ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไก่เบตง สัญลักษณ์ใต้สุดแดนสยาม หลายท่านคงรู้จักไก่เบตงในเรื่องของรสชาติ ความอร่อย จุดเด่นของไก่สายพันธุ์นี้คือ เนื้อนุ่ม หนังกรอบ ไม่มีมันผสม กินแล้วอาจทำให้ลืมไก่เนื้อสายพันธุ์อื่นได้ และนอกจากความอร่อยแล้ว ไก่เบตงยังติดอันดับไก่เนื้อที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย คิดราคาแบบปรุงสำเร็จแล้ว ตกตัวละ 1,200 บาท แต่อย่าเพิ่งตกใจกับราคา ขอบอกเลยว่าไก่เบตงคุ้มค่าคุ้มราคาแน่นอน เพราะกว่าจะเป็นเนื้อไก่ที่อร่อยขนาดนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงเขาต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 6 เดือน เทียบกับไก่ทั่วไปแล้วใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานกว่ากันถึงเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ไก่เบตงจะมีรสชาติอร่อย และกำลังเป็นของหายากในขณะนี้
คุณธนันท์รัฐ อุดมธันยรัตน์ หรือ โกช้าง อยู่บ้านเลขที่ 54 ถนนรัตนเสถียร ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เกษตรกรมืออาชีพชื่อเสียงโด่งดังในวงการคนเลี้ยงไก่เบตง เล่าว่า ไก่เบตง เข้ามาในประเทศไทยโดยชาวจีนอพยพมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว แต่ค่อนข้างหาคนเลี้ยงได้ยากเต็มที สาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เลี้ยงยาก ต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานถึง 6 เดือน เลี้ยงแล้วขาดทุน อีกส่วนหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ไม่สานต่อ เข้าไปทำงานประกอบอาชีพกันในเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้เลี้ยงน้อยลงจนใกล้จะสูญหาย ด้วยความที่รัก และอยากสืบทอดและพัฒนาไก่เบตงให้คงอยู่ จึงจับไก่เบตงขึ้นมาพัฒนาใหม่
ก่อนที่โกช้างจะหันมาเลี้ยงไก่เบตง โกช้างเคยทำงานเป็นพนักงานแบงก์มาก่อน แต่ด้วยเกิดวิกฤตทางการเงิน จึงลาออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัว ขายอุปกรณ์ดับเพลิง แต่ก็ต้องล้มเลิกไป หันมาจับธุรกิจบ้านจัดสรร กำลังไปได้สวย แต่ด้วยความที่อยากอนุรักษ์ไก่เบตงให้คงอยู่เป็นของขึ้นชื่อให้จังหวัด จึงสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่เบตงขึ้นมา เริ่มแรกโกช้างเลี้ยงเองก่อน จนเกิดความชำนาญ หลังจากที่ตัวเองชำนาญ เริ่มเลี้ยงน้อยลง เปิดโอกาสสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายอื่นเปิดหาสมาชิกมาร่วมกลุ่ม โดยโกช้างจะผลิตลูกไก่ให้ชาวบ้าน และรับซื้อไก่เอง ในราคากิโลกรัมละ 350 บาท สูงกว่าราคาไก่ทั่วไปกว่าเท่าตัว เพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านอยากที่จะเลี้ยงต่อไป มีรายได้ไม่ขาดทุน
ตอนนี้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่เบตง มีสมาชิกสิบกว่าราย โดยมีโกช้างเป็นประธานกลุ่ม มีการส่งเสริมชาวบ้านให้เลี้ยงมากขึ้น แต่ตัวเองเลี้ยงน้อยลง เรามีหน้าที่หาพันธุ์ไก่ดี หาอาหารที่ถูก ให้ความรู้และรับซื้อคืน
