผลอ่อนมังคุดที่ไม่ร่วงเมื่อมีการพัฒนาผลโตขึ้น จะเห็นรอยทำลายของ เพลี้ยไฟ ชัดเจน เนื่องจากผิวเปลือกมังคุดจะมีลักษณะขรุขระ ที่เรียกว่า ผิวขี้กลาก ทำให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพต่ำ การเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ในระยะแตกยอดอ่อนและใบอ่อน จะส่งผลทำให้ต้นมังคุดชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น หงิกงอ ใบไหม้ และต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์

แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการระบาดของ เพลี้ยไฟ ให้เกษตรกรสำรวจการระบาดของ เพลี้ยไฟ บนใบอ่อน ดอก และยอดอ่อน หากพบ เพลี้ยไฟ จำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ตัว ต่อ 4 ดอก (0.25 ตัว ต่อดอก) หรือ 1 ตัว ต่อยอด หรือผลอ่อน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสาร อะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้ เพลี้ยไฟ สามารถต้านทานสารฆ่าแมลงได้