สวพ.6 จันทบุรี ผนึกกำลังเครือข่าย เร่งทำ GAP GMP ต้องทันฤดูกาลผลไม้ ปี 2563

ตลาดผลไม้หลักของไทยที่ส่งไปตลาดจีนมีปริมาณมากถึง 80% ของผลผลิต ไทย-จีน แต่มีข้อตกลงปฏิบัติร่วมกัน ตั้งแต่ ปี 2544 ในการส่งผลไม้ 5 ชนิด คือ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด คือ สวนเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) และโรงคัดบรรจุผู้ส่งออกต้องผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อให้ผลผลิตของไทยได้มาตรฐานสากล ซึ่งเพิ่งมีการตื่นตัวเมื่อปี 2561 และปี 2562 เพิ่มระเบียบใหม่ ให้ผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศุลกากรจีน DOA (Department Of Agriculture :DOA) ทำให้มีการตื่นตัวกันมากขึ้น

เกษตรกรช่วยทำผ้าป่า GAP GMP

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ได้พยายามเร่งรัดตรวจและรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เป็นต้นมา แต่จำนวนผู้ขอ GAP มีจำนวนมากกว่า 30,000 แปลง และโรงคัดบรรจุ 600 แห่ง เป้าหมายต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อให้ทันฤดูกาลลำไย ทุเรียน มังคุด ที่ทำรายได้ปีละกว่าแสนล้านบาท

เร่งสวนทำ GAP-ล้งทำ GMP ค้ากับจีน

คุณชลธี กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากในภาคตะวันออกและภาคใต้ มูลค่าส่งออกปี 2561 จำนวน 1,473,000 ตัน มูลค่าสูงถึง 71,389 ล้านบาท การส่งออกต้องปฏิบัติตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกไปจีน” ปี 2544 กำหนดให้ผลไม้สด 5 ชนิด คือ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด ต้องมีมาตรฐาน GAP โรงคัดบรรจุต้องมี GMP และขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศุลกากรจีน DOA ภารกิจของ สวพ.6 คือ ทำให้ผลไม้ที่ส่งออกมีมาตรฐาน GAP/GMP เนื่องจากที่ผ่านมาตรวจพบทุเรียนอ่อนและเพลี้ยแป้ง นับ 1,000 ครั้ง และมีการแจ้งเตือนกลับมา จีนเข้มงวดนำเข้าอย่างชัดเจนปี 2561-2562 คาดว่าปี 2563 จะเข้มงวดมากขึ้น

ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์ ทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

หากไม่ปฏิบัติตามพิธีสารอาจจะถูกระงับการนำเข้า ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน สวพ.6 ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกให้เกษตรกรและผู้ส่งออกใน 7 จังหวัด จัดทำ GAP และ GMP โดยไม่มีการสวมสิทธิ์ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียน มังคุด ลำไย ผลไม้หลักที่ทำรายได้ปีละเกือบแสนล้านบาท

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบเกียรติบัตรโรงคัดบรรจุดีมาก

“เมื่อเดือนเมษายน 2562 จีนกำหนดให้โรงคัดบรรจุมังคุดที่ส่งออกต้องมี GMP และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงศุลกากรจีน ทำให้มีโรงคัดบรรจุที่อยู่ในระหว่างการขอใบรับรอง GMP และรอการขึ้นทะเบียน ส่งออกไม่ได้ต้องระงับการรับซื้อชั่วคราว ส่งผลราคามังคุดภาคใต้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 30-35 บาท ลองนึกภาพ หากจีนหยุดรับซื้อทุเรียน 1 เดือนอะไรจะเกิดขึ้น ปีนี้เราต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกอีก 2 เดือน คือ กุมภาพันธ์ มีนาคม 2563 เร่งดำเนินการตรวจและรับรองมาตรฐาน ทุเรียน มังคุด ให้ทันจะไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาการส่งออก ส่วนลำไยเร่งดำเนินการได้ 100% แล้ว เพราะฤดูกาลลำไยถึงก่อน” คุณชลธี กล่าว