สาเหตุที่โกช้างรับซื้อคืนเพราะชาวบ้านไม่มีตลาด เมื่อก่อนชาวบ้านเคยเลี้ยงแล้วขาดทุน โดนพ่อค้ากดราคา ซึ่งก่อนหน้านี้คนเลี้ยงเยอะ หลังๆ เลิกกันไป เพราะเลี้ยงแล้วขาดทุนกันหมด โกช้างจึงหันมาเลี้ยงเอง โดยจากราคาปกติขายกิโลกรัมละ 150 บาท แต่โกช้างรับซื้อในราคา 350 บาท ต่อกิโลกรัม รับซื้อเขาในราคาที่สูง มีการประกันราคาให้เกษตรกรผู้เลี้ยง นี่คือการตลาดที่ไม่มีทางตัน
ลักษณะเด่นของไก่เบตง
ไก่เบตง มีจุดเด่นหลายอย่าง ตั้งแต่วิธีการเลี้ยงแบบโบราณ คือเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ และการหุงข้าวให้กิน ผสมข้าวโพด จะทำให้เนื้อมีรสชาติพิเศษกว่าไก่ชนิดอื่น หนังจะกรอบ ไม่มีมันแทรก เนื้อนุ่ม หนังมีสีเหลืองอ่อน ไม่ขาวเหมือนไก่ทั่วไป นิยมนำมาทำเป็นไก่ต้มสับลงจาน ข้าวมันไก่
วิธีการเลี้ยง-เพาะพันธุ์
ที่ฟาร์มโกช้างจะเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ มีโรงเรือนธรรมดาเอาไว้กันแดดกันฝน กั้นรั้วถึงเอว เพราะไก่เบตงปีกสั้น บินได้ไม่สูง ถึงเวลาปล่อยให้ออกไปหาอาหารกิน ตอนกลางคืนกลับมาคอก ปล่อยให้กินหญ้า กินไส้เดือน อาหารไก่เล็กจะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป เพราะไก่เล็กยังไม่แข็งเรงหาอาหารกินเองไม่ได้ แต่พออายุได้ 45 วัน จึงเริ่มปล่อยให้หาอาหารกินเอง เริ่มหุงข้าวสวยผสมข้าวโพด ผสมหญ้า คลุกๆ ให้กิน ให้อาหารเช้า-เย็น ตอนเที่ยงหากินเอง ระยะเวลาการเลี้ยง 6-7 เดือน ขายออก ถ้าเข้าเดือนที่ 8 ไก่จะเริ่มเหนียว มีเวลาขาย 2 เดือน
วิธีการเพาะพันธุ์
ที่ฟาร์มใช้วิธีการผสมเทียม โดยการรีดน้ำเชื้อมาฉีดใส่ตัวเมีย เพราะว่าผสมตามธรรมชาติติดยาก เบตงฝนเยอะอุณหภูมิไม่ได้ ฟักไม่ออก
ต้นทุนการผลิต
โกช้าง เริ่มเลี้ยงไก่เบตงมาเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเลี้ยงเขาได้เรียกคนเลี้ยงเก่าๆ มาคุยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมถึงเลิกเลี้ยงกันไปหมด เขาบอกเขาขาดทุน เลี้ยงไม่ไหว ตนเองก็งงว่าไก่เบตงทั้งดี ทั้งอร่อย แต่ทำไมขาดทุน จึงมาเลี้ยงเอง เพื่อหาคำตอบให้ชาวบ้าน พอได้ลงมือเลี้ยงเองจึงรู้ถึงสาเหตุว่าการเลี้ยงไก่เบตงนั้น หนึ่ง. มีต้นทุนที่สูง เบตงอยู่ไกลจากเมืองหลวง วัตถุดิบที่นำมาเลี้ยงจะมีราคาแพงกว่าที่อื่นทุกอย่าง ข้าวโพดก็ต้องสั่งจากทางภาคกลาง อย่างที่อื่นขายข้าวโพด กิโลกรัมละ 3 บาท แต่ที่เบตง 18 บาท ทุกอย่างต้องสั่งจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด ที่นี่มีแต่สวนยาง สอง. เลี้ยงนานกว่าไก่ชนิดอื่นหลายเท่า ไก่ชนิดอื่นขายได้ตั้งแต่อายุ 90 วัน แต่ไก่เบตงต้องเลี้ยงถึง 6 เดือน เวลาขายได้ราคาปกติ เขาจึงเปลี่ยนไปเลี้ยงไก่อย่างอื่นหมด จึงต้องเลี้ยงเอง ขายเองทั้งหมด ถึงจะอยู่รอด
เลี้ยงไก่เบตงอย่างไร ไม่ให้ขาดทุน
เทคนิคการเลี้ยงไม่ให้ขาดทุนของโกช้างคือ ทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่
- เลี้ยงเอง
