วว.ต้อนรับคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลแสนสุข ในโอกาสเยี่ยมชมอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว จังหวัดสระบุรี พร้อมหารือความร่วมมือการดำเนินโครงการนวัตอัตลักษณ์ เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะชุมชน อย่างยั่งยืน

นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร. เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศนพ. ร่วมต้อนรับ นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ในโอกาสเยี่ยมชมศึกษาดูงานเทคโนโลยีของ วว. ภายในอาคารคัดแยกขยะชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตำบลตาลเดี่ยว จังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบคัดแยกขยะพร้อมระบบดับกลิ่นขยะ ระบบล้างถุงพลาสติก ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติก โดยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติก ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และระบบผลิตก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีการหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการนวัตอัตลักษณ์ในพื้นที่ตำบลแสนสุขด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนอย่างยั่งยืน (วันที่ 10 มี.ค. 2563)

อนึ่ง วว. ร่วมกับ อบต.ตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยขับเคลื่อนโครงการใน 2 ด้าน ได้แก่ การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่ชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติที่รองรับการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อแปรรูปขยะโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการจัดการขยะภายในอาคารคัดแยกขยะ ประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยีในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ พร้อมระบบดับกลิ่นขยะด้วยโอโซนและสารดูดซับ
  2. เทคโนโลยีในการคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบNIR และVision
  3. เทคโนโลยีการบำบัดน้ำชะขยะด้วยการผลิตก๊าซชีวภาพ
  4. เทคโนโลยีการทำความสะอาดก๊าซชีวภาพ ผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง เพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อน
  5. เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (Refuse Derived Fuel, d-RDF)
  6. เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และสารปรับปรุงดิน