“ฉัตรชัย” สั่งทบทวนขายยาง กยท.พร้อมเทภายในมี.ค.

กยท.ลั่นเดินหน้าขายยางต่อหลังราคาร่วงจนต้องเบรกประมูลลอตสุดท้าย 1.2 แสนตันกลางเดือน มี.ค.นี้ออกไป ด้าน “ฉัตรชัย-จินตนา” กำชับเข้มหวั่นผู้ไม่หวังดีกดราคา ให้ทบทวนช่วงเวลาขายยางลอตสุดท้ายใหม่

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ กยท.ทบทวนการระบายยางในสต๊อกรัฐบาลที่เหลืออยู่ประมาณ 1 แสนตัน จากยางสต๊อกรัฐที่มีทั้งหมดประมาณ 3.1 แสนตัน เพราะเห็นว่าราคายางแกว่งตัวในทิศทางที่ลดลงกับราคาตลาดโลก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการปรับตัวลดลงของราคายางไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เห็นได้จากตลาดจีนมีการแกว่งตัวลดลงประมาณวันละ 2-3 บาท/กก. จึงน่าจะเป็นการปรับฐานเพื่อรอการดีดกลับรับช่วงฤดูปิดกรีดที่ยางจะไม่ค่อยออกสู่ตลาดแล้ว

“สต๊อกยางภาครัฐขณะนี้เหลือประมาณ 1 แสนตัน และขายไปแล้ว 2 แสนตัน ขายได้ลอตแรกราคา 69 บาทต่อ กก.ขายลอต 2 ได้ราคาประมาณ 72-73 บาท/กก. รวมประมาณ 14,000 ล้านบาท มีบางส่วนโอนเข้าใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะตามระเบียบการบริหารสต๊อกรัฐบาล หากมีการขายยางได้จะต้องคืนเงินแก่เจ้าหนี้ภายใน 7 วันหลังจากมีการส่งมอบยางและจ่ายเงินแล้ว ดังนั้นยางที่เหลือ คาดว่าวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค.นี้จะนำเรื่องการประมูลยางที่เหลือในสต๊อกรัฐบาลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสต๊อก และขายทันทีเพื่อให้ทุกขั้นตอนจบไม่เกิน เม.ย.นี้ เพราะช่วงนี้ราคายางขยับขึ้นมาแล้ว พล.อ.ฉัตรชัยไม่ได้เบรกให้ระบายยางในสต๊อก แต่ให้ไปตรวจสอบการเคลื่อนไหวของราคาว่ามีความผิดปกติหรือไม่เท่านั้น”

ขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ล่าสุด ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัยได้สอบถามถึงสถานการณ์ยางพารา ซึ่งนายธีธัชชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการระบายยางที่เหลือและเตรียมระบายลอตสุดท้ายในเดือน มี.ค.นี้ หากระบายยางในสต๊อกหมดก็จะสามารถปิดบัญชีโครงการรัฐและส่งมอบเงินคืน ธ.ก.ส.ได้หมด

ทั้งนี้ในระหว่างการชี้แจงรายละเอียดและความคืบหน้าของการระบายสต๊อกยางพารานั้น นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ได้ให้ข้อมูลว่าได้รับสัญญาณมาจากผู้ส่งออกยางไทย

ว่า เมื่อไทยจะขายยาง 1 แสนตัน ผู้นำเข้ายางพาราในตลาดโลก ได้พยายามกดราคารับซื้อยางพาราจากประเทศผู้ส่งออกให้ต่ำลง ดังนั้น หากสามารถรอดูสถานการณ์ตลาดยางพาราของโลกโดยชะลอการขายยางพาราไทยออกไปประมาณ 2 เดือน น่าจะทำให้สถานการณ์ราคายางพาราดีขึ้นกว่าการรีบขายในเดือนหน้า เช่นเดียวกับ รมว.เกษตรฯ เองก็ระบุว่าได้รับสัญญาณเช่นเดียวกันนี้จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประชารัฐ ดังนั้น จึงสั่งกำชับให้ กยท.พิจารณาทบทวนช่วงเวลาการขายยางพาราให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคายางในตลาดโลก

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์