คุณภานุวัชร์ ไหมแก้ว

ระดมเครือข่ายทำ Fast Track

หน่วยงานรัฐ เอกชน อปท.หนุน

การตรวจและออกใบรับรองปีนี้ สวพ.6 มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร ปี 2563 ถูกตัดไป 50% จาก 1,200 ล้านบาท เหลือจำนวน 638 ล้านบาท ปกติการตรวจและออกไปรับรองประมาณการค่าใช้จ่าย 500 บาท ต่อแปลง ข้อมูลต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีสวนอยู่ระหว่างรอการตรวจ GAP ทุเรียน มังคุด ลำไย จำนวนกว่า 20,000 แปลง แล้วยังมีพืขอื่นๆ อีกรวมๆ 4,000 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุ ทุเรียน มังคุด เหลือ 107 แห่ง เพราะมีผู้ยื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนของนโยบายรัฐที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ได้เสนอคณะกรรมาธิการเกษตร ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหาทางจัดการงบประมาณทดแทน แต่เกรงว่าจะล่าช้า เพราะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์

กลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย คือการสร้างพันธมิตรดึงสหกรณ์การเกษตรมาเป็นเครือข่ายมี จันทบุรี 10 แห่ง ตราด 6 แห่ง ร่วมมือช่วยกันดูแลสมาชิกให้ได้ใบรับรอง GAP มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยพัฒนา GAP เช่น สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี สถาบันทุเรียนไทย (Thai GAP) หอการค้าจังหวัดจันทบุรี หอการค้าจังหวัดตราด บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด (Bay G.A.P) บริษัท เรนคอทตอน จำกัด (RAIN GAP) ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

คุณชลธี นุ่มหนู

ซึ่งต้องผ่านการรับรอง สวพ.6 และล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้สนับสนุนงบประมาณว่าจ้างนักศึกษาที่วิชาเอาด้านเกษตรกรรมมาช่วยตรวจแปลง 500 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน 549 แห่ง มีมาแจ้งจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 600-700 แห่ง จะทยอยตรวจ คาดว่าจะตรวจได้หมด

“ทีมของงานของ ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้งบจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ช่วยอบรมให้ความรู้การทำ GAP GMP ทั้งเกษตรกร ผู้ทำโรงคัดบรรจุและนักศึกษาผู้ช่วยผู้ตรวจแปลง เพื่อให้มีความพร้อมก่อน สวพ.6 ตรวจและออกใบรับรองทั้ง GAP GMP นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกร องค์กรต่างๆ ร่วมมือกันจัดทำ “ผ้าป่า จีเอพี (GAP) และ จีเอ็มพี (GMP)” ระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายตรวจและประเมิน เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรไทย กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรต้องช่วยกันเอง ล่าสุด คุณจุลินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จันทบุรีรับทราบปัญหาช่วยประสานหางบประมาณมาช่วยอย่างเร่งด่วน ถ้าได้งบประมาณ จำนวน 5 ล้านบาท GAP ที่ค้างอยู่ 30,000 แปลง และที่ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 20,000 แปลงจะได้รับการตรวจประเมินเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2563 ก่อนถึงฤดูกาลผลไม้แน่นอน” คุณชลธี กล่าว

ผู้ผ่านการอบรม GMP

คุณภานุวัชน์ ไหมแก้ว นายสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด เล่าว่า สมาคมได้ให้ความร่วมมือกับ สวพ.6 โดยการซื้อทุเรียน มังคุดจากสวนที่มี GAP และรณรงค์ให้สมาชิกของสมาคมที่มีประมาณ 400 ราย ได้เข้าสู่ระบบ GMP เมื่อเดือนมกราคมนี้ทำข้อตกลงกับ สวพ.6 โรงคัดบรรจุของสมาชิกสมาคมหลายแห่งได้รับเกียรติบัตรยกย่องเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดี และได้ร่วมจัดหาทุน “จัดผ้าป่า จีเอพี (GAP) จีเอ็มพี (GMP)” ตอนนี้สมาคมบริจาค 300,000 บาท และล่าสุดต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้จัดทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยบูรพา “ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพมาตรฐานผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด” เพราะอนาคตคู่แข่งผลไม้ไทยจากเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะตลาดทุเรียน มังคุด ลำไย อย่างไรต้องไปจีน เราต้องเตรียมพร้อม GAP GMP และในภาวะที่ยังไม่สามารถหาตลาดใหม่ทดแทนได้ การทำมาตรฐานสากลคือสิ่งสำคัญที่สุด

