สศก. ดัน กล้วยหอมทองคุณภาพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งออกต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้า ขยายพื้นที่กว่า 500 ไร่ ต่อปี

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กล้วยหอมทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และตลาดต่างประเทศ มีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยหอมทอง และร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร (สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้แทนเกษตรกร) ในการจัดทำแผนการส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว

ปัจจุบันการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 3,041 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอพนม มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 16,900 บาท ต่อไร่ (เริ่มให้ผลผลิตในเดือนที่ 8-10 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 ปี) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,600 กิโลกรัม ต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 28,100 บาท ต่อไร่ (ณ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 12.50 บาท ต่อกิโลกรัม) ด้านการจำหน่ายผลผลิต สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด เป็นผู้รวบรวมผลผลิต แล้วส่งผ่านบริษัท แพนแปซิฟิค ฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 1,500 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ส่วนการส่งขายในประเทศห้างหุ้นส่วนจำกัด แก้วมีณา (2015) เป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชแซม เมื่อพืชหลักเติบโตอย่างเต็มที่จึงต้องเลิกปลูกกล้วยหอมทอง ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน อีกทั้งบางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ และประสบภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย และวาตภัย ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ เกษตรกรที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ต้องให้ความสำคัญในการบันทึกข้อมูลและผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับของประเทศญี่ปุ่น

นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล

ด้าน นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า แนวทางส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ต้องดำเนินการ มีดังนี้ 1. จัดหาพันธุ์ดี ตรงกับความต้องการของตลาด 2. ประชาสัมพันธ์ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกร รวมถึงติดตามและประเมินผล 3. ส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่เหมาะสมและมีศักยภาพ โดยขยายพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด อีกประมาณ 561 ไร่ ต่อปี และสนับสนุนให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชหลัก 4. สนับสนุนการตรวจรับรองแปลง GAP และตามมาตรฐานข้อกำหนดของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสหกรณ์และผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอบรมการวางแผนและควบคุมคุณภาพการผลิต และ 5. ใช้หลักการตลาดนำการผลิต จับคู่ตลาดกับเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร มุ่งเน้นให้มีตลาดรองรับผลผลิต และส่งเสริมการทำ Contract Farming รวมถึงการหาตลาดภายในประเทศเพิ่มเติมเพื่อขยายการผลิตในอนาคต……………

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มราคาขาย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นโอกาสดีของเกษตรกร และสามารถใช้เป็นโมเดลการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการผลิตกล้วยหอมทอง สามารถสอบถามได้ที่ สศท.8 โทร. (077) 311-641 Email: [email protected]