- ทำตลาดเอง มีร้านอาหารของตัวเองมารองรับผลผลิตที่ออกมา เมื่อถึงเวลาก็นำไก่ไปส่งตามร้านอาหารสาขาต่างๆ เน้นส่งของร้านตัวเองเป็นหลัก หากวันไหนไก่เพิ่มมากขึ้น ก็เปิดสาขาเพิ่ม คิดง่ายๆ ว่า 1 จังหวัด 1 สาขา ใช้ไก่สาขาละ 10 ตัว เดือนหนึ่งใช้ไก่ 20,000-30,000 ตัว แค่นี้ก็ผลิตไก่ขายไม่ทันแล้ว
- กำหนดราคาเอง กำหนดจากวิธีการเลี้ยง คุณภาพ ต้นทุน คิดอย่างไรให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วได้กำไร
ปัจจุบัน โกช้าง เปิดร้านข้าวมันไก่และร้านอาหารของตัวเองอยู่ที่อำเภอเบตง และกำลังขยายสาขาไปที่จังหวัดชลบุรี กระแสตอบรับดีมาก ผลิตไม่พอจำหน่าย จึงต้องขยายและส่งเสริมให้คนเลี้ยงเพิ่ม แต่ตอนนี้เกิดปัญหาผลิตลูกไก่ไม่พอให้สมาชิก คนอยากเลี้ยงเยอะ ใช้วิธีแจกบ้าง ขายบ้าง ในกรณีที่แจกจะให้คนที่ไม่มีทุนหรือออกให้บางส่วน ดูเป็นรายๆ ไป ถ้าคนไหนนิสัยดี ขยัน เราก็จะช่วย ส่วนใหญ่คือ ซื้อเองหมด มีแค่ 20% ที่ต้องช่วยเหลือ อาจจะให้ลูกไก่เขาไปเลี้ยงก่อน ขายได้ค่อยเอาเงินมาคืน ถ้าเขาลงทุนเองความตั้งใจเขาจะมีมากกว่า ไม่เหมือนกับการที่เราลงทุนให้
ไก่ 1 ตัว มีน้ำหนัก 2-2.5 กิโลกรัม ไก่สด ราคาตัวละ 700-800 บาท ถ้าปรุงสดที่ร้านโกช้าง ขายตัวละ 1,200 บาท ถือว่าเป็นไก่ที่แพงที่สุดในเมืองไทย เพราะว่าหนึ่งเลี้ยงยาก ต้นทุนสูง ถ้าคิดราคาถูกจะไม่มีไก่เบตงเลย เพราะเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เลี้ยงแล้วขาดทุนเขาก็ไปเลี้ยงไก่อื่น อย่างไก่เนื้อ เลี้ยงง่ายกว่า ใช้เวลาเพียง 90 วัน แต่ไก่เบตงต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 6 เดือน
การตลาดที่ดี ต้องเลี้ยงเอง ขายเอง กำหนดราคาเอง
อย่างที่ทราบ โกช้าง เลี้ยงและขายไก่เบตงเอง การตลาดของโกช้างถึงไปได้สวยไม่มีปัญหาเรื่องของสินค้าล้นตลาด ถึงแม้ไก่เบตงจะมีราคาสูงไปสักนิด แต่คุ้มถ้าหากได้กินของแท้
“คนทั่วไปรู้จักไก่เบตงเยอะ แต่มีน้อยมากที่ได้กินไก่เบตงของแท้ ที่เราเห็นตามที่กรุงเทพฯ จะเป็นข้าวมันไก่สูตรเบตงมากกว่า แต่ตัวเนื้อไก่ไม่ใช่ ผมบอกเลยว่าไก่เบตงอย่างต่ำตัวหนึ่ง 700 บาท คุณไปซื้อไก่ต้มตัวละ 400 มันไม่ใช่ ถ้าเป็นไก่เบตงต้องตัวเป็นพันขึ้นไป” โกช้าง กล่าว
สำหรับข้าวมันไก่เบตง ที่ร้านโกช้าง ขายจานละ 60 บาท ถือว่าถูก เพราะเราผลิตเองและขายในเบตง แต่สาขาที่ชลบุรี จะขายจานละ 100 บาท ถามว่าแพงไหม ถ้าอยากกินของแท้ไม่แพงเลย แพงเพราะมีน้อย ในพื้นที่แทบไม่พอขาย ลูกค้าหลายท่านติดใจกันเยอะ ถ้าคิดเป็นตัวอาจมีราคาแพง แต่ถ้ามา 6-7 คน สามารถกินได้สบาย ถือว่าคุ้ม กินได้หลายคน
ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่ ที่สนใจเลี้ยงไก่เบตง เป็นอาชีพเสริม
คนไทยคุ้นกับไก่มานาน ทุกคนมีความรู้เรื่องไก่กันพอสมควร เพียงหมั่นศึกษาเพิ่มก็ได้แล้ว ไก่เบตงเลี้ยงที่จังหวัดอื่นก็ได้ แต่ต้องศึกษาวิธีการเลี้ยง เข้าใจว่าเลี้ยงอย่างไร ต้นแบบเลี้ยงเป็นอย่างไร สายพันธุ์ดีไปที่ไหนก็ดีหมด แต่ถ้าสนใจจริงๆ ไก่เบตงเลี้ยงไม่ยากเลย แถมอนาคตของไก่เบตงกำลังสดใส เพราะตอนนี้รัฐบาลกำลังให้ความสนใจ มีการทำโครงการ แปรรูป ต่อไปอาจจะมีขายตามร้านสะดวกซื้อ แต่ตอนนี้ยังผลิตไก่ไม่ทันการแปรรูป เพราะสินค้าไม่พอจำหน่าย