วิทยากร สวพ.6 ชี้แจงตรวจ GMP

ประธานหอการค้าจังหวัดตราด

ให้กลุ่มสหกรณ์ดูแลกันเอง

ทางด้าน คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและการส่งออกจังหวัดตราด จำกัด และประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ได้แสวงหาแนวร่วมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดตราด เพื่อปั้น “โมเดลสหกรณ์การเกษตร” 6 แห่ง คือสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและการส่งออกจังหวัดตราด จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจการเกษตรจังหวัดตราด สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ สหกรณ์การเกษตรแหลมงอบ และสหกรณ์การเกษตรเมืองตราด ทำข้อตกลงสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) เพื่อร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพผลไม้ ให้สมาชิกให้ได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุได้รับรองมาตรฐาน GMP

“สหกรณ์การเกษตรทั้ง 6 แห่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมกับ สวพ.6 เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้บริการสมาชิกที่ขอใบรับรอง GAP และ GMP เกษตรกรรายย่อยควรรวมตัวเป็นกลุ่ม เพื่อขอรับการประเมินเพราะเป็นการสุ่มตรวจเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ถ้าผ่านจะผ่านทั้งหมด ปัญหาจุดแรกคือเกษตรกรต้องตื่นตัว ไม่ใช่คิดว่ามีหรือไม่มี GAP ล้งก็ซื้อ ต่อไประบบการเหมาสวนจะสวมสิทธิ์กันไม่ได้ และภายหลังได้ใบรับรองแล้วสมาชิกควรดูแลกันเองตลอดระยะเวลา 3 ปี” คุณวุฒิพงศ์ กล่าว

ปี 2563 จีนเข้มต้องมี GAP/GMP

สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยบูรพา

คุณชลธี กล่าวว่า มาตรฐาน GAP/GMP เป็นการค้าระดับสากล ทำ GAP แล้วไม่ใช่ขายได้ราคาแพงกว่าตามความเข้าใจของเกษตรกร และทุกรายที่ยื่นขอจะได้ทั้งหมด ต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐาน GAP ตลอดอายุใบรับรอง 3 ปี ถ้าวันหนึ่งเจ้าหน้าที่จีนมาสุ่มตรวจ สวนใดไม่ได้มาตรฐานจะระงับการนำเข้าเหมือนชมพู่ทับทิมจันท์ กว่าจะส่งออกได้ใช้เวลาถึง 5 ปี จึงไม่ต้องการให้เกิดกับทุเรียน มังคุด หรือลำไย นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขอใบรับรอง GAP ถ้าไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงและอัพเดท จะมีผลต่อการบริหารจัดการทางการตลาดจีน จีนตั้งโควต้ารับซื้อคำนวณจากจำนวนใบรับรอง GAP กับพื้นที่ผลิตและผลผลิต พื้นที่สวนที่มี GAP กับล้งที่มี GMP ต้องสมดุลกัน

ข้อมูลสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดปี 2562 จีนคำนวณโควต้าการรับซื้อทุเรียนที่มี GAP 30,000 ตู้ แต่มีทุเรียนที่ยังไม่ได้ทำ GAP ออกมาในตลาดร่วม 40,000-50,000 ตู้ เป็นปัญหาการตลาด แม้แต่สวนขนาดใหญ่อย่างลำไยพื้นที่เป็น 100 ไร่ เพิ่งมาขึ้นทะเบียน ยื่นขอ GAP จากพื้นที่ปลูกลำไยที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ 190,000 ไร่ เมื่อออกใบรับรอง GAP มีพื้นที่ 200,000 กว่าไร่ ทุเรียน มังคุด เช่นเดียวกัน ทำให้ฐานข้อมูลวางแผนการตลาดไม่สอดคล้องกับความจริง

“ความเปลี่ยนแปลงผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนต้องยอมรับว่า GAP และ GMP ไม่มีไม่ได้แล้ว…ใครไปไม่ทันต้องทิ้งไว้ข้างหลัง อาจจะต้องขายตลาดภายในประเทศ ตลาดเพื่อนบ้าน อย่าลืมว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็นแสนต้นทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เป็นคู่แข่งทุเรียนไทยอีกด้วย” คุณชลธี กล่าว