‘ชุติมา’ ดัน อสป. เป็นฮับทูน่า ยกระดับท่าเรือ หวังแก้ ไอยูยู

“ชุติมา” ดัน อสป. เป็นฮับทูน่า ใช้โมเดลตลาดปลาญี่ปุ่น หวังช่วยแก้ปัญหาไอยูยู หลังอียูส่งหนังสือให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งปรับปรุง อสป.

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ตนได้เตรียมเสนอ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับแผนยกระดับองค์การสะพานปลา (อสป.) เพื่อจะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการของบประมาณการปรับปรุง หลังแผนพัฒนา อสป. แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่ง อสป. ท่าเรือ จำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ โดยจะยกระดับตลาดสะพานปลากลางเมือง (Fish Market) ที่มีรูปแบบเหมือนตลาดปลา ประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ จะเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือประมงของจังหวัดภูเก็ต ให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางนำเข้า-ส่งออกทูน่า (Hub Tuna) ของอาเซียน เนื่องจากประเทศในอาเซียนมองว่าไทยมีศักยภาพมากที่สุด และมีการนำเข้า-ส่งออกปลาทูน่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

“ไทยถือว่ามีความเข้มแข็งเรื่องอุตสาหกรรมประมง โดยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมง อันดับ 1 ของโลก อาทิ การเป็นผู้นำส่งออกทูน่าอันดับ 1 ของโลก มีสินค้าประมงสำหรับส่งออกมากกว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาท่าเรือและเชื่อมสัมพันธ์กับอาเซียน ยกระดับท่าเรือขององค์การสะพานปลาให้เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยว ใช้โมเดลเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งองค์การสะพานปลาเป็นกลไกสำคัญของห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมง และเป็นกลไกในการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ซึ่งสหภาพยุโรปได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป และสำนักเกษตรต่างประเทศได้ส่งหนังสือให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งปรับปรุง อสป. ตั้งแต่ปี 2552 เรื่อยมา”

นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า องค์การสะพานปลาเป็นกลไกสำคัญที่สุดของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงเมื่อปลาขึ้นจากเรือประมง โดยขณะนี้ระบบของสหภาพยุโรป หรือ อียู บังคับให้เรือประมงทุกลำต้องมีการตวจสอบสัตว์น้ำหน้าท่าจำแนกชนิดสัตว์ต่างๆ เพื่อให้เข้าสู่ระบบค้าขาย ตลอดจนการจดบันทึกข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบไอที เพื่อบูรณาการข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) เพื่อให้ตอบสนองต่อระบบสากลได้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที

อย่างไรก็ตาม อสป. ได้ร่วมกับกรมประมงและศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับ โดยนำร่องที่ท่าเทียบเรือจังหวัดสงขลา และขยายผลไปสู่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระนอง ตามลำดับ โดยหวังว่าอียูจะเห็นว่าไทยได้พยายามยกระดับสู่มาตรฐานสากล เน้นความสะอาด รวดเร็ว ถูกต้อง ในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำให้กับผู้ส่งออก เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ การนำระบบไอทีมาใช้ จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้แล้ว ยังสามารถเก็บข้อมูลสัตว์น้ำขึ้นท่า เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณผลจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการบริหารจัดการการทำประมงให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ นับเป็นหลักสำคัญในการทำประมงยุคใหม่

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